สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมเครือข่ายนวัตกร ครั้งที่ 2 ประจำปี 2551 เพื่อสร้างความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายนวัตกร และแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งกระชับแนวร่วมในการผลิตนวัตกรรมออกสู่ตลาด ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น พร้อมการบรรยายเคล็ดลับ “กลยุทธ์การปรับตัวของ SMEs ไทยในยุค เศรษฐกิจถดถอย” โดยนายพันศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เผยว่า “การประชุมเครือข่ายนวัตกร จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2550 เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สนช. พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ ตลอดจนความคาดหวังของผู้ประกอบการที่มีต่อบริการของ สนช. อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงานฯ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจและตอบรับการเข้าร่วมงานจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ทางสำนักงานจึงได้จัดการประชุม “เครือข่ายนวัตกร ประจำปี 2551” นี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่ม
นวัตกรได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของ สนช. เพื่อนำมาปรับปรุงให้การดำเนินงานของ สนช. มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงความต้องการของเอกชนได้มากขึ้น ตลอดจนมีการจัดบรรยายพิเศษ การเสวนา และการอภิปรายเกี่ยวกับการทำนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนวัตกร อันจะส่งผลต่อการแข่งขันในระดับประเทศ และเวทีโลก”
การประชุมเครือข่ายนวัตกรนี้มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมได้แก่ กลุ่มธุรกิจชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ กลุ่มอุตสาหกรรมการออกแบบเชิงนวัตกรรม
ศุภชัยฯ กล่าวต่อว่า “กิจกรรมสำคัญในการประชุมสัมนาครั้งนี้ สนช. ได้จัดให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจนวัตกรรม” โดยคุณสุมลมาลย์ กัลยาศิริ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และประธานคณะอนุกลั่นกรองโครงการชุดที่ 1 และการบรรยาย เรื่อง “กลยุทธ์การปรับตัวของ SMEs ไทยในยุค เศรษฐกิจถดถอย” โดยคุณพันศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ รองประธานอาวุโส และ ผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)”
ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ความสำคัญในการจัดประชุมเครือข่ายนวัตกรครั้งนี้ เพราะนวัตกร คือผู้รังสรรค์นวัตกรรม ถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในทุกองค์กร
ในการผลักดันการนำความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกระบวนการ และเทคโนโลยีให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดี และมีคุณค่ามากกว่าเดิม ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ และรูปแบบธุรกิจใหม่ ทั้งนี้เพื่อการเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่งนวัตกรทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมการประชุมถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้แก่องค์กรของตนเอง และประเทศชาติ นับเป็นผู้กล้าคิด กล้าเรียนรู้ กล้าเสี่ยง และที่สำคัญ คือกล้าทำ ลงมือสร้างสรรค์เพื่อให้เป็นนวัตกรรมขึ้นมา”
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สนช. ทำหน้าที่เร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันภายในประเทศ โดยสนช. ได้ให้ความสำคัญ กับการดำเนินงานในแผนยกระดับนวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ และสามารถสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยผ่านทางกลไกสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อยืนยันความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และการเงินใน 4 รูปแบบ ได้แก่ โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน โครงการทุนเครือข่ายวิสาหกิจ โครงการร่วมลงทุนธุรกิจนวัตกรรม และโครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินถึง 7 แห่ง ตลอดระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน ที่สนช.ได้ดำเนินงานมานั้น ได้ให้การสนับสนุน โครงการนวัตกรรม ไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 285 โครงการ โดยมีมูลค่าสนับสนุนเป็นเงิน 328 ล้านบาท อันก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 6,600 ล้านบาท”
ดร. สุจินดาฯ กล่าวต่อว่า “การประชุมเครือข่ายนวัตกร นับเป็นการประชุมของนวัตกรที่มีจำนวนมากที่สุดของประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานนี้ จะเป็นนวัตกรที่มีศักยภาพสูง ของประเทศ ที่พร้อมต้องการผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป”