ถึงแม้ว่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ จะสามารถขยายสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ที่ผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตของสินเชื่อ 8.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากอัตรา 5.61% ณ สิ้นปี 2550 แต่ ในขณะเดียวกัน สินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ก่อนหักสำรอง (Gross NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ก็มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2550 เช่นกัน โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 4.42 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 4.53 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2551 อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม จะพบว่าเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมได้ปรับตัวลดลงจาก 7.81% ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 7.31% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์สามารถขยายสินเชื่อได้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล
หากพิจารณาในเชิงของสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมแล้ว ทำให้ดูเสมือนว่าปัญหาเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย ไม่ได้ถดถอยมากนัก และยังน่าจะอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ แต่หากพิจารณาในเชิงปริมาณเอ็นพีแอลแล้ว จะพบว่าข้อมูลดังกล่าวมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย ตลอดจนข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
ปริมาณเอ็นพีแอลไตรมาสแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นในธนาคารพาณิชย์ทุกกลุ่ม และมาจากลูกหนี้ภาคธุรกิจ โดยหากจำแนกออกเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยและธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) จะพบว่า แม้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2551 จะลดลงจากสิ้นปี 2550 แต่ปริมาณเอ็นพีแอลของทุกกลุ่มธนาคารยังคงปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2551
ขณะที่ในปี 2550 นั้น ปริมาณเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่กลุ่มธนาคารขนาดกลาง รวมทั้ง ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยและ Subsidiary เท่านั้น
หากจำแนกตามประเภทธุรกิจ พบว่า การเพิ่มขึ้นของมูลค่าเอ็นพีแอลในไตรมาสแรกของปี 2551 มาจากลูกหนี้สินเชื่อที่เป็นนิติบุคคล หรืออยู่ในภาคธุรกิจ โดยมีมูลค่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 3.99 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 4.12 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ นำโดยลูกหนี้สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรม ตามมาด้วย การธนาคารและธุรกิจการเงิน การพาณิชย์ การเกษตร ประมงและป่าไม้ รวมทั้งภาคบริการ ขณะที่ เอ็นพีแอลของลูกหนี้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ลดลงจาก 5.82 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 5.77 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรูปสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม ปรากฏว่า สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีทิศทางที่ลดลงจากสิ้นปี 2550 อันเป็นผลจากการเร่งขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม
เอ็นพีแอลไหลย้อนกลับยังคงเป็นปัญหา เอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ (Re-entry NPLs) ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในไตรมาสแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา โดยในไตรมาสแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา เอ็นพีแอลไหลย้อนกลับมีจำนวน 1.72 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.65 หมื่นล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเป็นรายปี จะพบว่า เอ็นพีแอลไหลย้อนกลับของปี 2550 มีจำนวน 7.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 7.6 หมื่นล้านบาทในปี 2549 เช่นกัน
สำหรับเอ็นพีแอลรายใหม่ (New NPLs) นั้น มีมูลค่าลดลงในไตรมาสแรกของปี 2551 โดยมีจำนวน 3.92 หมื่นล้านบาท เทียบกับ 4.02 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2550 ในทำนองเดียวกัน เมื่อพิจารณาในรูปสัดส่วนเอ็นพีแอลรายใหม่ต่อยอดคงค้างของสินเชื่อดี (Performing Loans) ในงวดก่อนหน้า จะพบว่ามีสัดส่วนที่ลดลงจาก 3.9% ในปี 2550 มาที่ 3.0% (Annualized) ในไตรมาสแรกของปีนี้
หนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น…ชี้ถึงโอกาสที่เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ นอกเหนือจากการประเมินคุณภาพหนี้โดยพิจารณาจากเอ็นพีแอล หรือหนี้ที่จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ชั้นสงสัย รวมถึงชั้นสงสัยจะสูญและสูญ (มีการค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป) ซึ่งเป็นการวัดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว (Lagging Indicators) นั้น การพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวของหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (มีการค้างชำระหนี้มากกว่า 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน) สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดล่วงหน้า (Leading Indicator) ถึงแนวโน้มเอ็นพีแอลในอนาคตอันใกล้ได้ ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2551 จำนวนหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของธนาคารพาณิชย์ไทย (จำนวน 12 แห่ง ) มีจำนวน 1.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.51 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 และ 1.13 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 ขณะเดียวกัน สัดส่วนหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษต่อหนี้จัดชั้นรวมก็มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2.3% ณ สิ้นปี 2549 และ 2.9% ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 3.4% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ อันชี้ถึงโอกาสที่จำนวนเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า
หลากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องจับตา “ปัญหาคุณภาพหนี้” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในไตรมาสแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา หนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษมีจำนวนและสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณลบสำหรับคุณภาพลูกหนี้ในอนาคตอันใกล้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นจะต้องจับตาลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นพิเศษ รวมไปถึงลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลากหลายประการ ดังนี้
o การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ตามการขยับขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง ราคาวัตถุดิบ ตลอดจน ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไม่สามารถส่งผ่านผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ออกมาในรูปของการปรับเพิ่มราคาสินค้า การปรับกลยุทธ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือเพิ่มยอดขาย ก็อาจทำให้รายได้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ผู้บริโภคอาจกำลังอยู่ในช่วงรัดเข็มขัดและประหยัดการใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการตามมา
o การขยับขึ้นของค่าครองชีพ อันเป็นผลจากราคาสินค้า และภาระค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา จะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนข้าราชการ และเบี้ยยังชีพให้กับลูกจ้างของบริษัทเอกชนหลายแห่ง แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าครองชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจถูกใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าได้อีกในรอบถัดไป เงื่อนไขที่บีบคั้นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคได้
o การที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้โดยตรง โดยในการประชุมนโยบายการเงินของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา กนง.ได้แสดงความกังวลมากขึ้นต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อ และมีท่าทีที่พร้อมจะดำเนินนโยบายที่เหมาะสม (ซึ่งอาจหมายถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) หากเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสเพิ่มขึ้นจนสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ แม้ว่า ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะคาดว่า ธปท. คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันและราคาสินค้า-บริการที่ทะยานขึ้น แต่อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ที่ปรับตัวขึ้นแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา ย่อมจะหมายถึงต้นทุนการระดมทุนของผู้ที่ต้องการเงินทุนที่ได้ขยับขึ้นไปรอแล้ว
โดยสรุป แม้ว่าในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีการกันสำรอง เพื่อรองรับโอกาสถดถอยของคุณภาพหนี้ ในระดับสูง โดยมีสัดส่วนการกันสำรองเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.ถึง 1.23 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2551 อีกทั้งมีเงื่อนไขการกันสำรองที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หลังจากที่ ธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกันสำรองสำหรับหนี้เสียตามเกณฑ์ IAS39 ให้เสร็จสิ้นภายในช่วงสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมา ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งมีแผนที่จะขายหนี้เสียเพิ่มเติมในช่วงระหว่างปีที่คาดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อผนวกกับความคืบหน้าในการขยายสินเชื่อเพิ่มเติม ก็คงทำให้ท้ายที่สุดแล้ว สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ปรากฏในงบการเงิน น่าจะลดลงในช่วงสิ้นปี 2551 แต่ข้อมูลเอ็นพีแอลในไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ได้บ่งชี้ถึงสัญญาณเตือนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น (สวนทางกับสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ลดลง เพราะการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตขึ้นเร็วกว่า) โดยเฉพาะจากสินเชื่อภาคธุรกิจ ขณะที่ เอ็นพีแอลย้อนกลับ (Re-entry NPLs) ยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ผลักดันให้เอ็นพีแอลปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (ที่มีระยะเวลาการค้างชำระหนี้มากกว่า 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน) ยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชี้ถึงโอกาสที่เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระหว่างปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจรอซ้ำเติมลูกหนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพ อันเป็นผลจากราคาสินค้า พลังงาน และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจน ความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับตัวสูงขึ้น หากเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ด้านคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้เสียขยายวงกว้าง จนบั่นทอนศักยภาพในการทำกำไรในอนาคต