ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2551 และมีการคาดคะเนว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ราคายางยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลงเนื่องจากเกิดภาวะฝนตกหนักในแหล่งผลิตสำคัญเช่นเดียวกับในปี 2550 ทำให้บรรดาประเทศผู้ใช้ยางต่างกังวลว่ายางจะขาดตลาดจึงเข้ามารับซื้อยางเก็บเข้าสต็อก โดยมีแนวโน้มว่าในช่วงเดือนมิถุนายน 2551 ราคายางอาจจะทำลายสถิติที่เคยพุ่งสูงถึงเกือบกิโลกรัมละ 100 บาทในช่วงเดือนมิถุนายน 2549
ส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัว…ปัจจัยสำคัญดันราคายางพุ่ง
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติมากที่สุดของโลก มีสัดส่วนการผลิตเป็นร้อยละ 34.0 ของผลผลิตยางของโลก และส่งออกร้อยละ 47.0 ของการส่งออกยางโลก อย่างไรก็ตามร้อยละ 90.0 ส่งออกในรูปของวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ทำให้ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นสำคัญ ความต้องการยางธรรมชาติเป็นความต้องการต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางซึ่งประมาณร้อยละ 60.0 ของการใช้ยางธรรมชาติทั้งหมดใช้ในอุตสาหกรรมยานพาหนะ ความต้องการใช้ยางธรรมชาติจึงขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้นการขยายตัวของการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคายางในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแยกพิจารณา เป็น 2 ประเภท คือ ยางแปรรูปขั้นต้น มูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 เท่ากับ 2,266.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 แม้ว่าการส่งออกยางแท่งมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก แต่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นอื่นๆมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางแผ่นและน้ำยางข้น ส่วนผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 เท่ากับ 1,417.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 โดยผลิตภัณฑ์ยางทุกประเภทมีการขยายตัวในการส่งออกอย่างมาก
นอกจากปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของการส่งออกแล้ว ปัจจัยหนุนอื่นๆที่มีส่วนผลักดันให้ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่
-ปริมาณการใช้ยางยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2550 โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
-ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคายางสังเคราะห์ซึ่งใช้ทดแทนยางธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์สูง จึงดึงให้ราคายางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
-การเข้ามาเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ของกองทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ไทยไม่สามารถควบคุมราคาเองได้ โดยขึ้นอยู่กับตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในสิงคโปร์และโตเกียว (SICOM/TOCOM) เป็นหลัก ซึ่งราคาในตลาดทั้งสองแห่งนี้จะเป็นดัชนีที่จะชี้นำตลาดยางในอนาคต
แนวโน้มครึ่งหลังปี’51…ราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
แนวโน้มของอุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยางในปี 2551 คาดว่าราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 80–90 บาท เนื่องจากความต้องการยางพาราในตลาดโลก และความต้องการใช้ยางในการผลิตยางยานพาหนะภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น จากการที่ภาครัฐให้การส่งเสริมขยายฐานการผลิตรถยนต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่มีบริษัทผู้ผลิตยางยานพาหนะชั้นนำของโลกหลายรายได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย
ประเด็นที่อยู่ในความสนใจคือ ราคายางในช่วงครึ่งหลังปี 2551 เริ่มชะลอการพุ่งขึ้นของราคา หลังจากในเดือนมิถุนายนนี้ ราคายางอาจจะสูงเกือบแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งน่าจะสูงกว่าราคายางในช่วงเดือนมิถุนายน 2549 แต่หลังจากนั้นอาจจะไม่พุ่งขึ้นมากนัก รวมทั้งมีโอกาสผันผวน กล่าวคือ ในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นช่วงที่ผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดมาก (ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง) ซึ่งจะลดความวิตกเรื่องยางจะขาดตลาด ทำให้ประเทศผู้ซื้อยางไม่ต้องเร่งรีบในการเข้ามาซื้อยาง ประเทศผู้ซื้อยางชะลอการนำเข้า เนื่องจากมีปริมาณยางในสต็อกเพียงพอจากการที่เข้ามาซื้อยางตั้งแต่ช่วงต้นปี รวมทั้งบรรดากองทุนต่างประเทศหันไปซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากไม่สามารถผลักดันให้ราคายางสูงไปกว่าปัจจุบัน ทำให้โอกาสในการทำกำไรเหลือน้อยลง
ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ
-ราคายางธรรมชาติในปี 2551 นั้นอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าที่เคยมีการคาดการณ์กันไว้ กล่าวคือ ทาง EIU ปรับการคาดการณ์ดัชนีราคายางธรรมชาติในปี 2551 เป็น 261.6 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เนื่องจากการเติบโตของความต้องการยางธรรมชาติที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าการขยายตัวของปริมาณการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ยังคงขยายตัว แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม รวมทั้งความผันแปรของสภาพอากาศส่งผลกระทบทำให้ปริมาณการผลิตไม่แน่นอน ประเทศผู้ใช้ยางจึงยังคงเพิ่มปริมาณการซื้อยาง เนื่องจากกังวลถึงปัญหาการขาดแคลนยางธรรมชาติ
-จากการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพบว่าราคายางธรรมชาติจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมัน ดังนั้นการคาดการณ์แนวโน้มราคายางธรรมชาตินั้นสามารถคาดการณ์ผ่านทางทิศทางราคาน้ำมัน ยกเว้นในปีที่เกิดภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงและสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณการผลิตยางธรรมชาติ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าทิศทางราคายางนั้นยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ก็มีแนวโน้มผันผวนไปตามกระแสข่าวของปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ยางในตลาดโลก
แนวโน้มปี’52…ความต้องการยางยังขยายตัว จับตาจีนและอินเดีย
แนวโน้มปี 2552 คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตยางในแหล่งผลิตสำคัญยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียก็ยังคงอยู่ในอัตราที่สูงกว่าไทย กล่าวคือ ในปี 2552 คาดว่าปริมาณการผลิตยางของไทยเท่ากับ 3,384 พันตัน เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าในปี 2552 ปริมาณการผลิตยางเท่ากับ 2,993 พันตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.6
คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ยางในตลาดโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจีนและอินเดียจะยังมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นประเทศผู้ใช้ยาง เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในทั้งสองประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ คาดการณ์ว่าจีนจะเป็นประเทศผู้ใช้ยางที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในช่วงระยะ 15 ปีต่อจากนี้ไป เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯเคยเป็นประเทศผู้ใช้ยางที่มีบทบาทสำคัญที่สุดตั้งแต่ปี 2503-2544 โดยคาดว่าความต้องการใช้ยางของจีนในปี 2563 จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 33.0 ของผลผลิตยางของโลก เทียบกับปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 25.0 ส่วนอินเดียคาดการณ์ว่าในช่วงทศวรรษต่อไปอุตสาหกรรมยางในอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8 ต่อปี โดยปริมาณการบริโภคยางเฉลี่ยของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากที่เคยอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเพียง 800 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น ความต้องการยางในอินเดียมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งมีความต้องการยางประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณความต้องการยางทั้งหมด
สำหรับราคายางในปี 2552 หลายสำนักวิจัยและวงการค้ายางต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าราคายางธรรมชาติในปี 2552 แม้ว่าราคายังคงอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ราคาโดยเฉลี่ยแล้วจะต่ำกว่าในปี 2551 เนื่องจากต้นยางที่มีการปลูกทดแทนและปลูกเพิ่มในช่วงระยะที่ผ่านมาในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียเริ่มเปิดกรีดได้มากขึ้น ทำให้ผลผลิตยางธรรมชาติในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2552 ราคายางน่าจะมีการปรับฐานลงมาสู่ภาวะปกติ จากที่ราคายางในปี 2551 นั้นเป็นราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดราคายาง
บทสรุป
ตั้งแต่ต้นปี 2551 ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากฝนตกชุกในแหล่งผลิต ทำให้ปริมาณการผลิตยางของประเทศผู้ผลิตสำคัญมีแนวโน้มลดลง ประเทศผู้ใช้ยางกังวลว่าปริมาณยางจะขาดตลาดจึงเร่งซื้อยางเพื่อเก็บเข้าสต็อก ส่งผลให้การส่งออกยางของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ปัจจัยผลักดันให้ราคายางอยู่ในเกณฑ์สูงคือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคายางสังเคราะห์ซึ่งใช้ทดแทนยางธรรมชาติยังมีราคาแพง การเข้ามาเก็งกำไรราคายางในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์ของกองทุนจากต่างประเทศ โดยพิจารณาได้จากราคายางในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในสิงคโปร์และโตเกียว รวมทั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยด้วย นอกจากนี้ความต้องการใช้ยางในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย จากนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีราคายางจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง แต่คงจะไม่พุ่งเหมือนกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากปริมาณยางเริ่มออกสู่ตลาดเป็นปกติ(หลังจากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย) ประเทศผู้ใช้ยังมีสต็อกยางอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ลดความกังวลในเรื่องยางขาดตลาด นอกจากนี้ราคายางอาจมีโอกาสผันผวนจากการที่บรรดากองทุนต่างประเทศหันไปเก็งสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากไม่สามารถผลักดันให้ราคายางสูงไปกว่าปัจจุบัน
ประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ ทางEIU ปรับการคาดการณ์ราคายางทั้งปี 2551 ให้อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าการคาดการณ์เดิม จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่สำหรับในปี 2552 สำนักวิจัยยางและวงการค้ายางต่างคาดการณ์ว่าราคายางในตลาดโลก แม้ว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ก็ราคายางเฉลี่ยจะต่ำกว่าในปี 2551 เพราะนอกจากคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตยางจะเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เปิดกรีดเพิ่มขึ้นแล้ว ราคายางในปี 2551 นั้นเป็นราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดราคายางแล้ว ดังนั้นในปี 2552 ราคายางจึงน่าจะมีการปรับฐานลงมาสู่ภาวะปกติ และคาดการณ์ว่าราคายางในปี 2552 ยังมีแนวโน้มผันผวนไปตามกระแสข่าวของปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมาราคายางมีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ดังนั้นการคาดการณ์ราคายางในอนาคตนั้นจึงสามารถอิงกับการคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ เพราะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน