อัญมณีและเครื่องประดับไทยในสหรัฐฯปี’51 : เติบโตในแดนบวกไม่ง่ายนัก….ในภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯทรุด

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯเป็นไปในทิศทางที่ชะลอตัวลง และยังเป็นการเติบโตด้วยอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยอีกต่างหาก ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯที่ลดลงเหลือร้อยละ19.08 ในปี 2550 จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2542 จนถึง ปี 2549 โดยในปี 2550 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 35,320.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.12 ขณะที่โดยภาพรวมแล้วไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดโลกเป็นมูลค่า 185,163.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.39 อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลักของภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องภายในสหรัฐฯ ที่มีผลให้ผู้บริโภคสหรัฐฯมีการชะลอการใช้จ่าย การปรับตัวสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบโลหะมีค่า การพัฒนาศักยภาพของคู่แข่งรายสำคัญอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับเครื่องประดับทองซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของไทยได้ถูกตัดสิทธิจีเอสพีไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยหลายรายได้หันไปเจาะตลาดใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯมากจนเกินไป ซึ่งแม้ว่าในช่วง 2 เดือนแรกปี 2551 ไทยจะส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ก็นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยค่อนข้างมากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 49.97 และมูลค่าการส่งออกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็น่าจะเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าต่อเนื่องจากปี 2550 ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้หากพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯอย่างอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2551 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หรือการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลงค่อนข้างชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ต่ำสุดในรอบ 15 ปี ก็มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะมีแนวโน้มถดถอยอย่างหนักในปี 2551 และน่าจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดสหรัฐฯในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2551 ตามมาในที่สุด

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดสหรัฐฯในปี 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
มูลค่าการส่งออก
คาดว่าจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มทรุดตัวอย่างชัดเจนในปี 2551 โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund : IMF)ได้มีการปรับลดการประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นร้อยละ 0.5 จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ระดับร้อยละ 1.5 อีกทั้งยังขยายตัวน้อยกว่าปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 2.2 จึงมีความเป็นไปได้ว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดสหรัฐฯใน ปี 2551 น่าจะประสบภาวะซบเซาต่อเนื่องจากปี 2550 ในระดับอัตราการเติบโตติดลบร้อยละ 2 ถึงบวกร้อยละ 2 หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 34,500-36,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งในตลาดไม่เกินร้อยละ 3.5 หรือติดอันดับผู้ส่งออกรายสำคัญประมาณลำดับที่ 8-10 ของสหรัฐฯ และการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในสหรัฐฯน่าจะยังคงขึ้นอยู่กับการเติบโตของการส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยเป็นหลักดังเช่นที่ผ่านมา โดยประมาณว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมจากไทยไปสหรัฐฯในปี 2551 น่าจะเป็นมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้(อันประกอบด้วยเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับโลหะมีค่าอื่นๆ) อีกร้อยละ 15 เป็นมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณีอย่างเพชร พลอย และไข่มุก นอกนั้นเป็นเครื่องประดับเทียม อัญมณีสังเคราะห์ และอื่นๆ

สถานภาพของอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดสหรัฐ จากรายงานของ United States International Trade Commission พบว่า ในปี 2550 ที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้ของไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 9 ในตลาดสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.02 แต่หากแยกพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่าพลอยเนื้อแข็งที่เจียระไนแล้วของไทยมีศักยภาพสูงด้วยส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งเหนือคู่แข่งอย่างอินเดีย และโคลัมเบีย ส่วนเครื่องประดับเงินของไทยสามารถครองตำแหน่งผู้นำตลาดอันดับ 2 รองจากจีน ขณะที่เครื่องประดับทองของไทยนั้นก็ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 4 รองจาก 1.อินเดีย 2.จีน และ 3.อิตาลี โดยทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าในปี 2551 ไทยน่าจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ใกล้เคียงปี 2550 โดยมีทั้งพลอยเนื้อแข็งที่เจียระไนแล้ว เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทองเป็นจุดแข็งในการบุกตลาด

