ปุ๋ยแพง : ราคาพุ่งตามตลาดโลก…เกษตรกรและผู้ค้าปุ๋ยต้องเร่งปรับตัว

สถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกในปัจจุบันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และคาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าราคาปุ๋ยเคมีจะปรับเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 20 และในบางสูตรที่เป็นแม่ปุ๋ยอาจปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 รวมทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าราคาปุ๋ยเคมีนั้นมีแนวโน้มจะแพงต่อเนื่องไปอีก 2 ปี นับว่าราคาปุ๋ยเคมีพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ประเด็นที่ต้องกังวลคือ ปุ๋ยเคมีเมื่อราคาเพิ่มอยู่ในเกณฑ์สูงแล้วโอกาสที่จะลดลงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจัดเป็นอุตสาหกรรมหนัก การขยายการผลิตต้องอาศัยเวลานานนับเป็นปีหรือหลายปี ไม่เหมือนกับสินค้าเกษตรที่เมื่อราคาอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้มีการขยายการผลิตได้ในฤดูกาลถัดไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงแค่ 3-6 เดือน

ปัญหาราคาปุ๋ยแพงยังเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย เนื่องจากโดยเฉลี่ยต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็นร้อยละ 19-20 ของต้นทุนการเพาะปลูกพืชทั้งหมด ดังนั้นการที่ราคาปุ๋ยเคมียังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น เกษตรกรจึงเสียโอกาสที่จะได้อานิสงส์จากการที่ราคาพืชผลอยู่ในเกณฑ์สูงในปัจจุบัน ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงจึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วประเทศ

ราคาปุ๋ยเคมีตลาดโลก…พุ่งต่อเนื่อง
ปัจจุบันทั่วโลกเกิดความวิตกในเรื่องความเพียงพอของปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ความต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากความต้องการปุ๋ยเคมีในภูมิภาคลาตินอเมริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งความต้องการปุ๋ยเคมีของทั้ง 3 กลุ่มภูมิภาคนี้คิดเป็นร้อยละ 89 ของความต้องการปุ๋ยเคมีในตลาดโลก คาดการณ์ว่าความต้องการปุ๋ยเคมี(ในลักษณะของปุ๋ยธาตุหลัก)ทั่วโลกในปี 2550/51 จะเพิ่มขึ้นเป็น 170.3 ล้านตันธาตุอาหาร เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของความต้องการปุ๋ยโปแตส

ในปี 2551/52 ทุกประเทศหันมาสนใจขยายพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศและเพื่อการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อของประเทศไม่ให้เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากราคาอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นคาดการณ์ว่าความต้องการปุ๋ยเคมี(ในลักษณะของปุ๋ยธาตุหลัก)ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2551/52 ความต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเป็น 175.8 ล้านตันธาตุอาหาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ซึ่งปุ๋ยเคมีที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ปุ๋ยโปแตสที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.4 ขณะที่ความต้องการปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยไนโตรเจนก็เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.8 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ

ความต้องการปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทรัพยากรในตลาดโลกมีจำกัด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตปุ๋ย เช่น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติได้แก่ แอมโมเนียและยูเรีย ทำให้เกิดการแย่งซื้อปุ๋ยเคมีในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 1-3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยังมีการคาดหมายว่าราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นนี้ต่อไปอีก 2-3 ปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลกระทบของราคาน้ำมันต่ออุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี แยกวิเคราะห์ออกเป็น 2 ประเด็นดังนี้

ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (กรณีจีนผลิตปุ๋ยไนโตรเจนจากถ่านหิน) ดังนั้นราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลโดยตรงต่อราคาปุ๋ยไนโตรเจนที่จะปรับเพิ่มตามไปด้วย รวมทั้งมีปัจจัยผลักดันให้ราคาปุ๋ยไนโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก คือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนที่สำคัญ ประกาศขึ้นภาษีปุ๋ยไนโตรเจนจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 135 ในระหว่างวันที่ 20 เมษายน -30 กันยายน2551 รวมทั้งประกาศปิดท่าเรือทั่วประเทศในช่วงมหกรรมโอลิมปิก ทำให้ในช่วงปลายไตรมาสสองและไตรมาสสามราคาปุ๋ยไนโตรเจนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ในไตรมาส4 จีนจะปรับลดภาษีส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนกลับไปอยู่ที่ร้อยละ 30 ตามเดิมหรือไม่ ดังนั้นผู้นำเข้าปุ๋ยไนโตรเจนจึงเร่งสั่งซื้อปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อตุนไว้ และต้องประคองการจำหน่ายปุ๋ยไนโตรเจนที่มีอยู่ในสต็อก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนปุ๋ย และรอสั่งปุ๋ยไนโตรเจนล็อตใหม่หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2551

สำหรับปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโปแตสราคาก็มีแนวโน้มพุ่งขึ้นเช่นเดียวกับปุ๋ยไนโตรเจน เนื่องจากแม่ปุ๋ยทั้งสองชนิดนี้มีข้อจำกัดในการผลิต ไม่สามารถขยายการผลิตได้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 ผลกระทบทางอ้อมของราคาน้ำมันที่พุ่งอย่างต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี โดยหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มปริมาณการปลูกพืชพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ลาตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ สหรัฐฯขยายการผลิตเอธานอล ทำให้ต้องขยายพื้นที่ผลิตข้าวโพด ซึ่งไปเบียดแย่งพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ทำให้ปริมาณความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อทดแทนน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ส่วนในลาตินอเมริกาขยายการปลูกอ้อย ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

ในขณะที่ความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก ความผันผวนของภูมิอากาศเนื่องจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง กล่าวคือ สัดส่วนของปริมาณพืชผลต่อความต้องการลดลงร้อยละ 12.7 ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญทุกชนิดทุบสถิติสูงสุดในปีการผลิต 2550/51 โดยเฉพาะธัญพืชสำคัญทั้งข้าว ข้าวโพด และข้าวสาลี

นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ระดับรายได้ของประชากรโดยเฉพาะในจีนและอินเดียมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีการปรับพฤติกรรมการบริโภค โดยการหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ทดแทนแป้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วการรับประทานเนื้อสัตว์เพิ่ม 1 กิโลกรัมต้องผลิตธัญพืชเพิ่มเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ 4 กิโลกรัม ทำให้บรรดาเกษตรกรต้องขยายเนื้อที่ปลูกธัญพืชเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับบรรดาผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ข้อจำกัดของเนื้อที่สำหรับทำการเกษตรทำให้มีการแย่งพื้นที่กันระหว่างการปลูกพืชพลังงาน พืชอาหารและพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีความต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากความต้องการปุ๋ยเคมีในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ปริมาณการผลิตปุ๋ยเคมีนั้นเพิ่มไม่ทันกับความต้องการ ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 2-3 เท่าตัว โดยเฉพาะแม่ปุ๋ยเคมี 3 ชนิดที่สำคัญประกอบด้วยยูเรีย ซึ่งเป็นปุ๋ยไนโตรเจนประเภทหนึ่ง ราคาในเดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจากในเดือนมกราคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และเมื่อเดือนธันวาคม2550 ราคาอยู่ที่ 210 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเท่านั้น สำหรับปุ๋ยธาตุอาหารอีก 2 ชนิดที่จำเป็นและมีแหล่งผลิตจำกัดในตลาดอย่างฟอสฟอรัส ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในตะวันออกกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากปี 2550 ที่ราคาอยู่ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2551 ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และยังมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกัน โพแทสเซียมจากแม่ปุ๋ยโปแตสก็ปรับตัวจากราคา 215 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในปี 2550 ขึ้นมาอยู่ที่ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในปัจจุบัน ผู้ผลิตรายใหญ่คือ แคนาดาและจอร์แดน ประกาศว่าในช่วงไตรมาส3 ราคาจะเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ดอลลาร์/ตัน (ในช่วงที่ผ่านมาราคาจะขึ้นเร็วกว่าที่ประกาศไว้)

