พืชพลังงานของไทย: ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพลังงานทดแทนในอนาคต

ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้สนับสนุนและให้ความสำคัญในการพัฒนาพลังงานทดแทนกันมากขึ้นเพื่อช่วยลดสัดส่วนการพึ่งพิงน้ำมันปิโตรเลียมที่มีแนวโน้มว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พลังงานทดแทนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้คือ เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) ซึ่งผลิตได้จากผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และข้าวโพด เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลกระทบจากแรงกดดันของสถานการณ์ราคาน้ำมันดังกล่าวที่เกิดขึ้น เริ่มส่งผลทำให้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญของโลกขณะนี้ กล่าวคือ การผลิตพืชเกษตรแต่เดิมผลิตเพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารทั้งเพื่อเป็นอาหารของคนโดยตรง นำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์และเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการเกษตรต่างๆ แต่ปัจจุบันพื้นที่ทำการเกษตรกลับถูกนำไปปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสความต้องการนำพืชพลังงานมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพมีมากขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกต่างหวาดวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านอาหารที่กำลังเกิดขึ้นและกลายเป็นหัวข้อสำคัญซึ่งถกเถียงกันในเวทีโลก และต่างเร่งหาทางออกร่วมกันก่อนที่วิกฤตด้านอาหารและวิกฤตด้านพลังงานจะส่งผลร้ายแรงต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ตลาดพลังงานชีวภาพของโลก

เชื้อเพลิงชีวภาพที่จะกล่าวถึงในที่นี้ประกอบด้วย 2 ประเภทหลัก คือ เอทานอล และไบโอดีเซล ทั้งนี้เอทานอลส่วนใหญ่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลัง ส่วนไบโอดีเซลใช้วัตถุดิบจากปาล์มน้ำมันเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีพืชประเภทอื่นๆ ที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพได้ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าว ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวสาลี สบู่ดำ และเรพซีด (Rapeseed) เป็นต้น

ในปี 2550 การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของโลกยังคงมีสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับการผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีมากกว่า 1,200 พันล้านลิตร อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในระยะเวลา 15-20 ปีข้างหน้าการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะมีบทบาทในการทดแทนน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณการใช้น้ำมันจากฟอสซิลทั่วโลก สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของโลกในปัจุบันแบ่งเป็นสัดส่วนการผลิตเอทานอลร้อยละ 93 และที่เหลือร้อยละ 7 เป็นไบโอดีเซล

ตลาดเอทานอล

เอทานอล ที่ผลิตจากวัตถุดิบจากพืชพลังงานชนิดต่างๆ จำนวน 1 ตัน จะให้ผลผลิตเอทานอลที่แตกต่างกัน สำหรับวัตถุดิบที่ให้ผลผลิตเอทานอลสูงที่สุดคือ ข้าวและข้าวโพด รองลงมาเป็น กากน้ำตาล และหัวมันสำปะหลังสด

การผลิตเอทานอลในตลาดโลกมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี สำหรับปี 2550 มีปริมาณการผลิตประมาณ 13.1 พันล้านแกลลอน โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่คือ สหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 49.6 รองลงมาเป็นบราซิลร้อยละ 38.3 สหภาพยุโรปร้อยละ 4.4 จีนร้อยละ 3.7 แคนาดาร้อยละ 1.6 ไทยร้อยละ 0.6 อินเดียร้อยละ 0.4 ออสเตรเลียร้อยละ 0.2 และประเทศอื่นๆ ร้อยละ 1.2 ด้านการนำเข้าเอทานอล สำหรับประเทศสหรัฐฯ ถือเป็นผู้นำเข้าเอทานอลรายสำคัญคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของปริมาณการนำเข้าเอทานอลรวมทั้งโลก ส่วนใหญ่นำเข้าจากบราซิล ส่วนผู้นำเข้าเอทานอลรายอื่นๆ ของโลก ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เป็นต้น

ตลาดไบโอดีเซล

ไบโอดีเซล การนำไบโอดีเซลไปใช้ส่วนใหญ่นำไปผสมกับน้ำมันดีเซล ไบโอดีเซลเริ่มมีการผลิตในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2533 การผลิตไบโอดีเซลของโลกในปี 2550 มีปริมาณ 3.7 พันล้านลิตร มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 33 ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา การผลิตไบโอดีเซลยังคงมีสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 0.2 ของความต้องการบริโภคน้ำมันดีเซลรวมของโลก ทั้งนี้สหภาพยุโรปเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่ของโลกมีสัดส่วนร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตไบโอดีเซลของโลก โดยเยอรมนีเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดสัดส่วนร้อยละ 53 ของการผลิตไบโอดีเซลรวมของโลก รองลงมา คือ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา สัดส่วนร้อยละ 15 และ 8 ตามลำดับ

