เอสเอ็มอีไทยกว่า 2.3 ล้านรายทั่วประเทศ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ส่งผลต่อการเพิ่ม GDP โดยรวมของประเทศ ปัจจุบันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลิตที่ปรึกษาธุรกิจได้เพียงไม่กี่ร้อยคนต่อปี คณะที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย (APEC IBIZ 4) จึงเตรียมผุดโครงการสร้าง ที่ปรึกษา เอสเอ็มอี ประจำจังหวัด เพื่อเป็นเครือข่ายและศูนย์กลางในการเชื่อมโยงในการประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ โครงการพัฒนาเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจ
นายวิริยะ ลิขิตวงศ์ กรรมการบริหาร คณะที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย เปิดเผยว่า จากแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 2 ( พ.ศ. 2550 – 2551 ) ของ สสว. ที่ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลัก ในการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย มีอยู่หนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ การส่งเสริม เอสเอ็มอี ในภูมิภาค และท้องถิ่น ซึ่งตรงกับแนวความคิดในการดำเนินงานของคณะที่ปรึกษาธุรกิจฯ ที่มีแผนการจะสร้าง ที่ปรึกษาธุรกิจ สำหรับ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะประจำจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 เครือข่าย เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงาน และเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ
“ ปัจจุบัน คณะที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย สามารถผลิตที่ปรึกษา เอสเอ็มอี ได้ปีละ ประมาณ 100 คน จากงบประมาณของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ที่ปรึกษาเหล่านี้ยังคงกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เช่น โคราช อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ชลบุรี ระยอง และหาดใหญ่ เป็นต้น เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้มีผู้ประกอบการโรงงานเอสเอ็มอี เป็นจำนวนมาก โครงการสร้างที่ปรึกษาเอสเอ็มอีประจำจังหวัด จะแบ่งการสร้าง ที่ปรึกษา เป็นระดับภูมิภาคก่อนที่จะลงลึกเป็นระดับท้องถิ่นคือจังหวัด และที่ปรึกษาเอสเอ็มอีประจำจังหวัด จำเป็นต้องเป็นคนในพื้นที่ เพราะจะทราบปัญหาต่างๆของเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จะสามารถสร้างที่ปรึกษาเอสเอ็มอี ประจำจังหวัดครบทั้ง 72 จังหวัด ทั่วประเทศไทย ” นายวิริยะ กล่าว