ตลาดขนาดใหญ่ที่ไทยยังมีศักยภาพ สำหรับปัจจัยบวกที่ยังพอมีอยู่บ้างในการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดสหรัฐนั้น น่าจะมาจากการที่สหรัฐฯเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 5 ตลาด ซึ่งประกอบด้วย อินเดีย อิตาลี จีน และตะวันออกกลาง ที่ World Gold Council ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ และสินค้าเครื่องประดับของไทยเองไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทองหรือเงินต่างก็ยังเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดนี้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พบว่าปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคหลักสำหรับตลาดเครื่องประดับนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปี มาเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จนถึงวัยทำงาน(อายุ 25-34 ปี)ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาสินค้าเป็นหลัก ที่มักจะซื้อเพื่อเป็นแหวนหมั้นหรือเพื่อเป็นของขวัญเป็นส่วนใหญ่ และกลุ่มผู้สูงอายุ(อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป)ที่พบว่ามีปริมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องประดับต่อครัวเรือนสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่มอายุ เพราะมักจะนิยมซื้อเครื่องประดับแบรนด์เนม ราคาสูงและมีคุณภาพ ดังนั้นการจะขยายตลาดในสหรัฐฯนับจากนี้จึงจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ทั้งในส่วนของรูปแบบสินค้า การกำหนดราคาจำหน่าย และการขยายช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับในสหรัฐฯ

 ปัจจัยที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ จากการที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดที่ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มของไทยนี้โดยรวมในแต่ละปีมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2551 อันเนื่องมาจาก ภาวะวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สหรัฐฯได้รับผลกระทบจากสินเชื่อซับไพร์ม(Subprime Mortgages หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง) นับตั้งแต่ปี 2550 ที่น่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่งพอสมควร ประกอบกับต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาทองคำที่ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไปอีก ตามราคาน้ำมันที่อาจจะทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ย่อมมีผลให้ความต้องการเงินดอลลาร์ลดลง และค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯก็มีแววอ่อนค่าลงได้อีก จึงส่งผลต่อเนื่องให้ทิศทางความต้องการถือครองทองคำก็จะสูงขึ้น และกระตุ้นให้ราคาทองมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไปในปี 2551 ซึ่งการที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มการอ่อนค่า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือค่าเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้นในปี 2551 ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคส่งออกในรูปเงินบาทต่อไป และถ้าค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งก็จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยอาจแข่งขันได้ยากขึ้น เพราะราคาสินค้ากลุ่มนี้ของไทยเสมือนแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่ายังคงทรงตัวในระดับสูงในปี 2551 ที่นอกจากจะมีส่วนกดดันให้ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นจนต้องมีการปรับขึ้นราคาที่อาจจะมีผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้ออัญมณีและเครื่องประดับแล้ว ก็อาจจะมีผลทางจิตวิทยาและอารมณ์ในการซื้อเครื่องประดับสำหรับการแต่งตัวด้วยเช่นกัน

ภาวะการแข่งขันรุนแรง นอกจากนี้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยยังคงต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง และระหว่างผู้ประกอบการไทยกับคู่แข่งในตลาดหลัก ไม่ว่าจะเป็นจีน- อินเดียที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้สินค้าของทั้งสองประเทศถูกกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ ปัจจุบันครื่องประดับทองของอินเดียสามารถถือครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ระดับร้อยละ 28.8 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับทองโดยรวมของสหรัฐในปี 2550 ตามรายงานของ United States International Trade Commission และมีมูลค่าการนำเข้าที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ขณะที่เครื่องประดับเงินของจีนก็ยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งหากจะวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาดของไทยเปรียบเทียบกับคู่แข่งก็จะพบว่าจุดแข็งของไทยคือพลอยสีของไทยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาด มีการผลิตเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองที่มีคุณภาพสวยงาม เนื่องจากแรงงานไทยมีทักษะฝีมือและความชำนาญ รวมถึงมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะจากการเปิดเขตการค้าเสรีโดยเฉพาะกับอินเดีย และออสเตรเลียที่เป็นแหล่งเพชรและทองคำที่สำคัญตามลำดับ ส่วนจุดอ่อนของไทยคือการขาดวัตถุดิบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และต้องนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตเครื่องประดับ และการออกแบบก็ยังต้องตามตลาดไม่ได้เป็นตัวชี้นำตลาดเหมือนเครื่องประดับของอิตาลี อีกทั้งมีการตลาดที่เด่นเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และขาดอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบวงจร ส่วนโอกาสทางธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยคือการยกระดับอุตสาหกรรมเจียระไนเพชร และการพัฒนาตราสินค้าของตนเอง ขณะที่อุปสรรคที่สำคัญนอกเหนือจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมอย่างภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และความผันผวนของค่าเงินบาท ราคาทองคำ และราคาน้ำมันแล้ว ก็คือการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของคู่แข่งอย่างรวดเร็วของจีนและอินเดีย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2551 ในตลาดสหรัฐฯที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตในแดนบวกนั้นไม่ง่ายนัก

ซึ่งหากพิจารณาทิศทางสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย กับ การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบกันระหว่างปี 2544 กับ 2550 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน พบว่าขณะที่ในปี 2544 ที่สหรัฐฯมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.8 ส่วนในปี 2550 มีการเติบโตที่ระดับร้อยละ 1.9 นั้น ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.14 ในปี 2544 แต่ในปี 2550 ที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดสหรัฐฯกลับหดตัวลงด้วยอัตราการเติบโตที่ติดลบร้อยละ 1.12 ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากการที่ราคาทองคำในปี 2544 ไม่สูงมากนักหรืออยู่ที่ระดับ 270.97 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงหรืออยู่ที่ระดับ 44.48 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯในปี 2544 ยังคงมีความสามารถในการซื้อเครื่องประดับทอง ดังนั้นการซื้อขายเครื่องประดับโดยเฉพาะเครื่องประดับทองที่มีสภาพคล่องสูงที่เหมาะสมสำหรับการถือครองในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวจึงคึกคักสวนทางสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯในขณะนั้น และผลักดันให้ในปี 2544 มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในตลาดสหรัฐฯจากไทยจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากปี 2550 ที่ราคาทองแพงมากเป็นประวัติการณ์โดยทะยานไปถึงระดับ 695.22 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกทั้งค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเป็น 34.56 บาทต่อดอลลาร์ ประกอบกับเครื่องประดับทองซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของไทยได้ถูกตัดสิทธิจีเอสพีไปในปี 2550 ด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าบรรยากาศการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับสหรัฐฯในปี 2551 ไม่น่าจะแตกต่างจากปี 2550 มากนัก เพราะปัจจัยเสี่ยงหลายประการล้วนค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2550 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯเองที่น่าจะซบเซาต่อเนื่อง โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund : IMF)ได้มีการปรับลดการประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นร้อยละ 0.5 อีกทั้งยังน้อยกว่าปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 2.2 ด้วย ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันอาจจะยิ่งไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศว่าจะถดถอยต่อเนื่องไปอีกนานเพียงใด ซึ่งการที่สหรัฐฯต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตความเชื่อมั่นดังกล่าว ย่อมมีความเป็นไปยากพอสมควรที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะปรับฟื้นตัวได้โดยเร็ว นอกจากนี้ภาวะค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็น่าจะยังแข็งตัวต่อเนื่อง ส่วนราคาทองคำก็ยังคงมีแนวโน้มผันผวนพอสมควร โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าการเติบโตของตลาดเครื่องประดับทองในสหรัฐฯนับจากนี้น่าจะขึ้นอยู่กับว่าราคาทองจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากน้อยเพียงใดมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับว่าราคาทองจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

ดังนั้นกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดสหรัฐฯ นับจากนี้ จึงควรประกอบด้วย
1.การลดต้นทุน
ผู้ประกอบการควรหันไปลงทุนในการซื้อหรือนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ รวมถึงการเก็บสต๊อกวัตถุดิบโดยอาศัยประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมและความเหมาะสมของแต่ละกิจการด้วย หรือผู้ประกอบการอาจจะลดความเสี่ยงด้านราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงผันผวนได้โดยการสั่งซื้อวัตถุดิบจากผู้นำเข้ารายใหญ่ในประเทศทดแทนการนำเข้าเอง หรือสั่งซื้อวัตถุดิบให้ถี่ขึ้นแทนการนำเข้าเป็นจำนวนมากต่อครั้ง และอาจจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้นแทนการเดินทางไปติดต่อด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีมาตรการในการตรวจสอบคู่ค้าอย่างละเอียดควบคู่ด้วย

2.การออกแบบที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้บริโภค โดยคำนึงถึงกลุ่มอายุและวิถีการดำเนินชีวิตเป็นที่ตั้ง เพราะความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันแต่ละช่วงวัยมีความหลากหลายและมีความชัดเจนหรือมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าที่ผ่านมาแล้ว นอกจากนี้ผู้บริโภคต่างเชื้อชาติที่อาศัยในสหรัฐฯก็มีความหลากหลายพอสมควรนั้นก็มีรสนิยมที่แตกต่างกัน ขณะที่กลุ่มผู้ชายที่หันมาสนใจซื้อเครื่องประดับให้แก่ตนเองมากขึ้น หรือกลุ่มเกย์/เลสเบี้ยนเองก็มีความต้องการที่เฉพาะตัวมากขึ้นเช่นกัน

3.คุณภาพของสินค้า ปัจจุบันผู้บริโภคสหรัฐฯมักจะหันมาให้ความสำคัญต่อความคุ้มค่าของสินค้ามากขึ้น ไม่เว้นแต่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่แม้จะต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ก็จะต้องนำมาซึ่งความพึงพอใจมากที่สุดด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนการผลิตที่ต้องมีคุณภาพตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การเผา การเจียระไน การออกแบบ การประกอบตัวเรือน รวมถึงการให้บริการ การรักษาลูกค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

4.การเปิดเกมรุกผ่านช่องทางใหม่ๆ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งขยายช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ค้าปลีกรายใหญ่หลายรายในสหรัฐฯเองก็หันมาสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงแทนการติดต่อผ่านคนกลางมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต ที่นับวันจะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับในสหรัฐฯ ด้วยปัจจัยด้านความสะดวกรวดเร็ว ความสามารถในการเข้าถึงสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา และผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาจากหลายแหล่งได้ก่อนด้วย อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่มีต้นทุนต่ำกว่าช่องทางผ่านร้านค้าปลีกโดยทั่วไปพอสมควร ดังนั้นผู้ส่งออกไทยจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการติดต่อเสนอขายสินค้าโดยตรงไปยังบรรดาผู้ซื้อรายใหญ่ และพัฒนาความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรสำหรับการติดต่อเจรจาต่อรองและเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบจากการดำเนินทางการค้าร่วมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่จากสหรัฐฯและสร้างโอกาสในการขยายกิจการ ซึ่งอาจจะขอคำปรึกษาได้จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการส่งออก หรือสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือแม้กระทั่งสถาบันการเงินภายในประเทศเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่ค้า เป็นต้น

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดสหรัฐฯใน ปี 2551 น่าจะเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2550 ที่ระดับติดลบร้อยละ 2 ถึงบวกร้อยละ 2 หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 34,500-36,000 ล้านบาท เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบจากปัจจัยลบต่อสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดสหรัฐฯชัดเจนกว่าปัจจัยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นตัวแปรด้านภาวะเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯทั้งในส่วนของภาวะวิกฤตในตลาดการเงินหรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯทรุดหนักกว่าปี 2550 รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน และราคาทองคำในตลาดโลกก็ยังคงเป็นตัวแปรหลักที่จะมีผลต่อปริมาณความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับภายในตลาดสหรัฐฯ เพราะคาดว่าผู้บริโภคสหรัฐฯน่าจะมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่คาดว่าจะยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นจากคู่แข่งสำคัญอย่างจีนและอินเดียที่ต่างมีปัจจัยสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยจีนสามารถผลิตสินค้าเครื่องประดับราคาถูกเพื่อจำหน่ายได้เป็นปริมาณมาก ส่วนอินเดียก็กำลังเพิ่มความได้เปรียบด้านพลอยสีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อิตาลีก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่ล้ำหน้าประเทศคู่แข่งเป็นอย่างมาก

ดังนั้นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวและเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเสริมสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนในตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่เพื่อปูทางไปสู่ตลาดใหม่อื่นๆในตลาดโลกต่อไป โดยเริ่มต้นตั้งแต่การลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการทำตลาดเชิงรุก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรเร่งสร้างพันธมิตรทางการค้าด้วยเพื่ออาศัยประโยชน์จากเครือข่ายร้านค้าภายในประเทศ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ บุคคลากรที่พร้อมทั้งด้านความรู้วิชาการ ทักษะฝีมืองานช่าง การออกแบบ และทักษะทางการตลาด-การจัดการการขาย รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยภายในประเทศ การออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้ากลุ่มนี้ ตลอดจนถึงการสร้างแบรนด์ของตนเองที่โดดเด่น โดยทั้งนี้ก็เพื่อให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยสามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืนไม่เฉพาะแต่ตลาดสหรัฐฯนั้นในระยะยาว