จีเอ็มและเชฟโรเลต สร้างโอกาสเรียนรู้จริงด้านยานยนต์ โครงการ ASEP Thailand

จากภาพ : มร. สตีฟ คาร์ไลส์ (ที่ 3 จากขวา) ประธานกรรมการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชัยวัฒน์ รัฐขจร (กลาง) รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และ อกนิษฐ์ คลังแสง (ที่ 3 จากซ้าย) ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมยืนยันความร่วมมือด้านการศึกษายานยนต์ เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เ็ป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสากรรมยานยนต์้ต่อไป

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิด “โครงการศูนย์การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ในประเทศไทย” หรือ Automotive Service Educational Program in Thailand – ASEP Thailand ณ แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม โดยมี มร. สตีฟ คาร์ไลส์ ประธานกรรมการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชัยวัฒน์ รัฐขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และ อกนิษฐ์ คลังแสง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเปิดโครงการ ASEP Thailand อย่างเป็นทางการ โดยมีคณาจารย์ นักศึกษา สื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติกว่า 400 คน พร้อมกันนี้ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในโครงการฯ จากวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ได้เรียนรู้และฝึกงานจริงด้านวิชาช่างยนต์ ระดับเดียวกับมาตรฐานเชฟโรเลตทั่วโลก กับศูนย์บริการเชฟโรเลต มหาสารคาม พร้อมมุ่งพัฒนาทรัพยากรคุณภาพป้อนสู่อุตสาหกรรม ยานยนต์ไทย และสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

นอกจากการได้ศึกษาตามหลักสูตรในห้องปฏิบัติการที่ศูนย์การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ได้กำหนดไว้แล้วนั้น นักศึกษาโครงการ ASEP Thailand จะได้รับโอกาสเรียนรู้และปฎิบัติงานจริงในศูนย์บริการของเชฟโรเลตเป็นเวลา 6 วัน ต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยนักศึกษาดังกล่าวจะได้เรียนรู้งานทางด้านรถยนต์ในทุกๆ ด้าน จากประสบการณ์จริง ตั้งแต่การพบปะกับลูกค้าเพื่อสอบถามถึงอาการของรถที่เข้าซ่อม การตรวจเช็คสภาพรถในเบื้องต้น การวิเคราะห์แก้ไขปัญหา ตลอดถึงการลงมือแก้ไขปัญหาจริง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่นักศึกษาเข้ารับการปฎิบัติงานนั้น จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของเชฟโรเลตคอยดูแลและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน การได้รับโอกาสเข้าปฎิบัติงานในศูนย์บริการเชฟโรเลตนั้น นอกจากจะเป็นการนำความรู้ทางทฤษฎีมาใช้ในการแก้ปัญหาจริง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในรถยนต์มากยิ่งขึ้นแล้ว และยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ในการประกอบอาชีพในอนาคตอีกทางหนึ่ง

“ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้สานต่อโครงการ ASEP จากจีเอ็ม ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้ฝึกงานกับศูนย์เชฟโรเลต เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหาจากประสบการณ์จริงแล้ว นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ASEP Thailand ยังได้รับการคัดเลือกสู่ธนาคารข้อมูลการจัดจ้างงาน (Job Data Bank) ของจีเอ็ม เชฟโรเลต และเครือข่ายผู้จำหน่ายกว่า 100 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตของเยาวชนไทยต่อไป” มร.สตีฟ กล่าว

อกนิษฐ์ คลังแสง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ ASEP Thailand ว่า “โครงการ ASEP Thailand เป็นโครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยียานยนต์ในระดับทวิภาคีระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทยอย่างเต็มศักยภาพ อันจะนำไปสู่การผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป”

ธนากร สอนฮุ่ง หนึ่งในนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามที่มีโอกาสฝึกงานจริงกับศูนย์จำหน่าย เชฟโรเลต มหาสารคาม เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับว่า “ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับโอกาสการเรียนรู้ และเปิดโลกทัศน์ในการศึกษาด้านยานยนต์ การได้มีโอกาสปฎิบัติงานจริง ณ ศูนย์จำหน่าย เชฟโรเลต มหาสารคาม เป็นประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน ซึ่งไม่เพียงทำให้ผมได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของงานรถยนต์ และได้ฝึกทักษะการปัญหาจริงโดยนำความรู้ทางทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะทางด้านการติดต่อสื่อสาร และประสานงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจว่าประสบการณ์ที่ได้รับการจากปฎิบัติงานจริงที่ศูนย์จำหน่ายเชฟโรเลต มหาสารคาม จะช่วยเพิ่มทักษะและความชำนาญในด้านเทคนิคและการปฏิบัติงานการเป็นช่างยนต์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตของผมได้อย่างประสบความสำเร็จต่อไป”

ทั้งนี้ โครงการ ASEP Thailand ภายใต้การสนับสนุนจากจีเอ็มและเชฟโรเลต จะจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ด้านยานยนต์ชั้นสูงโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของบริษัทฯ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แก่คณาจารย์จากสถาบันที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 11 สถาบัน ที่เป็นศูนย์กลางของภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี มหาสารคาม นครราชสีมา พิษณุโลก นครสวรรค์ ชลบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นหลักสูตรจะมีนักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถเข้าทำงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ มากกว่าร้อยละ 50 และจะสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพด้านช่างยนต์ให้กับภูมิภาคและประเทศไทยได้ประมาณปีละกว่า 1,000 คน