ราคาปุ๋ยเคมีในไทย…พุ่งตามราคาในตลาดโลก
ปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในไทยเป็นปุ๋ยเคมีที่นำเข้าทั้งหมด จากมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีแยกตามประเภทแม่ปุ๋ยและปุ๋ยผสมจะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจนมากที่สุด รองลงมาจะเป็นปุ๋ยผสม โดยแหล่งนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจนของไทยนั้นคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มเขตการค้าเสรีอาเซียน ส่วนปุ๋ยผสมนั้นแหล่งนำเข้าสำคัญคือ จีน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าจีนนั้นเป็นแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีที่สำคัญของไทยเกือบทุกชนิดยกเว้นปุ๋ยโปแตส ดังนั้น เมื่อจีนมีการเพิ่มภาษีส่งออกปุ๋ยเป็นร้อยละ 135 จากเดิมที่อยู่ในอัตราร้อยละ 30 ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนถึงสิ้นเดือนกันยายน รวมทั้งการที่จีนปิดท่าเรือทั้งประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเสร็จสิ้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ส่งผลกระทบต่อทั้งราคานำเข้าและปริมาณปุ๋ยเคมีในประเทศไทยเป็นอย่างมาก จึงคาดหมายได้ว่าในปี 2551 เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง

การนำเข้าปุ๋ยเคมีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ราคาปุ๋ยในตลาดโลก ภาวะการผลิตทางการเกษตรในประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ดังนั้นอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีจึงไม่ค่อยแน่นอนขึ้นอยู่กับความผันแปรของปัจจัยต่างๆ โดยมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมี ถ้าพิจารณาแยกปุ๋ยเคมีที่นำเข้าแยกตามสูตรปุ๋ยที่สำคัญจะทำให้เห็นถึงความต้องการปุ๋ยเคมีของตลาดในประเทศไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ราคาปุ๋ยเคมีของไทยจึงอิงกับราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาปุ๋ยเคมีนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ม.ค.-มี.ค.2551เฉลี่ยร้อยละ 17-20 ต่อเดือน ทำให้ผู้ค้าปุ๋ยเคมียื่นเรื่องต่อกระทรวงพาณิชย์ขอปรับราคาปุ๋ยเคมีขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมาก

ผู้ค้าปุ๋ยขอปรับราคา…แต่รัฐยังตรึงราคาไว้ก่อน
ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ผู้ประกอบการปุ๋ยจำนวน 7 ราย ได้แจ้งขอปรับราคาและขอตั้งราคาจำหน่าย ณ โรงงานปุ๋ยเคมีนำเข้าและผลิตในประเทศ ต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 123 รายการ แยกเป็นขอปรับราคา 104 รายการ และขอตั้งราคา 19 รายการ เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายการดังกล่าวได้ยื่นขอปรับราคามาตั้งแต่เดือนเม.ษ.2550 จนถึงเดือน พ.ค.2551 แต่ยังไมได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ปรับราคา

กรมการค้าภายในวิเคราะห์ต้นทุนราคาจำหน่ายส่งหน้าโรงงานของปุ๋ยสูตรหลัก 4 สูตร ได้แก่ สูตร 46-0-0 สูตร 15-15-15 สูตร 16-20-0 และสูตร 21-0-0 โดยคำนวณจากต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและกำไรที่ผู้ประกอบการควรได้ ซึ่งคิดที่ร้อยละ 2-3 ของต้นทุนรวมได้ข้อสรุปแล้วเห็นควรให้ปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงาน ซึ่งการปรับขึ้นนั้นจะคำนวณแยกตามสูตรปุ๋ยและลักษณะการผลิตปุ๋ย เนื่องจากมีต้นทุนการนำเข้าที่แตกต่างกัน ส่วนราคาจำหน่ายปลีกจะต้องมีการบวกค่าขนส่งไปยังภาคต่างๆระหว่าง800-1,200 บาทต่อตัน โดยภาคเหนือบวกค่าขนส่ง 1,200 บาท ภาคเหนือตอนล่าง 1,000 บาท ภาคกลาง 800 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,000 บาท และภาคใต้ 1,200 บาท ทั้งนี้ จะต้องเพิ่มส่วนเหลื่อมการค้าช่วงจำหน่ายส่งและจำหน่ายปลีกอีกตันละ 500 บาทด้วย

หลังจากที่กรมการค้าภายในวิเคราะห์ราคาปุ๋ยเคมีสูตรหลักและนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งคณะอนุกรรมการฯมีมติให้ผู้ค้าตรึงราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีไว้ก่อน ในขณะที่ผู้ค้ายืนยันจะขายสินค้าตามต้นทุนนำเข้าจริง เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวตามราคาน้ำมัน ราคาจำหน่ายปุ๋ยในประเทศก็ต้องปรับขึ้น เพื่อให้ธุรกิจค้าปุ๋ยอยู่ได้ เพราะผู้ค้าไม่ได้มีภาระจากราคานำเข้าที่สูงขึ้นเท่านั้น ยังมีค่าบริหารจัดการ เช่น ค่าแรงงาน ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าจัดจำหน่ายที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าปุ๋ยเคมียินดีจะแจ้งราคานำเข้า ปริมาณ และสถานที่เก็บ เพื่อป้องกันข้อสงสัยในประเด็นเรื่องการกักตุนปุ๋ยเคมีเพื่อหวังเก็งกำไร

เกษตรกรและผู้ค้าปุ๋ยเร่งปรับตัว…ในยุคปุ๋ยเคมีราคาพุ่ง
ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสการวิจารณ์กันว่าราคาปุ๋ยเคมีในระดับค้าส่งและค้าปลีกที่ปรับขึ้นนั้นอาจมีการจำหน่ายแพงเกินจริง โดยเฉพาะราคาจำหน่ายปลีกปุ๋ยเคมีมีการปรับขึ้นราคาที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 35-40 ทั้งที่เมื่อคำนวณต้นทุนการนำเข้า ค่าบริหารจัดการ และกำไรเบื้องต้นแล้วราคาควรจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น จึงมีคำถามตามว่าเป็นการปั่นราคาภายในประเทศ ทำให้ราคาปุ๋ยที่เกษตรกรซื้อมาใช้นั้น เป็นราคาที่สูงเกินความเป็นจริงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะหากดูจากวงจรธุรกิจปุ๋ยในประเทศ จากผู้นำเข้ามาถึงโรงงานผลิตปุ๋ย จะพบว่าในช่วงดังกล่าวทางกรมการค้าภายในมีการใช้มาตรการทางด้านกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนราคาปุ๋ย ณ ราคาหน้าโรงงาน จะต้องแจ้งให้กับกระทรวงพาณิชย์ทราบก่อน เพราะปุ๋ยอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากหน้าโรงงานไปยังผู้ค้าส่ง หรือยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จนถึงค้าปลีก ซึ่งจะรับปุ๋ย ณ หน้าโรงงานมาบรรจุถุงขายนั้น ในขั้นตอนนี้ไม่ได้มีการกำหนดมาตรการควบคุม เพียงแต่ให้ติดป้ายแสดงราคาเท่านั้น เพื่อให้การค้าปุ๋ยเป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้อาจกลายเป็นช่องทางที่อาจทำให้ราคาปุ๋ยสูงขึ้นเกินจริง เมื่อผ่านหน้าโรงงานไปแล้ว ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลอาจจะต้องนำมาใช้เพิ่มเติมเพื่อปิดโอกาสในการที่จะมีการจำหน่ายปุ๋ยในราคาสูงเกินจริง ตามมติของคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)ให้ผู้ประกอบการปุ๋ยภายในประเทศต้องแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ ป้องกันปัญหาการกักตุนปุ๋ยเพื่อเก็งกำไร รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ย เพื่อกำหนดราคาแนะนำที่เหมาะสมต่อไปนอกจากความพยายามในการตรึงราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีแล้ว ทางรัฐบาลมีมาตรการในเรื่องปุ๋ยเคมี ดังต่อไปนี้

 มาตรการที่จะนำเข้าปุ๋ยเพื่อจำหน่ายโดยตรงให้กับเกษตรกร โดยมีการอนุมัติงบประมาณ 300 ล้านบาทเพื่อนำเข้าปุ๋ยในปริมาณ 20,000 ตัน เพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรบรรเทาปัญหาขาดแคลนปุ๋ย และเกษตรกรที่มีทุนน้อยในการซื้อปุ๋ย แต่ถือเป็นการช่วยเหลือเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่มีผลต่อกลไกราคาตลาดที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

 ผลักดันให้ตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในประเทศให้มากขึ้น ประเด็นในเรื่องการส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเคมีนั้นเป็นมาตรการที่ควรส่งเสริมและให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเกษตรกร เนื่องจากปุ๋ยอินทรียมีข้อดีในการปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินร่วนซุย และพืชสามารถนำธาตุอาหารสำคัญในปุ๋ยเคมีไปใช้ได้ดีขึ้น ส่งผลทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมีการวิเคราะห์ดินเพื่อการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้อง และไม่สิ้นเปลืองที่จะใส่ธาตุปุ๋ยในที่ดินมีธาตุอาหารนั้นอยู่แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่าราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะกับประเทศไทย เกษตรกรไทยจึงต้องเร่งปรับตัวให้อยู่ได้ในภาวะที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง

สำหรับการปรับตัวของผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมี เมื่อนำเข้าแม่ปุ๋ยมาแล้ว ควรต้องมีการปรับสูตรการผลิตให้มีความหลากหลาย ซึ่งลูกค้า/เกษตรกรได้ประโยชน์ในการใช้ปุ๋ยสูตรธาตุอาหารต่ำที่เหมาะสมกับสภาพดินและพืชที่ปลูก นับเป็นการช่วยลูกค้า/เกษตรกรในการประหยัดเงิน ซึ่งเท่ากับเป็นการลดต้นทุนให้ทางอ้อม อย่างไรก็ตาม โรงงานผสมปุ๋ยเคมีขนาดเล็กนั้นยังต้องปรับตัวมากกว่าโรงงานผสมปุ๋ยเคมีขนาดใหญ่ กล่าวคือ ปัจจุบันโรงงานปุ๋ยเคมีเล็กๆ มีอยู่กว่า 100 โรงงาน แต่ที่ดำเนินการผลิตอย่างสม่ำเสมอมีเพียงประมาณ 10 โรงงาน กลยุทธ์การรักษาฐานลูกค้าของโรงงานผสมปุ๋ยเคมีขนาดเล็กเหล่านี้คือ การรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ผลิตสินค้าให้หลากหลาย เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น มีการเสริมธาตุอื่นๆที่เป็นธาตุอาหารรอง เช่น สังกะสี ทองแดง เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละพืช รวมทั้งบางรายยังมีการเพิ่มบริการวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกรพร้อมทั้งแนะนำสูตรปุ๋ยเคมีที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการแนะนำ/อบรมเกษตรกรให้แยกได้ระหว่างปุ๋ยจริงและปุ๋ยปลอม ซึ่งจะเป็นการปกป้องเกษตรกรและปกป้องธุรกิจจำหน่ายปุ๋ยเคมี เนื่องจากในช่วงที่ราคาปุ๋ยเคมีอยู่ในเกณฑ์สูงนั้นปริมาณปุ๋ยปลอมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจในการที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในด้านปุ๋ยเคมี คือ การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยไม่นิยมผสมปุ๋ยเอง อันนื่องจากการผสมปุ๋ยเองนั้นเกษตรกรต้องซื้อแม่ปุ๋ยหลักทั้งปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโปแตสมาอย่างละกระสอบ แต่เนื่องจากสูตรปุ๋ยไม่ได้มีแต่สูตรเสมอ เมื่อผสมแล้วตัวหลักทั้งสามตัวจะเหลือไม่เท่ากัน ทำให้ไม่คุ้มกับต้นทุนการซื้อแม่ปุ๋ย เกษตรกรไทยจึงนิยมใช้ปุ๋ยผสมสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม แนวทางการสนับสนุนในการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองนั้นสามารถทำได้โดยผ่านทางสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกร แต่จะมีปัญหาในการหาซื้อแม่ปุ๋ยไม่ได้ เกษตรกรยังมีความรู้ไม่เพียงพอ และไม่มีเงินทุน จึงเสียเปรียบโรงงานผสมปุ๋ยสำเร็จรูป นอกจากนี้ กระบวนการผลิตปุ๋ยผสมยังต้องมีข้อแตกต่างของสินค้าโดยการเติมธาตุอาหารรองที่แตกต่าง ทำให้ปุ๋ยเคมีมีหลากหลายสูตร เงื่อนไขของการที่จะส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรประสบสำเร็จในการจำหน่ายปุ๋ยในแต่ละท้องถิ่น คือ ต้องมีการวิเคราะห์ความต้องการปุ๋ยในแต่ละท้องที่โดยผ่านการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ได้ความต้องการธาตุปุ๋ยที่แท้จริง ซึ่งแต่ละท้องที่จะมีความต้องการปุ๋ยที่แตกต่างกัน หลังจากนั้นต้องมีการกำหนดปริมาณการผลิตปุ๋ยแต่ละล็อตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งรัฐบาลหาแม่ปุ๋ยมาป้อนให้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการหาซื้อแม่ปุ๋ย คาดว่าจะติดปัญหาระบบราชการที่ล่าช้าในการดำเนินการและราคาที่มักจะสูงกว่าตลาด

