“จรัลสนิทวงศ์บริหารธุรกิจ (CSB)” จับมือ ม.ราชภัฏสวนดุสิต เสริมเขี้ยวเล็บระดับ ปวส. ใช้หลักสูตรร่วมการท่องเที่ยว และภาษาต่างประเทศ เตรียมพร้อมต่อยอดปริญญาตรีโดยการยกเว้นหน่วยกิต พร้อมดึง “ตั้งฮั่วเส็ง” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก ร่วมร่างหลักสูตร “สหกิจศึกษา” เชื่อมโยงชุมชนและสถานประกอบการ เพิ่มประสบการณ์ตรงพร้อมให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านนายจ้างจริง
ดร.จักรพันธ์ พรนิมิตร ผู้บริหารโรงเรียนในกลุ่มพณิชยการจรัล- สนิทวงศ์ เปิดเผยถึงการพัฒนาการอีกขั้นของโรงเรียนจรัลสนิทวงศ์บริหารธุรกิจว่า โรงเรียนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในการร่างหลักสูตรระดับ ปวส. สาขาวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว และภาษาต่างประเทศธุรกิจ เพื่อให้รองรับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ของผู้ที่จบ ปวส. ที่ต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาตรีระบบยกเว้นหน่วยกิต
“ปัจจุบันนี้การที่นักศึกษาสายอาชีพจะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้เปิดกว้างมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบการเทียบโอนหรือยกเว้นหน่วยกิตเพื่อเข้าเรียนต่อในหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายวิชาที่จะสามารถทำการเทียบโอนที่ต้องมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันเพื่อให้นักศึกษาประหยัดเวลาในการเรียน ดังนั้นทาง CSB จึงร่วมกับม.ราชภัฏสวนดุสิตพิจารณาหลักสูตรร่วมกันเพื่อเอื้อให้นักศึกษาที่จบปวส.และต้องการจะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมีโอกาสเข้าศึกษาต่อได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เป็นต้นไป นักศึกษา ปวส. CSB ในสาขาวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว และภาษาต่างประเทศธุรกิจของเรา สามารถเทียบโอนหน่วยกิตกับทาง ม.ราชภัฏสวนดุสิตในสาขาวิชาเดียวกันได้ทั้งหมด โดยหลักสูตรดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการวิชาการและสภามหาวิทยาลัยของ ม.ราชภัฏสวนดุสิตแล้ว เป็นการยืนยันได้ถึงคุณภาพและความเข้มข้นของหลักสูตรสาขาวิชาการท่องเที่ยวและภาษาต่างประเทศของ CSB ที่ใช้ในการเรียนการสอนร่วมกันในครั้งนี้”
นอกจากนี้ทางจรัลสนิทวงศ์บริหารธุรกิจยังได้ปรับระบบการเรียนการสอนมาเป็นระบบ “สหกิจศึกษา” ที่ทาง CSB ได้ร่วมกับ บริษัทสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด ร่างหลักสูตรใหม่เพื่อให้นักศึกษาได้เชื่อมโยงความรู้กับชุมชนและสถานประกอบการจริง
“CSB ได้ปรับหลักสูตรจากเดิมที่ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก มาใช้หลักสูตร “สหกิจศึกษา” ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชุมชนและสถานประกอบการ โดยร่วมมือกับชุมชนและสถานประกอบการใกล้เคียงสถาบันในการร่วมร่างหลักสูตร และเชิญผู้บริหารของสถานประกอบการเข้ามาเป็นวิทยากร รวมถึงที่ปรึกษาโครงการของนักศึกษา เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยเข้ากับสถานการณ์จริงและตัวนักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้โลกของระบบการทำงานจริง ที่มีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ที่มีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา โดยปัจจุบันเราได้ร่วมมือกับ “ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง” ในการร่างหลักสูตรสาขาวิชาการบัญชี การตลาด และคอมพิวเตอร์”
ทางด้านคุณจาตุรงค์ พรพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มกิจกรรมสัมพันธ์ บริษัทสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด กล่าวถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตรนี้ว่า “ ทางตั้งฮั่วเส็งมีความยินดีที่ประสบการณ์ทางด้านการบริหารงานห้างสรรพสินค้าของเราได้มีส่วนช่วยยกระดับการเรียนการสอนของที่นี่ โดยเฉพาะนักศึกษาสายวิชาชีพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรของเราหรือผู้ประกอบการค้าปลีกอื่นๆ ในภาพรวม ซึ่งเป็นที่ทราบกับว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เน้นหลักทฤษฎีนั้นแตกต่างจากระบบการทำงานจริง แต่การร่วมร่างหลักสูตรของสถานประกอบการจริงทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้กับโลกแห่งการทำงานจริงมากขึ้น มีการนำระบบการทำงานจริงมาใช้ในการเรียนการสอน เมื่อนักศึกษาก้าวเข้าสู่สายการทำงานจริงทำให้เรียนรู้ได้เร็วกว่าและไม่ต้องปรับตัวในการทำงานมากนัก”
โดยปัจจุบันผู้บริหารของตั้งฮั่วเส็ง ได้เข้ามาสอนเป็นวิทยากร รวมถึงเป็นที่ปรึกษาโครงการต่างๆ ให้กับนักศึกษาจรัลสนิทวงศ์บริหารธุรกิจ ส่วนสาขาวิชาอื่นๆ นั้นก็จะปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทาบทาม เช่น สาขาวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว ที่กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งทางโรงเรียนมีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ครบทุกสาขาวิชา ผู้บริหารจรัลสนิทวงศ์บริการธุรกิจเสริม
นอกจากนี้ ดร.จักรพันธ์ ยังได้ฝากถึงนักศึกษาที่พลาดจากการสอบ Admission ว่าอยากให้ปรับทัศนคติว่า เรียนในสายวิชาชีพก็สามารถเรียนต่อปริญญาตรีได้ และยังจะได้เปรียบเรื่องวุฒิการศึกษา ที่ได้ทั้งวุฒิ ปวส. และปริญญาตรี และยังเป็นจุดขายถึงความสามารถในการทำงานสายอาชีพได้ และผู้ที่มาเรียนในสายวิชาชีพก็ไม่ได้มีความสามารถด้อยไปกว่าผู้ที่เรียนในสายวิชาสามัญ เพราะผู้เรียนมีความถนัดต่างกัน และที่ผ่านมาตลาดแรงงานต้องการผู้ที่มีทักษะความรู้ในสายวิชาชีพมากกว่า
พร้อมกันนี้ ดร.จักรพันธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงค่าเล่าเรียนที่ยังคงยืนหยัดในราคาเดิมและยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐในด้านต่างๆ เช่นกัน โดยนักศึกษาระดับ ปวช. ได้รับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวจากรัฐบาลปีละ 10,147 บ. และระดับ ปวส. สามารถกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจาก(กยศ.) ได้เช่นกัน นอกจากนี้โรงเรียนยังมีหลักสูตร ปวส. แบบเทียบโอนหน่วยกิต สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานสำหรับผู้ที่อยู่ในสายวิชาชีพที่ต้องการเรียนเพิ่มเติมความรู้และปรับวุฒิการศึกษาให้สูงขึ้น ทำให้ประหยัดเวลา โดยปัจจุบันเปิดสอนใน 4 หลักสูตรคือ บัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการจัดการ โดยจัดเวลาเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนทั้งนี้โรงเรียนในกลุ่มพณิชยการจรัลสนิทวงศ์จะมุ่งมั่น พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานและผู้ประกอบการต่อไป
นักศึกษาที่สนใจสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนจรัลสนิทวงศ์บริหารธุรกิจและโรงเรียนในกลุ่มพณิชยการจรัลสนิทวงศ์ สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.csb.ac.th หรือโทรศัพท์ 02-434-6155-7 โดยเปิดรับผู้ที่จบ ม. 3 เข้าเรียนระดับ ปวช. และผู้จบ ม.6 หรือ ปวช. เข้าเรียนระดับ ปวส.