เทคโนโลยีการสื่อสารของโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในยุคแรก (First Generation: 1G) ก็พัฒนาไปสู่ยุคที่ 2 (2G) ทำให้มีคุณภาพของเสียงชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเริ่มเกิดบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-Voice) เช่น SMS MMS เป็นต้น ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาไปสู่ยุคที่ 2.5 (2.5G) ซึ่งเป็นการพัฒนาบริการ Non-Voice ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Internet) ผ่านระบบ GPRS หรือ EDGE อย่างไรก็ตาม บริการ Non-Voice ยังไม่สามารถเติบโตได้สูงมากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านประสิทธิภาพและความเร็วในการรับส่งข้อมูล ทำให้ Content ที่ให้บริการยังคงมีจำกัดและไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีนัก จึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการสื่อสารไปสู่ยุคที่ 3 (3G) ซึ่งเป็นการพัฒนาให้การรับส่งข้อมูลมีประสิทธิภาพและความรวดเร็วมากขึ้น ขณะที่บริการด้านเสียงก็ยังคงมีคุณภาพอยู่ โดยได้เริ่มมีใช้งานกันอย่างแพร่หลายแล้วในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในยุค 2.5G แต่ก็เริ่มมีการทดลองให้บริการระบบ 3G ในบางพื้นที่แล้ว นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบการสื่อสารไร้สายของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงทำการวิเคราะห์ถึงแนวทางในการลงทุนพัฒนาโครงข่าย ประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบ 3G ตลอดจนความพร้อมของผู้ใช้บริการ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
แนวทางและความคืบหน้าในการพัฒนาระบบ 3G ในประเทศไทย
ในกรณีของประเทศไทยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ให้ความสนใจที่จะพัฒนาโครงข่ายเพื่อเปิดให้บริการ 3G แต่ยังคงมีความล่าช้า เนื่องจากเดิมมีแนวทางที่จะพัฒนาระบบ 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ 2100 MHz แต่มีความล่าช้าในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้ใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้หาทางออกเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการระบบ 3G ได้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พัฒนาระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิม ซึ่งผู้ให้บริการก็ตอบรับนโยบายดังกล่าว โดยในช่วงเริ่มต้นจะเป็นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี HSPA (High Speed Packet Access) สำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband Internet) ส่งผลให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ให้บริการจะต้องทำการขอใบอนุญาตในการนำเข้าอุปกรณ์ในการพัฒนาโครงข่ายจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในขณะนี้มีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์จาก กทช. แต่ก็ไม่ถือว่าได้เปรียบมากนัก เนื่องจากยังต้องรอใบอนุญาตินำเข้าอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยคาดว่า กทช. จะออกใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ให้แก่ผู้ให้บริการทั้งหมดหลังจากออกหลักเกณฑ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของใบอนุญาตการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ก็คาดว่า กทช. จะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และอนุมัติใบอนุญาตได้ภายในปีนี้เช่นกัน
การลงทุนพัฒนาโครงข่ายในระบบ 3G
จากการแข่งขันกันลดราคาค่าบริการการโทร ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (Average Revenue per User: ARPU) ลดต่ำลง ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงต้องปรับตัวเพื่อแสวงหารายได้จากบริการ Non-Voice มากขึ้น การขยายการลงทุนจึงมุ่งไปสู่แนวทางการพัฒนาระบบ 3G สำหรับในปี 2551 ที่ผู้ให้บริการจะเปิดให้บริการระบบ 3G ผ่านเทคโนโลยี HSPA บนคลื่นความถี่เดิมไปก่อนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผู้ให้บริการจะใช้เงินลงทุนสำหรับการพัฒนาในครั้งนี้ไม่สูงนัก เนื่องจากการพัฒนา 3G บนคลื่นความถี่เดิมนี้เป็นเพียงการหาทางออกชั่วคราวในการพัฒนาไปสู่ระบบ 3G และมองว่าการที่ผู้ให้บริการเปิดให้บริการระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมนั้น เป็นเพียงการทดสอบตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงระบบ 3G อีกทั้งหากผู้ให้บริการเปิดให้บริการระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมก็อาจต้องจ่ายค่าสัมปทานตามรูปแบบเดิม ซึ่งในมุมมองของผู้ให้บริการอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์มากนัก ทั้งนี้ คาดว่าเงินลงทุนในการพัฒนาระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมในปี 2551 โดยรวมจะมีประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และจะเป็นการลงทุนเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น
สำหรับการลงทุนพัฒนาระบบ 3G อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ กทช. ได้ออกหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตอย่างชัดเจนแล้วในประมาณปลายปี 2551 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผู้ให้บริการจะลงทุนพัฒนาโครงข่ายไปสู่ระบบ 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ เนื่องจากมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามมาตรฐานสากล ตลอดจนต้นทุนที่ต้องจ่ายให้แก่ภาครัฐอาจจะต่ำกว่าการให้บริการบนคลื่นความถี่เดิม โดยคาดว่าผู้ให้บริการแต่ละรายจะต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาระบบไม่ต่ำกว่าประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี หลังได้รับใบอนุญาต โดยจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จะลงทุนในจังหวัดสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น ระยะที่ 2 จะลงทุนในจังหวัดที่มีศักยภาพสูง และระยะที่ 3 จะเป็นการลงทุนครอบคลุมทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากการลงทุนในระยะที่ 1 คาดว่าผู้ให้บริการจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการขยายฐานลูกค้า Non-Voice ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยจะต้องมุ่งเน้นการทำตลาดระบบ 3G ไปสู่คนส่วนใหญ่ (Mass Market) เพราะหากมุ่งทำตลาดเฉพาะกลุ่มเพียงอย่างเดียวก็อาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเพิ่มรายได้รวมทั้งยังสูญเสียโอกาสในการแสวงหารายได้จากฐานลูกค้าในกลุ่มใหญ่ด้วย ส่วนการลงทุนในระยะที่ 2 และ 3 เพื่อขยายพื้นที่บริการให้เพิ่มมากขึ้นนั้น ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีความเสี่ยงต่อโอกาสการคุ้มทุนของผู้ให้บริการ โดยเงื่อนไขที่จะกำหนดขอบเขตและกรอบเวลาของการลงทุนในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น พฤติกรรมและการตอบรับของผู้บริโภค สถานการณ์การแข่งขันในตลาดทั้งคู่แข่งขันรายเดิมและรายใหม่ สถานะทางการเงินของผู้ให้บริการ ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินของประเทศ กฎระเบียบของภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ระยะเวลาการลงทุนที่ได้ประเมินไปข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นเงื่อนไขในการลงทุนระยะต่อไป คือ การตอบรับของผู้บริโภคต่อระบบ 3G โดยในมุมมองของผู้ให้บริการอาจให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ แต่เทคโนโลยีก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการให้บริการ ซึ่งการตอบรับของผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของบริการด้านเครือข่าย ขณะที่เครื่องลูกข่ายก็ต้องมีราคาที่เหมาะสม ตลอดจน Content ก็ต้องตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จากทิศทางดังกล่าวจะทำให้การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการควรจะเน้นไปที่การทำตลาดร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้จัดจำหน่ายเครื่องลูกข่าย และผู้ให้บริการ Content ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นโจทย์สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ให้บริการระบบ 3G ในการชักจูงให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกัน นอกจากนี้ Package ที่จะนำเสนอต่อผู้บริโภคนั้น จะต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยด้วย อีกทั้งการขยายฐานลูกค้าในการให้บริการระบบ 3G จะต้องขยายไปสู่ผู้บริโภคในระดับทั่วไปให้ได้มากที่สุด กล่าวคือ จะต้องพัฒนา Content ให้มีความหลากหลาย ง่ายต่อการใช้งาน และตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ เช่น บันเทิง กีฬา ข่าวสาร การเงิน เป็นต้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากระบบ 3G
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาและนำระบบ 3G มาใช้ในประเทศไทย สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
การเปิดให้บริการระบบ 3G จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากระบบ 3G โดยการลงทุนภาคเอกชนจะมาจากการลงทุนของผู้ให้บริการในการพัฒนาโครงข่าย ซึ่งคาดว่าจะมีเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี รวมทั้งยังส่งผลให้เกิดการลงทุนจากธุรกิจสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น การลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบด้านโทรคมนาคม เป็นต้น ส่วนด้านการบริโภคก็มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากบริการและเครื่องลูกข่ายด้านโทรคมนาคม รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสัดส่วนมูลค่าการบริโภคภาคเอกชนด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมต่อ GDP มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ราคาค่าบริการและเครื่องลูกข่ายมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2550 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2.19 เพิ่มขึ้นจากปี 2542 ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.53 นอกจากนี้ การพัฒนาระบบ 3G ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและไอทีมากขึ้น
2. ประโยชน์ต่อธุรกิจโดยตรงและเกี่ยวเนื่อง
ธุรกิจโดยตรงที่จะได้รับประโยชน์จากการเปิดให้บริการระบบ 3G ได้แก่ ผู้ให้บริการระบบ และผู้จัดจำหน่ายเครื่องลูกข่าย โดยในส่วนของผู้ให้บริการระบบคาดว่าหลังการเปิดให้บริการระบบ 3G จะทำให้รายได้จากบริการ Non-Voice เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริการ Mobile Internet และบริการรับส่งข้อมูลต่างๆ เนื่องจากระบบ 3G จะทำให้การรับส่งข้อมูลมีความเร็วและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นการพัฒนาไปสู่อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน รวมทั้งความเร็วที่เพิ่มขึ้นนี้ก็จะรองรับ Content การใช้งานในด้านต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น TV on Mobile, Video Call เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาแนวโน้มของรายได้จากบริการ Non-Voice เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้จากบริการ Non-Voice ในส่วนของบริการข้อมูลอื่นๆ ขณะที่รายได้จากบริการ SMS เริ่มชะลอตัวลง สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ระบบ 3G อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2551 รายได้ของผู้ให้บริการจากระบบ 3G จะยังคงไม่สูงนัก เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นในการพัฒนาระบบและทดลองตลาด โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีที่ตลาดตอบรับเป็นอย่างดี ผู้ให้บริการจะเริ่มรับรู้รายได้อย่างชัดเจนจากการให้บริการระบบ 3G ภายในประมาณปี 2553 โดย จะทำให้สัดส่วนรายได้ของบริการ Non-Voice เติบโตไปจนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมดของผู้ให้บริการ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น
สำหรับผู้จัดจำหน่ายเครื่องลูกข่ายก็คาดว่าจะได้รับผลดีจากการเปิดใช้บริการระบบ 3G เช่นกัน โดยจะทำให้ยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับระบบ 3G มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ Smart Phone และ PDA (Personal Digital Assistant) ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีระดับสูงได้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีที่ตลาดตอบรับเป็นอย่างดี จะทำให้ภายในประมาณปี 2553 ยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone และ PDA ที่สามารถรองรับระบบ 3G จะเติบโตจนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone และ PDA ทั้งระบบ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น
ในส่วนของธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและนำระบบ 3G มาใช้เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบด้านโทรคมนาคม รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Content สำหรับการใช้งานบนระบบ 3G ก็คาดว่าจะเกิดบริการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่การใช้งานที่สะดวกรวดเร็วและมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ง่ายต่อการใช้งาน ไม่ว่าผู้ใช้จะมีความรู้ด้านเทคโนโลยีหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ สามารถสรุปแนวโน้มของตัวอย่างธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
3. ประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ระบบ 3G จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมที่ดีขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วและประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการ Content บนอินเทอร์เน็ตที่ต้องอาศัยความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้มากขึ้น เช่น e-Education ที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาทางไกล, e-Banking ที่จะช่วยสร้างความสะดวกสบายทางการเงิน, e-Entertainment ที่จะช่วยให้ดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น รวมทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สูงขึ้น โดยในกรณีที่ระบบ 3G เปิดให้บริการครอบคลุมทั้งประเทศแล้ว จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องพึ่งพาระบบสาย ทำให้พื้นที่ที่สายโทรศัพท์ยังไม่ครอบคลุมก็จะไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หรือในบางพื้นที่ความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่สูงนัก ซึ่งการพัฒนาระบบ 3G จะช่วยให้อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม โดยในปี 2550 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15.5 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซียและเวียดนามที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 60.0 และ 21.4 ตามลำดับ รวมทั้งยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของทั่วโลกที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20.0 อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยยังอยู่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 13.7 นอกจากนี้ ระบบ 3G ยังช่วยตอบสนองพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคในเมืองใหญ่ที่มีความต้องการข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว สามารถติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตระหว่างการเคลื่อนที่และนอกสถานที่ รวมทั้งมีความต้องการใช้บริการ Multimedia มากขึ้น
ความพร้อมของผู้ใช้บริการระบบ 3G ในประเทศไทย
ในปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้บริการ Non-Voice ในปริมาณมาก โดยเฉพาะบริการข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ใช้ SMS และ MMS ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงนัก โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการในกลุ่มนี้ถือว่ามีศักยภาพและกำลังซื้อสูง โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนที่ต้องรับข้อมูลข่าวสารอยู่โดยตลอด รวมทั้งต้องการระบบที่ตอบสนองการทำงานในขณะเคลื่อนที่ ในอนาคตคาดว่าหลังการลงทุนพัฒนาระบบ 3G อย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้เกิดการขยายตัวของฐานผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มีกำลังซื้อและชื่นชอบการใช้งานเทคโนโลยีรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้ใช้บริการในเมืองใหญ่ที่มีไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการจะต้องเร่งขยายฐานลูกค้าไปสู่คนส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันยังไม่มีการใช้บริการ Non-Voice มากนัก เช่น กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เห็นประโยชน์ของบริการ Non-Voice เป็นต้น เพื่อลดภาวะการแข่งขันในกลุ่มลูกค้าเดิมที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ Content ที่ให้บริการบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะนี้ที่ยังมีไม่มากนัก รวมทั้งยังไม่มีความสะดวกในการใช้งานและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนผู้ใช้บริการ Non-Voice ที่มีปริมาณยังไม่สูง อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดใช้งานระบบ 3G จะช่วยให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายมีความเร็วมากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสในการพัฒนา Content ใหม่ๆ และหลากหลายมากขึ้น
สรุปและข้อคิดเห็น
ขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการเปิดให้บริการระบบ 3G โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมได้ ซึ่งคาดว่าผู้ให้บริการทั้งหมดจะสามารถเปิดให้บริการระบบ 3G ได้ภายในปีนี้ โดยจะเป็นบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายผ่านเทคโนโลยี HSPA ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผู้ให้บริการจะมีการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไปสู่ระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมในปีนี้รวมประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท เท่านั้น เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์และกำหนดการในการออกใบอนุญาตให้บริการระบบ 3G จาก กทช. เสียก่อน หลังจากนั้นจึงจะลงทุนพัฒนา 3G อย่างเต็มรูปแบบบนคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งคาดว่าผู้ให้บริการแต่ละรายจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยคาดว่าจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก หลังการลงทุนในระยะแรก ผู้ให้บริการคงต้องพิจารณาการตอบรับของตลาดก่อนที่จะลงทุนในระยะต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้ระยะเวลาการลงทุนที่ประเมินไว้ข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ระบบ 3G จะสร้างประโยชน์ใน 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นจากผลของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและโทรคมนาคมที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ประการที่สอง ช่วยให้ธุรกิจโดยตรงและเกี่ยวเนื่องมีโอกาสเติบโต โดยคาดว่าหากตลาดตอบรับกับระบบ 3G เป็นอย่างดี จะทำให้ภายในประมาณปี 2553 ผู้ให้บริการระบบจะมีรายได้จากบริการ Non-Voice เพิ่มสูงขึ้นจนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด จากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 สำหรับธุรกิจเครื่องลูกข่ายก็คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นจากยอดขายเครื่องลูกข่ายที่รองรับระบบ 3G โดยคาดว่าสัดส่วนของยอดขายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone และ PDA ที่รองรับระบบ 3G จะเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของยอดขายทั้งหมด จากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 นอกจากนี้ ระบบ 3G ยังช่วยให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ มีโอกาสเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะบริการ Content ใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเกิดมากขึ้น และประการที่สาม ผู้บริโภคจะได้รับโอกาสการเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่สายโทรศัพท์พื้นฐานเข้าไปไม่ถึงหรือในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องความเร็วของการให้บริการอินเทอร์เน็ต
สำหรับความพร้อมของผู้ใช้บริการยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ให้บริการ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้บริการ Non-Voice หลักมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด รวมทั้งความเข้าใจในเทคโนโลยีของคนไทยยังจำกัดอยู่ในเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ตลอดจน Content ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก ไม่สะดวก และไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาระบบ 3G ใน 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้จัดจำหน่ายเครื่องลูกข่าย และผู้ให้บริการ Content ต้องร่วมกันพัฒนา Content ให้มีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดมากขึ้น รวมทั้งต้องง่ายต่อการใช้งานและเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ได้
ประการที่สอง เครื่องลูกข่ายที่สามารถรองรับกับระบบ 3G ควรมีราคาที่ไม่สูงมากนัก เพื่อให้ผู้บริโภคในทุกระดับมีโอกาสในการเข้าถึงระบบ 3G ได้
ประการที่สาม ภาครัฐจะต้องควบคุมดูแลการแข่งขันในตลาดและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในระบบ 3G อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และโปร่งใส ไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ให้บริการแต่ละราย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตให้บริการในระบบ 3G ก็ควรอยู่บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่สูญเสียผลประโยชน์ แต่ก็ต้องจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนพัฒนาระบบ 3G ด้วย
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น