บทสรุป
ในปี 2551 ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปริมาณการผลิตปุ๋ยเคมีขยายไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้การค้าปุ๋ยเคมีในตลาดโลกตึงตัว ปัจจัยที่ส่งผลให้ความต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เพราะหลายประเทศต่างขยายการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชอาหาร พืชอาหารสัตว์และพืชพลังงานทดแทน ทำให้เกิดการแย่งพื้นที่การปลูกและเกษตรกรต่างต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ซึ่งแนวโน้มราคาปุ๋ยเคมีนั้นยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากข้อจำกัดในการขยายกำลังการผลิต และความต้องการปุ๋ยเคมียังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยเคมี ดังนั้นผู้ค้าปุ๋ยเคมีและเกษตรกรต่างได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีการดำเนินมาตรการที่จะนำเข้าปุ๋ยเพื่อจำหน่ายโดยตรงให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรบรรเทาปัญหาขาดแคลนปุ๋ย และเกษตรกรที่มีทุนน้อยในการซื้อปุ๋ย แต่ถือเป็นการช่วยเหลือเพียงช่วงระยะเวลาสั้น และการช่วยเหลืออยู่ในวงจำกัด นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ประเด็นในเรื่องการส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเคมีนั้นเป็นมาตรการที่ควรส่งเสริมและให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเกษตรกร เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์มีข้อดีในการปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินร่วนซุย และพืชสามารถนำธาตุอาหารสำคัญในปุ๋ยเคมีไปใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง โดยเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมีการวิเคราะห์ดินเพื่อการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้อง และไม่สิ้นเปลืองที่จะใส่ธาตุปุ๋ยในที่ดินมีธาตุอาหารนั้นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัวให้อยู่ได้ในภาวะที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้มุ่งประเด็นการใช้อย่างมีประสิทธิภาพไม่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ สำหรับการปรับตัวของผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมี เมื่อนำเข้าแม่ปุ๋ยมาแล้ว ควรต้องมีการปรับสูตรการผลิตให้มีความหลากหลาย ซึ่งลูกค้า/เกษตรกรได้ประโยชน์ในการใช้ปุ๋ยสูตรธาตุอาหารต่ำที่เหมาะสมกับสภาพดินและพืชที่ปลูก นับเป็นการช่วยลูกค้า/เกษตรกรในการประหยัดเงิน ซึ่งเท่ากับเป็นการลดต้นทุนให้เกษตรกรในทางอ้อม นอกจากนี้ผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการแนะนำ/อบรมเกษตรกรให้แยกได้ระหว่างปุ๋ยจริงและปุ๋ยปลอม ซึ่งจะเป็นการปกป้องเกษตรกรและปกป้องธุรกิจจำหน่ายปุ๋ยเคมี เนื่องจากในช่วงที่ราคาปุ๋ยเคมีอยู่ในเกณฑ์สูงนั้นปริมาณปุ๋ยปลอมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงทั้งผู้ประกอบการค้าปุ๋ยและเกษตรกรโดยทั่วไป