ตลาดพลังงานชีวภาพของไทย

ความต้องการเอทานอลในไทยขยายตัวตามปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2548 ปริมาณการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณเฉลี่ย 1.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 และ 4.2 ล้านลิตร/วันในปี 2549 และปี 2550 ส่วนปริมาณจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน ณ 31 มีนาคม 2551 ไทยมีปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ 91 และ E 20 รวมกันประมาณ 7.4 ล้านลิตร/วัน โดยมีสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันดังกล่าวจำนวน 3,963 แห่ง

ปัจจุบันรัฐบาลใช้กลไกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 95 ประมาณลิตรละ 4 บาท เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มมากขึ้น ส่วนของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ภาครัฐได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มากขึ้นเช่นกัน โดยใช้กลไกชดเชยราคาเช่นเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 3.70 บาท ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนใช้แก๊สโซฮอล์ E 20 เริ่มออกมาจำหน่ายตั้งแต่ต้นปี 2551 แต่ยังมีข้อจำกัดด้านสถานีจำหน่ายและสามารถตอบสนองรถยนต์ได้เฉพาะบางรุ่น ทั้งนี้ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมัน E20 เพิ่มขึ้นโดยการรักษาส่วนต่างของราคาแก๊สโซฮอล์ E 20 ให้มีราคาจำหน่ายต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 ถึงลิตรละ 6 บาท รวมทั้งมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E 20 ด้วย ล่าสุดกระทรวงพลังงานเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการใช้ E 85 ให้เร็วขึ้นภายในปี 2551-2552 จากเป้าหมายเดิมในปี 2555 โดยรัฐอาจจะเข้าไปชดเชยส่วนต่างของราคา E 85 ให้ต่างจากน้ำมันเบนซิน 95 ถึงลิตรละ 10 บาท

ที่ผ่านมาการผลิตเอทานอลยังคงมีปริมาณเกินกว่าความต้องการใช้ จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเดือนเมษายน 2551 โรงงานที่ผลิตเอทานอลจริงมีจำนวน 8 ราย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.3 ล้านลิตร/วัน จากจำนวนโรงงานเอทานอลที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 45 ราย ขณะที่ปริมาณการใช้เอทานอลจริง ณ เดือนมีนาคม ปี 2551 อยู่ที่ 7.4 แสนลิตร/วัน (คิดเทียบจากปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์รวมกันประมาณ 7.4 ล้านลิตร/วัน) ทำให้สต็อกเอทานอลของไทย ณ เดือนมีนาคม 2551 มีปริมาณรวม 49 ล้านลิตร ซึ่งเป็นสต็อกของบริษัทค้าน้ำมันและผู้ผลิตเอทานอล สำหรับราคาซื้อขายเอทานอลในประเทศกำหนดโดยอ้างอิงราคาเอทานอลของตลาดบราซิลเป็นหลัก สำหรับเดือนพฤษภาคม ปี 2551 ราคาเอทานอลลดลงมาอยู่ที่ 17.54 บาท/ลิตร จากเดิมเดือน มกราคม 2550 มีราคา 25.30 บาท/ลิตร

ในส่วนของกระทรวงพลังงานวางเป้าหมายการผลิตเอทานอลปี 2551 และปี 2552 อยู่ที่ 2.7 และ 3.8 ล้านลิตร/วัน ขณะเดียวกันได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ โดยตั้งเป้าหมายศักยภาพการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของไทยในปี 2554 รวม 5.4 ล้านลิตร/วัน ซึ่งแบ่งเป็นเป้าหมายการใช้เอทานอล 2.4 ล้านลิตร/วัน และเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลรวม 3.0 ล้านลิตร/วัน

ความต้องการใช้ไบโอดีเซลในประเทศเพิ่มจากการส่งเสริมไบโอดีเซล B 2 และ B 5 ของภาครัฐ

ผลจากมาตรการบังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B 100 ผสมในน้ำมันดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 2 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป ทำให้มีการปริมาณใช้ไบโอดีเซล B 100 ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน (คิดเทียบจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล 50 ล้านลิตร/วัน) ดังนั้น คาดการณ์ว่า ปี 2554 ปริมาณความต้องการใช้ไบโอดีเซล B100 จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว คิดเป็นปริมาณการใช้กว่า 3.0 ล้านลิตร/วัน เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B 2 และ น้ำมันไบโอดีเซล B 5 น่าที่จะยังคงมีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในปัจจุบันภาครัฐกำหนดราคาน้ำมันดีเซล B 5 ให้มีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณ 0.70 บาท/ลิตร ทำให้ในเดือนมีนาคม ปี 2551 ปริมาณจำหน่ายไบโอดีเซล B 5 เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านลิตร/วัน จากปี 2550 ซึ่งมีปริมาณจำหน่ายเฉลี่ยเพียง 1.7 ล้านลิตร/วัน สำหรับราคาไบโอดีเซล B 100 อ้างอิง ณ วันที่ 27 พฤษภาคม2551 ซึ่งภาครัฐกำหนดอยู่ที่ 37.94 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคา 29.62 บาท/ลิตร
ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตไบโอดีเซล (เดือน มีนาคม 2551) จำนวน 9 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 2.2 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล B 100 โดยมีการผลิตจริงเฉลี่ย 1.3 ล้านลิตร/วัน และคาดว่า จำนวนโรงงานผลิตไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นจากจำนวน 9 โรงเป็น 21 โรงภายในปี 2552 และมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณ 5.3 ล้านลิตร/วันภายในปีหน้า

