ซัน จัดเวิร์คช็อปอุ่นเครื่องเยาวชนผู้เข้าแข่งขัน Java™ Jive Regional Challenge 2008

ซัน เดินหน้าพัฒนาการศึกษาไทยด้านไอที จัดเวิร์คช็อปอุ่นเครื่องเยาวชนผู้เข้าแข่งขันพัฒนาแอพพลิเคชั่น Java™Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย ก่อนประลองฝีมือในเวทีอินเตอร์

ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย และ สมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) เดินหน้าจัดโครงการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นจาวาเพื่อพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขJava™ Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย สำหรับผู้เข้าแข่งขันระดับอุดมศึกษาเป็นครั้งแรกของประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปอุ่นเครื่องก่อนส่งเยาวชนไทยออกสู่เวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ

“โครงการแข่งขัน Java™ Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย เป็นโครงการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นจาวาระดับภูมิภาคที่เริ่มจัดขึ้นโดยซัน ไมโครซิสเต็มส์ ประเทศสิงคโปร์ โดยในปีนี้ได้จัดเพิ่มเติมในอีกสองประเทศคือ มาเลเซีย และ ไทย เพื่อค้นหาทีมผู้ชนะเลิศจากจากแต่ละประเทศเข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคในงาน Sun Developer Day ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งหัวข้อผลงานการออกแบบแอพพลิเคชั่นสำหรับประเทศไทยในปีนี้ได้กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันใช้เทคโนโลยีต่างๆ อาทิ Web 2.0 และ Toolsต่างๆ เช่น NetBeans, Java Technology, GlassFish Application Server มาพัฒนาระบบการรักษาและการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงต่อไป” ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจซอฟท์แวร์ ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

“หลังจากที่ได้เริ่มเปิดรับใบสมัครจากผู้สนใจเข้าร่วมโครงการระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราได้รับผลการตอบรับที่ดีโดยมีนักศึกษาจากภาควิชาสถิติ วิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐ และเอกชนให้ความสนใจส่งโครงการเข้าร่วมสมัครเกินความคาดหมาย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบแอพพลิเคชั่นที่ยังขาดแคลนอยู่มากในประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาจาวาซึ่งถือเป็นภาษาสากลของที่ใช้กันทั่วโลกให้มีโครงการนำร่องที่จะผลักดันพวกเขาสู่สายอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของประเทศ และเพื่อเป็นการตอบสนองมหาวิทยาลัยจากแถบภูมิภาคที่ต้องการเข้าร่วมโครงการแต่ยังมีความติดขัดในเรื่องของเวลาการนำเสนอโครงการ เราจึงได้ยืดระยะเวลาการรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน Java™ Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย ออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้”

“เนื่องจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เราจึงได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมพิเศษ “Jump Start Workshop” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและปูพื้นฐานให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่สู่ตลาดไทย พร้อมกับชี้แจงให้เห็นว่าผลงานของพวกเขาจะสามารถเสริมรากฐานการให้บริการและการรักษาทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้ทัดเทียมกับชาติอื่นได้อย่างไร ซึ่งกิจกรรมเวิร์คช็อปดังกล่าวได้รวบรวมทีมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาคไอที และสาธารณสุข มาเสริมความพร้อมแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นการอัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการของผู้สมัครเองอีกด้วย”

นพ. สุธี ทุวิรัตน์ ประชาสัมพันธ์ สมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) กล่าวว่า ”ปัจจุบันนี้การใช้ไอทีเข้ามาบูรณาการการรักษาและให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ขยายบทบาทขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกรวมถึงในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทย สมาคมเวชสารสนเทศฯ ได้เห็นปัญหาของการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้ในเรื่องระบบไอทีทางการแพทย์ จึงได้พยายามผลักดันการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้เรื่องระบบไอทีสำหรับภาคบริการสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อยกระดับการให้บริการทางการแพทย์องค์รวมของไทย และมุ่งเน้นที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น”

“ทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชิงเทคนิคที่ซับซ้อน จึงจุดชนวนก่อให้เกิดกระแสการสร้างชุมชนออนไลน์ หรือ Social Networking ที่ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งกลายเป็นมิติใหม่ของไอทีทางการแพทย์ที่ทำให้เกิดสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุค healthcare 3.0 ทางสมาคมเวชสารสนเทศมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและพัฒนาโครงการดีๆ ที่จะเป็นเวทีให้ส่งเสริมเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านไอทีมายกระดับการให้บริการและการรักษาด้านการแพทย์ของไทยให้สามารถก้าวกระโดดไปสู่การเป็น Medical Hub Of Asia ได้ตามนโยบายของภาครัฐ”

ดร. ธนชาติ ได้กล่าวย้ำว่า “สิ่งที่ซันมุ่งเน้นตลอดมาคือการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทย การจัดการแข่งขัน Java™ Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทย ในครั้งนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้เข้าร่วมอบรมและสัมผัสประสบการณ์ในการออกแบบแอพพลิเคชั่นในสถานการณ์จริง ยังสามารถขยายผลต่อเนื่องสู่ทั้งแวดวงการศึกษาและสาธารณสุขไทยในอนาคตได้อีกด้วย”

โครงการ Java™ Jive Regional Challenge 2008 – ประเทศไทยจะทำการประกาศผลการตัดสินผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 3 ทีมในเดือนมิถุนายน และนำผู้ผ่านการคัดเลือก 3 ทีมสุดท้าย นำเสนอผลงานพร้อมประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการ ในงาน Thailand Developer Days ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยผู้เข้ารอบสามทีมสุดท้ายจะได้รับรางวัลรวมมูลค่านับแสนบาท

เกี่ยวกับ ซัน ไมโครซิสเต็มส์
ภายใต้วิสัยทัศน์ “The Network Is The Computer” ผลักดันให้ซันมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสำคัญๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง และปรัชญาสำคัญของซัน คือ การเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นกระแสนำในโลกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า ยุคแห่งการมีส่วนร่วม (The Participation Age) ปัจจุบัน ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (สัญลักษณ์หุ้นในตลาดหุ้นแนสแดก: SUNW) มีเครือข่ายครอบคลุมอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซันได้ที่ http://sun.com หรือ http://sun.com.sg

เกี่ยวกับสมาคมเวชสารสนเทศไทย
สมาคมเวชสารสนเทศไทย Thai Medical Informatics Association (TMI) หรือ ชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า ชขพ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2534 โดยความริเริ่มของ อาจารย์แพทย์ผู้มองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการแพทย์ นำโดย ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศ.นพ.พิศิษฎ์ สัณหพิทักษ์ โดยแนะให้ตั้งเป็นชมรมขึ้นมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ และเพื่อเสนอแนะการพัฒนางานข้อมูลข่าวสารทางแพทย์แก่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย)
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นองค์กรที่สร้างธุรกิจ และเป็นสถาบันทางสังคมการเรียนรู้ในยุคเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และร่วมผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วย 6 บริการหลักได้แก่ 1.) บริการพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2.) ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์ 3.) ICT-Enablement 4.) IT Professional Development 5.) การจัดการกระบวนการการพัฒนาคุณภาพ (Quality Improvement) และ 6.) บริการในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน