ธุรกิจสีอุตสาหกรรมในปี 2551 นี้ มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของผู้ใช้รายใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยอดขายทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกได้มีการฟื้นตัวจากปีก่อน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาก็ยังเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี จึงน่าเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดสีอุตสาหกรรมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างมากก็ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสี และยังก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยที่ลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ส่งผลกระทบต่อไปยังการเติบโตของอุตสาหกรรมผู้ใช้สีอุตสาหกรรมและอุปสงค์ของสีอุตสาหกรรมในประเทศด้วย
สีอุตสาหกรรมมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศประมาณร้อยละ 53 หรือคิดเป็นมูลค่า 12,500 ล้านบาท สัดส่วนที่เหลือร้อยละ 47 เป็นมูลค่าตลาดของสีทาอาคาร โดยที่ปริมาณการผลิตสีโดยรวมมีประมาณ 2.4-2.6 แสนตันต่อปี มูลค่าตลาดสีอุตสาหกรรมแบ่งตามอุตสาหกรรมผู้ใช้ประกอบด้วย สีพ่นรถยนต์ร้อยละ 48 สีพ่นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 36 สีอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ร้อยละ 12 และสีอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ไม้และเหล็ก เป็นต้น ร้อยละ 4 รายละเอียดตามแผนภาพต่อไปนี้
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรวบรวม
สีอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศเป็นหลัก ส่วนสีที่ส่งออกมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ตลาดส่งออกสีอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้น ยังมีบริษัทสีในประเทศได้ไปร่วมลงทุนเปิดโรงงานผลิตและจำหน่ายสีในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม และลาว เพื่อเป็นการขยายตลาดไปยังประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และกระจายความเสี่ยงทางการตลาดเนื่องจากการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองอาจส่งผลต่อการเติบโตของผู้ใช้สีอุตสาหกรรมได้ ส่วนผู้ใช้หลักในขณะนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นต้น เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสแรกปี 2551 ผู้ใช้สีอุตสาหกรรมรายใหญ่มีแนวโน้มเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และบรรจุภัณฑ์คาดว่าจะเติบโตดีกว่าปีก่อน จึงน่าจะส่งผลทำให้มูลค่าตลาดสีอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา แนวโน้มสภาวะอุตสาหกรรมผู้ใช้สีอุตสาหกรรมพอสรุปได้โดยสังเขปดังนี้
• อุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้มีการฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขในช่วงสี่เดือนแรกปี 2551 ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มร้อยละ 13.27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.55 ส่วนยอดส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.72 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการจัดงานมอเตอร์โชว์และราคาขายที่ถูกลงจากการลดภาษีสรรพสามิตรถที่ใช้น้ำมัน E20 คาดว่าในอนาคตกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 2.7 ล้านคันในปี 2557 เนื่องจากมีการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กอีโคคาร์และการขยายตัวของตลาดส่งออก ด้านรถจักรยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์รวมในช่วงสี่เดือนแรกปี 2551 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดในประเทศได้รับผลดีจากการขยายตัวของรายได้ภาคเกษตร ทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30 แต่ยอดส่งออกทั้ง CBU และ CKD รวมกันลดลงร้อยละ 7.53 เนื่องจากตลาดส่งออกหลักในอาเซียนได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการประกอบรถจักรยานยนต์ทำให้มีการนำเข้าจากไทยน้อยลง กล่าวโดยรวมอุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งการเพิ่มขึ้นของยอดขายในประเทศและตลาดส่งออก จึงน่าจะส่งผลดีต่อความต้องการสียานยนต์ในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงและการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจมีส่วนส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้
• อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จะใช้สีบรรจุภัณฑ์ในการติดฉลากที่บรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ อาทิ กระป๋องสี กระป๋องกาว กระป๋องน้ำมัน อาหารกระป๋อง กระป๋องเครื่องดื่ม และฝากระป๋องต่างๆ เป็นต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยมีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 จึงน่าจะช่วยส่งเสริมให้สีบรรจุภัณฑ์มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
• อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เป็นต้น เป็นอุตสาหกรรมผู้ใช้สีอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้รายงานปริมาณผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตดี อาทิ เครื่องปรับอากาศมีปริมาณการผลิต 4.6 ล้านเครื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 ตู้เย็นมีปริมาณการผลิต 1.3 ล้านตู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และเครื่องซักผ้ามีปริมาณการผลิต 1.6 ล้านเครื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ตลาดในประเทศโดยรวมส่วนใหญ่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องซักผ้าและเครื่องปรับอากาศ ส่วนตลาดส่งออกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรวมทั้งเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง แต่กลุ่มอียูและตะวันออกกลางยังมีศักยภาพดีอยู่โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น จึงน่าจะทำให้ความต้องการสีอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวมีโอกาสเติบโตได้ต่อไป
• อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีความจำเป็นต้องใช้สีอุตสาหกรรมเติมแต่งเพื่อความสวยงามคงทน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์นั้นพึ่งพิงตลาดส่งออกเป็นหลักกว่าร้อยละ 70 ทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์เหล็ก และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ มีแนวโน้มการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน สาเหตุจากตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐอเมริกามีเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และตลาดญี่ปุ่นมีการย้ายฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปยังจีนและมีการนำเข้าจากไทยลดลง ทำให้ในช่วงสี่เดือนแรกปี 2551 มูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์โดยรวมเติบโตเพียงร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เฟอร์นิเจอร์ไม้มูลค่าส่งออก 178.56 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตในอัตราที่ลดลงร้อยละ 7 เฟอร์นิเจอร์โลหะมูลค่าส่งออก 33.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์มูลค่าส่งออก 96.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 อย่างไรก็ตาม ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ในประเทศคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของที่อยู่อาศัยทั้งประเภทบ้านและคอนโดมิเนียมที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะทำให้ความต้องการสีอุตสาหกรรมในส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง
บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การเติบโตของสีอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นไปตามการเติบโตของอุตสาหกรรมผู้ใช้สีอุตสาหกรรมที่กล่าวข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตตามเศรษฐกิจภาพรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีสัดส่วนการใช้สีรวมถึงร้อยละ 84 ครอบคลุมตลาดสีพ่นรถยนต์ร้อยละ 48 สีพ่นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 36 จึงมีความเป็นไปได้ว่ามูลค่าตลาดสีอุตสาหกรรมในปี 2551 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสีอุตสาหกรรมในขณะนี้ก็น่าจะเป็นปัจจัยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและประเด็นทางการเมืองที่มีการชุมนุมในกรุงเทพฯ รวมทั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลให้ราคาวัตถุดิบรวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้นตาม สีอุตสาหกรรมที่วัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่อิงกับราคาน้ำมันและยังพึ่งพิงการนำเข้าจึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน แต่อานิสงส์จากการปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่องช่วยทำให้คนในชนบทซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น และจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนของภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาสินค้าโดยทั่วไปที่ปรับสูงขึ้นได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงรัฐบาลถ้ายังยืดเยื้อต่อไปก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งการเติบโตของตลาดสีอุตสาหกรรมในประเทศได้