เงินในภูมิภาคแข็งค่ารับมือภาวะเงินเฟ้อ…เงินบาทอาจดำเนินรอยตาม

ในขณะนี้ เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียหลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี โดยได้รับแรงหนุนสำคัญมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกโดยเฉพาะน้ำมันและอาหาร และเป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางการทะยานขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้น ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียหลายสกุลกำลังถูกปล่อยให้ปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อดังกล่าว โดยล่าสุดเงินหยวนทะยานแข็งค่าผ่านระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์ฯ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 14 ปี ในขณะที่เงินดอลลาร์สิงคโปร์ปรับตัวอย่างแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีน และสิงคโปร์ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาที่คล้ายกันคือ มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเกินคาด แม้ว่าประมาณการแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะถูกปรับทบทวนลงก็ตาม การแข็งค่าในอัตราที่มากขึ้นของค่าเงินทั้ง 2 สกุลดังกล่าว อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อกำลังเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และผู้กำหนดนโยบายกำลังใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้าจัดการกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมประเด็นแวดล้อมในเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้

การทะยานขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์
 อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์…ทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 26 ปี

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 อยู่ที่ระดับ 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยขยับลงเพียงเล็กน้อยจากระดับสูงสุดในรอบเกือบ 26 ปีที่ 6.6% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ได้รับหนุนจากความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศ และการทะยานขึ้นของราคาสินค้านำเข้า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสิงคโปร์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ก่อนจะทยอยผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี

 เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
ข้อมูลล่าสุดสะท้อนว่า ท่ามกลางความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 1/2551ยังคงสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในอัตราสูงถึง 16.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี เทียบกับในไตรมาส 4/2550 ที่เศรษฐกิจหดตัวลง 4.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของสิงคโปร์ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ทำการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปีนี้ลงสู่กรอบประมาณ 4-6% จากกรอบ 4.5-6.5% ที่ประเมินไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเศรษฐกิจปี 2551 ของสิงคโปร์มีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อยหลังจากที่ขยายตัวสูงถึง 7.7% ในปี 2550

เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าสุดเป็นประวัติการณ์
ในวันที่ 10 เมษายน 2551 เงินดอลลาร์สิงคโปร์ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 1.5% (ภายใน 1 วันทำการ) ซึ่งนับเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นรายวันที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สิงคโปร์ยังทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ (ในระหว่างวัน) ที่ระดับ 1.3555 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์สิงคโปร์ได้รับแรงหนุน ภายหลังจากธนาคารกลางสิงคโปร์สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินด้วยการคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 26 ปี ดังที่กล่าวข้างต้น โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ระบุในแถลงการณ์นโยบายการเงินรอบครึ่งปีว่า ท่ามกลางแรงกดดันในช่วงขาขึ้นที่มีต่อต้นทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ การปรับกรอบนโยบายค่าเงินให้แข็งค่าขึ้น อาจช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อให้อ่อนตัวลงในอนาคต และสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ประกาศปรับจุดศูนย์กลางใหม่ให้กับกรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์สิงคโปร์ โดยไม่ได้ทำการปรับเปลี่ยนความลาดชันหรือความกว้างของกรอบนโยบาย การปรับจุดศูนย์กลางของกรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เปรียบเสมือนว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ทำการปรับให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า การปรับการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ในรอบนี้ ได้ทำให้จุดศูนย์กลางของกรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 1-1.5%

ตลาดการเงินยังคงคาดการณ์ว่า แนวโน้มของเงินดอลลาร์สิงคโปร์อาจจะแข็งค่าขึ้นได้อีก แม้ว่าธนาคารกลางสิงคโปร์จะทำการคุมเข้มนโยบายการเงินในครั้งนี้แล้วก็ตาม เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงรออยู่เบื้องหน้า โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ตามการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศ (แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม) ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการคลังแบบขยายตัว และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งนี้ รายงานข่าวรอยเตอร์ซึ่งทำการรวบรวมตัวเลขคาดการณ์ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ของวาณิชธนกิจชั้นนำหลายแห่งหลังการคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ในวันที่ 10 เมษายน 2551 สะท้อนให้เห็นว่า เงินดอลลาร์สิงคโปร์ถูกคาดว่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นสู่กรอบประมาณ 1.3000-1.3500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2551 อนึ่ง เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นแล้ว 6.2% ในปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2551) เป็นอันดับ 3 ในเอเชียรองจาก เงินดอลลาร์ไต้หวัน (+7.0%) และเงินบาท (+6.8%)

อัตราเงินเฟ้อ และ ค่าเงินหยวนทะยานขึ้นเช่นกัน
 อัตราเงินเฟ้อจีน…สูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี

สถานการณ์ล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 พุ่งขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงฤดูหนาว และจากเทศกาลตรุษจีน

เงินหยวนแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 14 ปี
ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน 2550 ธนาคารกลางจีนได้ออกมาระบุอย่างชัดเจนถึง ความพยายามในการคุมเข้มสภาพคล่องผ่านเครื่องมือทางการเงิน ตลอดจนการควบคุมสินเชื่อและปริมาณเงินเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และเพื่อสยบการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การทะยานขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกโดยเฉพาะราคาน้ำมันและธัญญพืช เนื่องจากความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ และปัญหาการขาดแคลนและการจำกัดปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามและอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของจีนเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การแข็งค่าของเงินหยวนกลายเป็นเครื่องมือคุมเข้มทางการเงินที่เด่นชัดมากที่สุด ดังจะเห็นได้จาก เงินหยวนใช้เวลาเพียงไม่ถึง 6 เดือนในการแข็งค่าทะลุระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 7.00 หลังจากที่ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งในการแข็งค่าจากระดับ 8.00 สู่ระดับ 7.50 หยวนต่อดอลลาร์ฯ อนึ่ง เงินหยวนแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 4.4% ในปีนี้ โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนยอมปล่อยเงินหยวนให้แข็งค่ามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนของสินค้านำเข้า โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นอาหาร และเพื่อสร้างความสมดุลให้กับดุลต่างประเทศ ซึ่งการแข็งค่าของเงินหยวนนั้นเองก็มีความสอดคล้องกับกระแสการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากวิกฤตซับไพร์มอีกด้วย

ก่อนที่การซื้อขายในช่วงเช้าของวันที่ 10 เมษายน 2551 จะเริ่มขึ้น ธนาคารกลางจีนได้ทำการประกาศอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนรายวันไว้ที่ระดับ 6.9920 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันก่อนหน้าที่ 7.0017 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งการกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนที่ระดับดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุนตีความว่า ธนาคารกลางจีนกำลังส่งสัญญาณให้กับตลาดว่าเงินหยวนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้กับแรงกดดันเงินเฟ้อที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเงินหยวนผ่านระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์ฯ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 14 ปี ขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ระดับ 6.9907 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินหยวนได้แข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 14% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่จีนได้ทำการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบที่ผูกค่าเงินหยวนติดกับเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2539 มาเป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 และหากเทียบค่าเงินหยวนในระดับปัจจุบันกับระดับก่อนการประกาศการยกเลิกระบบผูกติดค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ฯ แล้วจะพบว่า เงินหยวนปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 18.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ

 การคาดการณ์เงินหยวน…สะท้อนการแข็งค่าในอัตราที่ชะลอลง
นักวิเคราะห์ตีความการแข็งค่าของเงินหยวนในอัตราที่เร่งมากขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ว่าเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางจีนอาจกำลังใช้การแข็งค่าของเงินหยวนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบรรเทาแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ภายหลังจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อรายเดือนพุ่งสูงขึ้นเหนือตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจทำให้ธนาคารกลางจีนมีความลังเลที่ทำการคุมเข้มนโยบายการเงินผ่านทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนได้ระบุในรายงานสรุปการพัฒนาตลาดการเงินของจีนในปี 2550 ว่า ผลกระทบจากการหดตัวของตลาดสินเชื่อโลกอาจยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ วิกฤตซับไพร์มที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออาจถ่วงเศรษฐกิจโลกลงในปี 2551 นี้ และอาจทำให้ดุลการค้าของจีนเกินดุลในระดับที่ลดลง

สัญญาซื้อขายดอลลาร์ฯ/หยวนล่วงหน้าประเภท 1 ปี ตลาดออนชอร์ ปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 6.4217 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งบ่งชี้ถึงการแข็งค่าขึ้น 9.0% ของเงินหยวนในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจากอัตราอ้างอิงเงินหยวนในวันที่ 9 เมษายน 2551 ในขณะที่ สัญญาล่วงหน้าดอลลาร์ฯ/หยวนประเภท 1 ปีที่ไม่มีการส่งมอบ (Non-Deliverable Forwards: NDFs) ตลาดออฟชอร์ ปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 6.2780 หยวนต่อดอลลาร์ฯ โดยระดับของสัญญา NDFs ดังกล่าว บ่งชี้ถึงการแข็งค่าของหยวนประมาณ 11.2% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากอัตราอ้างอิงเงินหยวนที่ประกาศโดยธนาคารกลางในวันที่ 10 เมษายน 2551

กระแสการคาดการณ์ของตลาดดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า เงินหยวนยังคงถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และระดับเงินหยวนในปัจจุบันนั้นยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาการปรับตัวของสัญญาล่วงหน้าดอลลาร์ฯ/หยวนทั้งในตลาดออนชอร์และตลาดออฟชอร์ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ตลาดปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ที่มีต่อการแข็งค่าของเงินหยวน โดยมีมุมมองว่า การแข็งค่าของเงินหยวนในระยะถัดไปจะเป็นไปในอัตราที่ชะลอลงตามแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ขณะที่ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาจเริ่มทยอยปรากฏอย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายดอลลาร์ฯ/หยวนล่วงหน้าประเภท 1 ปี ตลาดออนชอร์ เคยสะท้อนการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนถึง 11.3% ในขณะที่ สัญญา NDFs ประเภท 1 ปี ตลาดออฟชอร์ เคยสะท้อนการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนถึง 13.8% ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 อัตราเงินเฟ้อของไทย และค่าเงินบาท
 อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมสูงกว่าคาด

ภาพรวมของตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2551 ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนมีนาคม เร่งตัวขึ้นอีก 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหารและเครื่องดื่มและหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (เนื้อสุกร และข้าว) และน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวแม้จะชะลอลงจากระดับ 5.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ที่ 5.1% ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2551 อาจปรับตัวอยู่ในกรอบ 4.0-5.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ระดับ 4.8% เทียบกับระดับ 2.3% ในปี 2550

 ค่าเงินบาท…อ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี
ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้นไปเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 (โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม) จะเห็นว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ในกรอบประมาณ 31.00-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทเป็นไปในลักษณะ 2 ทิศทาง โดยแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก และปัจจัยบวก (ต่อค่าเงินบาท) จากความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ถูกหักล้างโดยความต้องการเงินดอลลาร์ฯ ของผู้นำเข้า และแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเป็นการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการปิดงวดบัญชีและส่งเงินกลับของบริษัทญี่ปุ่น มาช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงปลายเดือนมีนาคมอีกด้วย แม้ว่าอัตราการแข็งค่าของเงินบาทจะเริ่มชะลอลงนับตั้งแต่ธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ในช่วงต้นเดือนมีนาคม แต่ในภาพรวมของปี 2551 เงินบาทยังคงปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอีก 6.8% จากระดับ ณ สิ้นปี 2550 โดยได้รับแรงหนุนสำคัญมาจากกระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่ถูกกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว/ถดถอย ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2550

บทสรุป
ปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในขณะนี้ประเทศในเอเชียต่างกำลังเผชิญกับปัญหาแรงกดดันเงินเฟ้อจากการนำเข้า อันเนื่องมาจากการทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ของราคาน้ำมัน ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะอาหาร ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ตลอดจนการปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี ของเงินหยวน ในวันที่ 10 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา ได้กระตุ้นกระแสการคาดการณ์ของตลาดว่า ธนาคารกลางของประเทศในแถบเอเชียอาจกำลังปล่อยให้สกุลเงินในประเทศแข็งค่าขึ้นเพื่อช่วยหักล้างกับการพุ่งขึ้นของราคาสินค้านำเข้าดังกล่าว แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดอย่างชัดเจนว่า การแข็งค่าของค่าเงินจะสามารถบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมไปช่วยชะลอการคาดการณ์เงินเฟ้อได้บ้างบางส่วน

สำหรับประเทศไทย แรงกดดันจากเงินเฟ้อได้ทยอยปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/2551 และอาจยังมีแรงกดดันในช่วงขาขึ้นต่อไปในระยะข้างหน้าเมื่อพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวที่น่าจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อราคาสินค้าอื่นๆ นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตในอัตราที่เร่งกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค อาจทำให้กระบวนการส่งผ่านเงินเฟ้อจากผู้ผลิต (ที่กำลังเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น) ไปสู่ผู้บริโภค ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป และหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันและอาหารในตลาดโลกยังคงทรงตัวในระดับสูง ก็อาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากขึ้นสำหรับทางการไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่ในระยะถัดไปอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.และค่าเงินบาท แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่ใช่เครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาโดยตรงก็ตาม ทั้งนี้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Managed Float ของไทยมีความแตกต่างจากระบบ Managed Float ของจีน เนื่องจากธนาคารกลางจีนนั้นสามารถชี้นำการเคลื่อนไหวของเงินหยวนได้ผ่านการกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนในแต่ละวัน ส่วนระบบอัตราแลกเปลี่ยนของสิงคโปร์นั้นอนุญาตให้ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ปรับตัวในกรอบการเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการ ในขณะที่ระบบ Managed Float ของไทย จะเป็นระบบที่ปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดมากกว่า แม้ว่าธปท.จะเข้าแทรกแซงตลาดในบางช่วงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทก็ตาม

แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่ใช่เครื่องมือหลักในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ แต่ในท้ายที่สุดเงินบาทอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมให้ต้องปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ที่ยังคงย้ำถึงการดูแลเสถียรภาพราคาและเศรษฐกิจโดยรวม ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องในการประชุมช่วงปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ อาจทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้น ซึ่งโดยทฤษฎีความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนั้นถือเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ค่าเงินปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ทิศทางการแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนของค่าเงินหยวนและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ อาจส่งผลทางอ้อมทำให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน