ไมโครซอฟท์ผนึก ผลักดันนวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทยผ่าน Microsoft Innovation Center

วันนี้ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และมหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศความร่วมมือในการก่อตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ Microsoft Innovation Center เป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยมุ่งมั่นที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ก้าวหน้าและแข่งขันได้ใน เวทีโลก

Microsoft Innovation Center เป็นความริเริ่มของบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งมั่นสร้างให้ Microsoft Innovation Center เป็นแหล่งส่งเสริมและผลักดันการพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ของแต่ละประเทศ โดยปัจจุบันมีศูนย์ Microsoft Innovation Center ทั้งหมด 110 ศูนย์ใน 36 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ในประเทศไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้เริ่มดำเนินการโดยได้รับความร่วมมือจากสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และมหาวิทยาลัยรังสิต ในการจัดการและดำเนินงาน เพื่อให้ Microsoft Innovation Center ที่ตั้งอยู่ ณ อาคารสาธรธานี เป็นศูนย์กลางของนักพัฒนา บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ นักลงทุน และบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ของไทยรวมทั้งแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมซึ่งกันและกัน

โดยในการประกาศก่อตั้งศูนย์ Microsoft Innovation Center ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการนั้น ผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น คือ มร.ไมเคิล ร้อดดิ้ง รองประธานกลุ่ม Unlimited Potential ได้เดินทางมาร่วมยืนยันและแสดงเจตนารมณ์ถึงความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ต่อการลงทุนด้านการส่งเสริมนวัตกรรมท้องถิ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องด้วย

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บทบาทของ Microsoft Innovation Center คือ จะเป็นแหล่งสำหรับการทำ Proof of Concept (POC) ของผลงานทางด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ โดยจะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยมาติดตั้งใน Microsoft Innovation Center เพื่อให้การถ่ายโอนทักษะทางเทคโนโลยีสามารถทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ประกอบไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมซอฟต์แวร์ที่จะเป็นแพล็ตฟอร์มในการพัฒนา RFID reader Fingerprint reader อุปกรณ์ Windows mobile Tablet PC และคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ HPC และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการผนวกโครงการต่างๆ ของไมโครซอฟท์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของนักพัฒนาและนวัตกรรมท้องถิ่นของไทย เข้ามาเป็นหนึ่งในกิจกรรมของ Microsoft Innovation Center ด้วยเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่กว้างขวางขึ้นและขยายโอกาสไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ นักเรียนนักศึกษา เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นที่นี่จะยังเป็นแหล่งเชื่อมโยงความต้องการระหว่างนักลงทุนและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างลงตัว โดยผู้ลงทุนจะมีโอกาสได้พบปะกับนักพัฒนารุ่นใหม่ที่มีฝีมือ และนักพัฒนาเองก็จะได้พบกับบริษัทที่ต้องการใช้หรือจำหน่ายซอฟต์แวร์ หรือแม้กระทั่งเป็นการแลกเปลี่ยนทักษะและการร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ระหว่างบริษัทคู่ค้าต่างๆ ด้วย”

ในส่วนของสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติซึ่งมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลและดำเนินงานศูนย์ Microsoft Innovation Center ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์เพื่อดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาซอฟต์แวร์ การใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ไมโครซอฟท์ได้จัดเตรียมไว้ให้ รวมถึงการจัดคอร์สฝึกอบรม หรือการสัมมนาให้กับนักพัฒนา บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ และองค์กรต่างๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์แก่บุคลากรที่เข้ามาใช้งาน

นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ CCP กล่าวว่า “ที่ผ่านมา CCP ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้ NSTDA ได้มีการทำงานในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับนวัตกรรมซอฟต์แวร์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีผลงานวิจัยจำนวนมากที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและขยายผลไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ เราหวังว่า Microsoft Innovation Center จะเป็นจุดกำเนิดให้ผลงานวิจัยเหล่านี้สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้และดำเนินการเป็นธุรกิจซอฟต์แวร์ของประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต สิ่งนี้จะทำให้ประเทศเรามีดัชนีความสามารถในการเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี อีกทั้งยังจะเป็นประเทศที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้รับจ้างผลิต หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ทางด้านซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีได้”

ด้านนายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ในฐานะกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย กล่าวถึงประโยชน์ที่สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะได้รับจาก Microsoft Innovation Center ว่า “Microsoft Innovation Center จะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้นักพัฒนา ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่มีฝีมือมีโอกาสได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำงานร่วมกัน ทางสมาคมจะทำการเชื่อมโยงสมาชิกให้ได้เข้ามาใช้บริการและใช้ประโยชน์รวมทั้งร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวง อุตสาหรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่กำลังมองหานักพัฒนาที่มีฝีมือหรือมองหาซอฟต์แวร์แอพลิเคชั่นที่เหมาะสมแก่การนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ขององค์กร หรือแม้แต่ร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์แอพลิเคชั่นให้สมบูรณ์และดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้อย่างครบวงจร”

ในส่วนของสถานที่ตั้งของ Microsoft Innovation Center ซึ่งตั้งอยู่อาคารสาธรธานีนั้น เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยรังสิตวิทยาเขตสาธร โดยในชั้นที่ 6 จะเป็นส่วนของ Microsoft Innovation Center ชั้นที่ 7 จะเป็นส่วนของห้องประชุม และห้องสัมนา และส่วนสุดท้ายในชั้นที่ 8 จะเป็นห้องฝึกอบรม และห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยรังสิตที่มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนนักศึกษาให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และส่งเสริมวิชาการต่างๆ ที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการเป็นนักพัฒนาป้อนสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่อง

ผศ. ดร. นเรศ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งหวังว่า Microsoft Innovation Center จะสามารถเป็นเสมือนห้องทดลองปฏิบัติการสำหรับกลุ่มเยาวชนที่มีความมุ่งหวังและสนใจจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในการเขียนโปรแกรม และฝึกฝนตนเองให้เข้าใจถึงกรรมวิธีการได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนั่นจะทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ และพบเจอประสบการณ์จริงๆ มากกว่าในห้องเรียน และผมหวังว่า Microsoft Innovation Center จะเป็นตลาดแรงงานให้นักศึกษาที่เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้มองหาพาร์ทเนอร์ หรือบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ได้จากที่นี่ เพื่อที่จะเป็นช่องทางในการทำงาน หรือสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเขาได้ต่อไปในอนาคต”

“Microsoft Innovation Center ที่ตั้งในประเทศไทยวันนี้ได้ผ่านการศึกษาและเรียนรู้จากกรณีศึกษาและโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากศูนย์ที่อยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไมโครซอฟท์มุ่งหวังว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งรวมการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ สู่ตลาดซอฟต์แวร์ในระดับโลกต่อไป เราเชื่อว่านักพัฒนาของไทยมีความรู้ความสามารถที่ไม่ด้อยไปกว่าประเทศใดในโลก เพียงแต่อาจจะยังขาดโอกาสและเครื่องไม้เครื่องมือที่สมบูรณ์ในการพัฒนา วันนี้ พวกเขามีสนามทดสอบผลงานและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองแล้ว และเราคาดหวังที่จะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นอย่างมากมายจากที่แห่งนี้” นางสาวปฐมา กล่าว

Microsoft Innovation Center เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ การทำ Proof of Concept ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคในการพัฒนานวัตกรรมและเข้ารับการอบรมสัมมนาต่างๆ ทั้งนี้กิจกรรมแรกที่จะเริ่มดำเนินการที่ Microsoft Innovation Center คือกิจกรรม Microsoft Innovation Day ที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระได้เข้ามาเรียนรู้ถึงการมองหาทีมงานนักพัฒนาที่เหมาะสม โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และรับฟังจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง สำหรับผู้ที่สนใจตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นที่ Microsoft Innovation Center สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ http://www.micthailand.net