โบอิ้งและแอร์บัส สองผู้นำอุตสาหกรรมการบินเซ็นสัญญาร่วมมือกัน เร่งปรับปรุงระบบบริหารการจราจรทางอากาศให้ทำงานร่วมกันได้ทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบของธุรกิจการบินต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดปัญหาการจราจรทางอากาศคับคั่ง
สก็อตต์ คาร์สัน ประธานและซีอีโอ โบอิ้งคอมเมอร์เชียลแอร์เพลนส์กรุ๊ป และทอม เอนเดอร์ ประธานและซีอีโอ แอร์บัส ได้เซ็นสัญญาร่วมกันในระหว่างการประชุมสุดยอดการบินและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
คาร์สันกล่าวว่า “แอร์บัสและโบอิ้งถือเป็นคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ และความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันทำให้ธุรกิจการบินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้เราทั้งสองจะใช้วิธีการที่ต่างกันแต่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ลดผลกระทบของธุรกิจการบินที่มีต่อสภาพสิ่งแวดล้อม”
เอนเดอร์ กล่าวเสริมว่า “ผมมั่นใจว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการลดผลกระทบของธุรกิจการบินที่มีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจการบิน การแข่งขันถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เนื่องจากโบอิ้งและแอร์บัสเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเหมือนกัน การร่วมมือกันจะทำให้บรรลุเป้าหมายและสร้างประโยชน์ให้แก่เราทั้งสองได้รวดเร็วขึ้น”
ความร่วมมือระหว่างแอร์บัสและโบอิ้งในการช่วยให้ธุรกิจการบินและรัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถเลือกวิธีที่ตรงจุดในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการจราจรทางอากาศให้ทันสมัย เป็นหนึ่งในสามปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจการบินเพิ่มความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่สอง คือ การแข่งขัน ที่สำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีซึ่งกระตุ้นให้เกิดโครงการพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ เช่น แอร์บัส A380 และโบอิ้ง 787 ปัจจัยที่สามคือ การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินปรับจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินได้ปรับปรุงเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงถึง 70% ลดระดับเสียงรบกวนลง 90% และลดปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนที่เผาไหม้ไม่หมดได้ถึง 90% สภาที่ปรึกษาด้านวิจัยการบินในยุโรป (ACARE) ได้วางเป้าหมายจะลดปริมาณ CO2 อีก 50% จากปัจจุบันและลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์อีก 80% ภายในปี 2563 ทั้งนี้ การพัฒนาระบบบริหารการจราจรทางอากาศที่ทันสมัย จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
การปรับปรุงระบบการขนส่งทางอากาศทั่วโลกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดเส้นทางบิน การบริหารเครื่องบินขาเข้า และควบคุมความเร็วได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และลดปริมาณการปล่อยไอเสียที่เกิดจากการที่เครื่องบินเข้าออกไม่ตรงตามกำหนด ส่วนการปรับปรุงระบบบริหารการจราจรทางอากาศเป็นวิธีช่วยลดปริมาณการปล่อย CO2 ได้ดีและเห็นผลได้เร็วที่สุด