สมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผยว่าการสอบตัวแทนประกันชีวิต ในไตรมาสแรกของปี 2551 มีผู้สมัครสอบเพิ่มขึ้น 25 % ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สมัครสอบ สมาคมเตรียมขยายการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นรายบริษัทเพิ่มจากการจัดสอบรวมทุกบริษัท
นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า “การสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2551 ระหว่าง เดือนมกราคม-มีนาคม มีผู้สมัครสอบทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 56,055 คน เพิ่มจากปีก่อนในระยะเดียวกัน ซึ่งมีผู้สมัครสอบ 44,785 คน จำนวน 11,270 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.16 ในจำนวนนี้ เข้าสอบ 41,275 คน หรือร้อยละ 73.63 ของผู้สมัครสอบ และสามารถสอบผ่าน 24,209 คน หรือร้อยละ 58.65 ของผู้เข้าสอบ”
สถิติการสอบตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2551 มีดังนี้
1. การสอบแยกตามส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
1.1 การสอบในส่วนกลาง มีผู้สมัครสอบ 20,393 คน (สอบด้วยระบบกระดาษและด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์) เข้าสอบ 17,913 คน หรือร้อยละ 87.83 ของผู้สมัครสอบ และสอบผ่าน 12,132 คน หรือร้อยละ 67.72 ของผู้เข้าสอบ
1.2 การสอบในส่วนภูมิภาค มีผู้สมัครสอบ 35,662 คน (สอบด้วยระบบกระดาษ รวม 65 จังหวัด และสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ใน 7 จังหวัด) เข้าสอบ 23,363 คน หรือร้อยละ 65.51 ของผู้สมัครสอบ และสอบผ่าน 12,078 คน หรือร้อยละ 51.69 ของผู้เข้าสอบ
2. การสอบแยกตามการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์และระบบกระดาษ ดังนี้
2.1 การสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีผู้สมัครสอบ 16,275 คน (สอบในส่วนกลางที่สมาคมประกันชีวิตไทย และในส่วนภูมิภาค 7 จังหวัด) เข้าสอบ 15,242 คน หรือร้อยละ 93.65 ของผู้สมัครสอบ และสอบผ่าน 10,216 คน หรือร้อยละ 67.02 ของผู้เข้าสอบ
2.2 การสอบด้วยระบบกระดาษ มีผู้สมัครสอบ 39,780 คน (สอบในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 65 จังหวัด) เข้าสอบ 26,033 คน หรือร้อยละ 65.44 ของผู้สมัครสอบ และสอบผ่าน 13,993 คน หรือร้อยละ 53.75 ของผู้เข้าสอบ
3. ผลการสอบแยกตามจังหวัด
3.1 ในจำนวนผู้สมัครสอบทั่วประเทศ กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด ซึ่งมีจำนวน 20,393 คน อันดับ 2 ขอนแก่น จำนวน 2,656 คน อันดับ 3 เชียงใหม่ จำนวน 2,171 คน อันดับ 4 อุบลราชธานี จำนวน 1,812 คน และอันดับ 5 สงขลา จำนวน 1,779 คน สำหรับจังหวัดอื่นๆสามารถดูได้ที่ www.tlaa.org
3.2 ในรอบสามเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีผู้สอบผ่านร้อยละ 58.65 (ในปี 2550 สอบผ่านเฉลี่ย ร้อยละ 55.96) แต่ยังมีหลายจังหวัดที่มีผู้สอบผ่านไม่ถึงร้อยละ 40 เช่น ราชบุรี มหาสารคาม สุโขทัย เลย และ นราธิวาส เป็นต้น
นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้จัดให้มีการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มในส่วนกลางสอบที่สมาคม ซึ่งนอกเหนือจากผู้ที่อยู่ในกรุงเทพแล้ว ปรากฏว่ายังได้รับความสนใจจากผู้อยู่ในต่างจังหวัดเดินทางไปสมัครสอบที่สมาคมเป็นจำนวนมาก สมาคมจึงได้ขยายการจัดสอบระบบด้วยคอมพิวเตอร์ไปยังส่วนภูมิภาค ตั้งแต่เดือน กันยายน 2550 รวม 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าได้รับการตอบรับดีขึ้นตามลำดับในทุกจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนกันยายน 2550 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่เปิดสอบ มีผู้สมัครสอบเพียง 71 คน แต่เดือนมีนาคม 2551 มีผู้สมัครสอบเพิ่มขึ้นเป็น 321 คน จังหวัดสงขลาในเดือนกันยายน 2550 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่เปิดสอบ มีผู้สมัครสอบเพียง 94 คน แต่ในเดือนมีนาคม 2551 มีผู้สมัครสอบเพิ่มขึ้นเป็น 249 คน และจังหวัดสุราษฎร์ธานีในเดือนกันยายน 2550 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่เปิดสอบ มีผู้สมัครสอบเพียง 6 คน แต่ในเดือนมีนาคม 2551 มีผู้สมัครสอบเพิ่มขึ้นเป็น 98 คน เป็นต้น
จากสถิติการสอบดังกล่าว แสดงว่า มีผู้สนใจสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากสามารถรู้ผลสอบทันทีที่ส่งข้อสอบ แต่สมาคมไม่สามารถเปิดสอบในต่างจังหวัดได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากรายรับไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อจัดสอบในต่างจังหวัด ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้มีการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น สมาคมจึงเตรียมขยายการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยให้บริษัทสมาชิกสมาคมสามารถขอเปิดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นเฉพาะรายบริษัทได้ แต่ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจาก สำนักงาน คปภ. คาดว่าการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์รายบริษัท ในส่วนกลางจะสามารถเริ่มสอบได้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2551 และในส่วนภูมิภาคจะเริ่มสอบได้ ตั้งแต่เดือน มกราคม 2552 เป็นต้นไป หากสงสัยประการใดหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ฝ่ายตัวแทนสัมพันธ์สมาคมประกันชีวิตไทย โทรศัพท์ 0 2287 4596-8 โทรสาร 0 2679 9975