ยุทธศาสตร์ส่งเสริมเอทานอลและไบโอดีเซลของรัฐ..รองรับความยั่งยืนด้านพลังงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลและไบโอดีเซลของไทย รวมถึงพิจารณาปัญหาอุปสรรคของธุรกิจและเสนอประเด็นสำคัญซึ่งควรเร่งดำเนินการ โดยพิจารณาปัจจัยหลัก 4 ด้านประกอบด้วย ด้านวัตถุดิบ ด้านการผลิต ด้านตลาด และด้านนโยบายของภาครัฐ ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นการพิจารณาด้านต่างๆ ดังนี้

วัตถุดิบ สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมด้านวัตถุดิบโดยเฉพาะผลผลิตกากน้ำตาลและมันสำปะหลังซึ่งสามารถนำมาผลิตเอทานอลได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้โรงงานผลิตเอทานอลของไทยส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาลเป็นหลัก ส่วนจำนวนโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังมีน้อย และปัจจุบันเผชิญปัญหาวัตถุดิบมันสำปะหลังมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาวัตถุดิบจากกากน้ำตาลมีแนวโน้มลดลง ส่วนการผลิตไบโอดีเซลจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมัน ซึ่งไทยยังคงมีศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันด้อยกว่าประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม ภาครัฐกำลังดำเนินการวางเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง และปรับปรุงประสิทธิภาพผลผลิตปาล์มต่อไร่เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้เทคโนโลยีการปลูกปาล์มของต่างประเทศซึ่งจะให้ไทยสามารถเพิ่มผลผลิตปาล์มให้มากขึ้น ขณะที่ผลผลิตอ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันของไทยยังประสบปัญหาปริมาณผันผวนตามสภาพดินฟ้าอากาศและราคาผลผลิตที่ขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานทั้งตลาดต่างประเทศและภายในประเทศ ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการคือ ควรเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกและส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น รวมทั้งการวางนโยบายที่ชัดเจนโดยการจัดโซนนิ่งในการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด โดยเฉพาะการปลูกพืชที่เป็นอาหารกับการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทนเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีชีวภาพมาปรับใช้ในการเพิ่มผลผลิตพืชพลังงานได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในการเข้าไปลงทุนปลูกพืชในประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบ Contract Farming ให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การผลิต ปริมาณการผลิตเอทานอลของไทยมีมากกว่าปริมาณความต้องการใช้ ทั้งนี้จากการประเมินปริมาณความต้องการใช้และปริมาณการผลิตเอทานอล พบว่า จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตผลิตเอทานอลจำนวน 45 ราย มีกำลังการผลิตรวม 12 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตเอทานอลจริงขณะนี้อยู่ที่ 1.3 ล้านลิตร/วัน และเป้าหมายปี 2551 และ 2552 คาดว่า จะมีปริมาณการผลิตเอทานอล 2.7 และ 3.8 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลปัจจุบันอยู่ที่ 7.4 แสนลิตร/วัน และรัฐตั้งเป้าหมายการใช้เอทานอลอยู่ที่ 2.4 ล้านลิตร/วันภายในปี 2554 ซึ่งจะเห็นได้ว่าไทยมีศักยภาพการผลิตอยู่มาก สำหรับผลผลิตเอทานอลส่วนเกินที่เหลือใช้ในการส่งออก สำหรับปี 2550 ไทยส่งออกเอทานอล 14 ล้านลิตร และในช่วง 2 เดือนแรกปี 2551 มีปริมาณการส่งออกเอทานอลสูงถึง 10 ล้านลิตร โดยมีประเทศที่ผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สิงคโปร์ สหภาพยุโรป ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และไต้หวัน เป็นต้น สำหรับการผลิตไบโอดีเซลยังคงมีปัญหาจากคุณภาพการผลิต เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ขณะที่ไทยยังคงเผชิญปัญหาสำคัญจากราคาวัตถุดิบในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลของไทยสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานต้นทุนในต่างประเทศ โดยเอทานอลมีตลาดบราซิลเป็นมาตรฐาน ส่วนราคา B 100 นั้นอ้างอิงจากราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาของตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้งนี้แม้ว่าผู้ผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล B 100 ของไทยไม่ได้ประสบกับภาวะขาดทุน แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการควรเร่งวางแผนบริหารจัดการปริมาณการผลิตและความต้องการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถวางแผนการเพาะปลูกพืชพลังงานได้อย่างถูกต้อง และศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลจากวัตถุดิบแต่ละชนิดเพื่อให้เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์การใช้พลังงานทดแทนของไทย ขณะเดียวกันก็เร่งระบายสต๊อกโดยการเฉพาะการส่งเสริมการส่งออกเอทานอลไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ในขณะที่การผลิตปัจจุบันยังมากกว่าระดับการใช้ในประเทศ

การตลาด ตลาดภายในประเทศเองแนวโน้มปริมาณการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลยังขยายตัวได้อีกมาก สำหรับแนวทางที่ภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้วคือ การรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลมากขึ้น โดยใช้กลไกส่วนต่างของราคาเป็นแรงจูงใจให้คนหันมานิยมใช้มากขึ้น รวมทั้งเร่งขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ตลอดจนศึกษาแนวทางการส่งเสริมเอทานอลและไบโอดีเซลของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของไทยต่อไป

นโยบาย ประเด็นซึ่งภาครัฐกำลังดำเนินการคือ การกำหนดแผนแม่บทด้านพลังงานทดแทนระยะเวลา 15 ปี (ปี 2551-ปี 2565) โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเด็นสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ คือ การวางกรอบนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการส่งเสริมการผลิตการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งจะครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การผลิต การตลาด และการวิจัยพัฒนาเอทานอลและไบโอดีเซล โดยอาศัยความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ซึ่งการประสานด้านข้อมูลและการดำเนินงานระหว่างกันเพื่อให้สามารถกำหนดความต้องการใช้และอุปทานผลผลิตที่ชัดเจน และทำให้สามารถกำหนดมาตรการรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ภายใน 4 ปี ข้างหน้าภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตพืชพลังงานที่สำคัญของโลก โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตพืชพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงการคลังสนับสนุนงบประมาณ 25,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันนโยบายพืชพลังงานให้เป็นรูปธรรม และล่าสุดภาครัฐมีนโยบายนำที่ดินทิ้งร้างจากส่วนราชการมาแจกจ่ายให้เกษตรกรเช่าพื่อปลูกพืชพลังงานทดแทน โดยคิดค่าเช่าในอัตรา 20 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งกำหนดให้เช่าที่ดินนานถึง 30 ปี ตลอดจนประสานความร่วมมือกันระหว่างโรงงานผู้ผลิต ผู้ค้าน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ สถาบันการเงินต่างๆ และผู้บริโภค ซึ่งนโยบายต่างๆ ในการสนับสนุนการปลูกพืชพลังงานของรัฐบาลถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมของไทยในอนาคต

บทสรุป

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่หยุดยั้ง ทำให้หลายประเทศต่างหันมาสนใจพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังโดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจและกำลังกลายเป็นปัญหาที่สำคัญขณะนี้คือ การแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกระหว่างพืชที่เป็นอาหาร และพืชที่ใช้ผลิตเป็นพลังงานจนทำให้เกิดวิกฤตด้านอาหารและวิกฤตด้านพลังงานไปทั่วโลก เนื่องจากกระแสความต้องการนำพืชไปผลิตเป็นพลังงานมีมากขึ้น สำหรับไทยเองมีศักยภาพและความพร้อมในการปลูกพืชพลังงานที่สำคัญโดยเฉพาะอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งทำให้ไทยสามารถนำมาต่อยอดการผลิตให้เกิดการเชื่อมโยงกันในอุตสาหกรรมเอทานอลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตและการใช้เอทานอลให้มากขึ้น สำหรับการผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันของไทยยังมีศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันต่ำกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม ภาครัฐกำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่มากขึ้นต่อเนื่องโดยการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพผลผลิตปาล์มต่อไร่เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มดิบมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้เทคโนโลยีการปลูกปาล์มของต่างประเทศ

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการวางกรอบนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิตการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลอย่างเหมาะสมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยพิจารณาครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ทั้งด้านวัตถุดิบ การผลิต การตลาดและการวิจัยพัฒนา โดยอาศัยการประสานกันของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม รวมทั้งความร่วมมือกันระหว่างโรงงานผู้ผลิต ผู้ค้าน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ สถาบันการเงินต่างๆ ตลอดจนผู้บริโภค ในการช่วยผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืนเพื่อรองรับความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศในอนาคต?