กรมทรัพย์สินทางปัญญาตอกย้ำจุดยืน ระบุเดินหน้าปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังต่อเนื่อง และเป็นระบบ ยืนยันให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามพันธกรณีความตกลง TRIPs มาโดยตลอด ชี้สหรัฐกล่าวหาไทยเกินเลยกว่าพันธกรณีระหว่างประเทศ เตรียมส่งข้อมูลการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเดือนที่ผ่านมาให้ USTR ประกอบการพิจารณาจัดอันดับประเทศไทย
กรมทรัพย์สินทางปัญญา – นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า จากการที่ USTR ได้เสนอรายงาน NTE ประจำปี 2551 ต่อรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยขึ้นมา และจะนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลในการจัดอันดับประเทศคู่ค้าที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ ตามกฎหมายการค้าสหรัฐมาตรา 301 พิเศษ ซึ่งจะประกาศผลในช่วงปลายเดือนเมษายน ศกนี้นั้น ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาขอยืนยันว่า ประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามพันธกรณีความตกลง TRIPs อยู่แล้ว ข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาเรื่องที่ว่าประเทศไทยไม่ให้การคุ้มครองข้อมูลทดลองยา และการเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยาอันทำให้ไม่เป็นผลต่อการคุ้มครองอุตสาหกรรมยาของสหรัฐอเมริกานั้น ถือเป็นเรื่องของการขอความคุ้มครองมากกว่ามาตรฐานของ WTO ซึ่งจริงๆแล้วสหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันเรื่องนี้ในหลายๆเวทีแต่ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จ จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องประเทศไทยนั้นเกินเลยกว่าพันธกรณีระหว่างประเทศ
“กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง และเฉียบขาด โดยได้มีการประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ และกรมศุลกากรเพื่อตั้งคณะทำงานระดับชาติมาทำหน้าที่ปราบปรามสินค้าละเมิดอย่างเป็นรูปธรรม และเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทางกรม ฯ จะจัดส่งสรุปข้อมูลการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเดือนที่ผ่านมาส่งให้กับ USTR เพื่อประกอบการพิจารณาจัดอันดับประเทศไทยตามมาตรา 301 ซึ่งจะมีการประกาศผลในวันที่ 30 เมษายน ศกนี้ ” นางพวงรัตน์กล่าว
นางพวงรัตน์กล่าวถึงประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในห้างสรรพสินค้าว่าที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการลงนามความตกลง (MOU) กับ ห้างสรรพสินค้าจำนวน 10 แห่ง โดยมีสาระสำคัญคือถ้าตำรวจจับได้ว่าผู้ขายสินค้าในห้างสรรพสินค้านั้นๆขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้นทางตำรวจจะแจ้งให้เจ้าของห้างสรรพสินค้านั้นๆรับทราบ และถ้ายังฝ่าฝืนอยู่ และจับได้เป็นครั้งที่สอง ห้างต้องยกเลิกสัญญาเช่ากับร้านค้านั้นๆทันที ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากห้างสรรพสินค้า ส่วนเรื่อง
การละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือนั้นในประเทศไทยได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องและจะร่วมมือกับ DSI กรมศุลกากร
ในการสืบหาแหล่งผลิตเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปหากมีการละเมิดจริง
อนึ่งประเด็นที่ทางสหรัฐอเมริกาต้องการจากประเทศไทยมี 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.) แม้ว่าไทยจะกำลังเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) แต่ไทยไม่มีการคุ้มครองข้อมูลการทดลองยา และไม่มีการเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรยากับข้อมูลการทดลองยา ทำให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับยาสามัญโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในขณะที่ยาต้นแบบยังอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร และการตรวจสอบสิทธิบัตรของไทยใช้ระยะเวลานาน 2.) ประเทศไทยมีสิทธิทำซีแอลได้แต่กระบวนการขาดความโปร่งใส และไทยควรตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อการพัฒนายาชนิดใหม่ด้วย 3.) ไทยมีการละเมิดหนังสือในปริมาณมากทำให้เอกชนสหรัฐ ฯ สูญเสียรายได้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา 4.) กฎหมายควบคุมการผลิตซีดีของไทยไม่ให้อำนาจการควบคุมที่เพียงพอ อีกทั้งบทลงโทษไม่รุนแรง 5.) ในการพิจารณาคดีของศาลไทยเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่รุนแรง ไม่ทำให้ผู้กระทำผิดหลาบจำ อีกทั้งยังมีความยากลำบากในการขอออกหมายค้น และเกิดปัญหาของกลางในคดีหายอีกด้วย และ 6.) สหรัฐฯเห็นว่าประเทศไทยควรแก้ไขปัญหาการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในห้างสรรพสินค้า นอกเหนือจากการบังคับใช้ MOU ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าของห้างสรรพสินค้าอย่างเข้มงวด ซึ่ง USTR เห็นว่าไทยควรกำหนดให้เจ้าของห้างสรรพสินค้าต้องรับผิดในกรณีที่มีการขายของละเมิดภายในห้างด้วย