จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศมีการขยายตัวของสินเชื่อที่ 9.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.61% ณ สิ้นปี 2550 สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 3-4 เดือนแรกของปีที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงบ้าง อันเป็นผลจากปัญหาน้ำมันแพงและอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้น ก็ตาม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ดังนี้
สินเชื่อในช่วง 4 เดือนแรกของปี ขยายตัวได้ดีในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จากข้อมูล ธ.พ.1.1 ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่และขนาดเล็กเป็นกลุ่มที่สามารถขยายสินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ได้ในอัตราสูงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งช่วยหนุนภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่สามารถขยายสินเชื่อสุทธิได้สูงถึง 15.0% และ ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสุทธิ 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ กลุ่มธนาคารขนาดกลางมีสินเชื่อหดตัว 2.7% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในกลุ่ม ที่ส่งผลให้ยอดสินเชื่อสุทธิหดตัว
สินเชื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นชัดเจนกว่าสินเชื่อรายย่อย จากการประเมินสินเชื่อจำแนกตามประเภทธุรกิจตามฐานข้อมูลของ ธปท. โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าสินเชื่อธุรกิจ (Corporate Loans) ขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนจาก 3.5% ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 16.1% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2551 ซึ่งจากการประมาณของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ (Large Corporate Loans) ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากที่เคยหดตัว 1.0% ณ สิ้นปี 2550 มาเป็นการขยายตัว 18.4% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2551 ตามมาด้วยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME Loans) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 9.7% ณ สิ้นปี 2551 มาที่ 13.2% อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรายย่อยเติบโตชะลอลงจาก 17.1% ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 14.4%
เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2550 พบว่าสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 9.6% มากกว่าสินเชื่อรายย่อยที่เติบโต 1.0% โดยสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัวได้ดีในไตรมาสแรกของปีนี้ ได้แก่ ตัวกลางทางการเงิน (+4.68 แสนล้านบาท หรือ 82.0% จากสิ้นปี 2550) ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ฯ (+3.18 หมื่นล้านบาท หรือ 3.4%) การผลิต (+1.87 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3%) เกษตรกรรม ล่าสัตว์ และการป่าไม้ (+1.35 หมื่นล้านบาท หรือ 15.6%) และธุรกิจการไฟฟ้า แก๊ส และการประปา (+7.58 พันล้านบาท หรือ 6.4%) ส่วนสินเชื่อรายย่อยที่ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นไตรมาสก่อน
สินเชื่อดี (Core Performing Loans) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นชัดเจนจากสิ้นปี 2550 นอกเหนือจากการพิจารณายอดคงค้างสินเชื่อในมิติต่างๆ แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ติดตามสถานการณ์สินเชื่อจากมิติของสินเชื่อดี (Core Performing Loans) ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ไม่รวมเอ็นพีแอล และสินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ โดยคำนวณบนฐานที่ขจัดผลกระทบทางเทคนิคแล้ว (อาทิ การปรับสถานะของบริษัทเงินทุนขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์) ทั้งนี้ สินเชื่อดีดังกล่าว น่าจะเป็นภาพสะท้อนทิศทางที่แท้จริงของสินเชื่อ โดยไม่ถูกบิดเบือนจากปัจจัยทางเทคนิคต่างๆ และจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า สินเชื่อดีมีทิศทางที่ขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เช่นกัน โดยเติบโต 9.9% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 เพิ่มขึ้นจาก 5.3% ณ สิ้นปี 2550
แนวโน้มสินเชื่อดีในช่วงครึ่งหลังของปี…เผชิญหลากปัจจัยเสี่ยง สำหรับแนวโน้มสินเชื่อดี (Core Performing Loans) ของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า สินเชื่อดี ณ สิ้นปี 2551 จะขยายตัวประมาณ 7.0-9.0% ซึ่งชะลอตัวลงจากที่ทำได้ 9.9% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะเห็นการทยอยปรับลดเป้าสินเชื่อสำหรับทั้งปี 2551 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งตามมาในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่า แนวโน้มสินเชื่อ จะเผชิญความเสี่ยงต่อการขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน จากภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสจะชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ตามปัจจัยลบจากปัญหาเงินเฟ้อ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าสินเชื่อแต่ละประเภทในระดับที่แตกต่างกัน ดังนี้
– ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้น จะกดดันสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อย การที่ปัญหาเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก จนเข้าหาจุดสูงสุด (Peak) ในไตรมาสที่สามของปีนี้ ด้วยอัตราเงินเฟ้อในบางเดือนที่อาจสูงถึงเลขสองหลัก ตามการปรับขึ้นของราคาสินค้า และราคาน้ำมันที่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกนั้น น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้า อันจะนำมาสู่ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการมีอำนาจการต่อรองจำกัด ในการผลักภาระจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปสู่ผู้บริโภคด้วยการปรับขึ้นราคาขาย อาทิ ผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงน่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว มากกว่าธุรกิจรายใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นทางธุรกิจและมีอำนาจการต่อรองด้านราคามากกว่า
นอกจากนี้ ลูกค้ารายย่อยของธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ก็น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ารายได้นี้เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้อำนาจซื้อถดถอยลงแล้ว ก็ยังจะกระตุ้นให้ผู้บริโภครัดเข็มขัด ประหยัดการใช้จ่าย อันหมายความถึงความต้องการสินเชื่อรายย่อยที่อาจชะลอตัวลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในกรณีของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ (สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ที่น่าจะชะลอตัวลง)
– การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยบางประเภท ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระดับราคาที่เผชิญความท้าท้ายจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ อาจทำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอาจจะเป็นภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นดังกล่าว ย่อมจะส่งผลซ้ำเติมความต้องการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ทั้งสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยบางประเภทอย่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อ ที่ไม่ได้มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อดังกล่าว มีโอกาสปรับขึ้นต่อไปอีกได้
– ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เป็นหลัก เหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาครัฐให้อาจล่าช้าออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงการก่อสร้างหลายโครงการของภาครัฐถูกนำกลับมาทบทวนเรื่องงบประมาณใหม่ ท่ามกลางปัญหาต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าว อาจทำให้สินเชื่อรายใหญ่ที่ส่วนหนึ่งมีความผูกพันกับโครงการลงทุนของภาครัฐ อาจชะลอตัวลง รวมถึงสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเคยคาดหวังผลบวกจากปัจจัยการลงทุนของภาครัฐดังกล่าวในการช่วยผลักดันสินเชื่อในปีนี้ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา
โดยสรุป ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ขยายตัวได้สูงถึง 9.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเร่งขึ้นจาก 5.61% ณ สิ้นปี 2550 เช่นเดียวกับ สินเชื่อดี (Core Performing Loans) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่เติบโต 9.9% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นจาก 5.3% ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สอดคล้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า การขยายตัวของสินเชื่อในช่วง 3-4 เดือนแรกที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ขณะที่ เมื่อจำแนกตามประเภทธุรกิจ จะพบว่า สินเชื่อธุรกิจมีการเติบโตที่สูงขึ้นทั้งสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอี สวนทางกับสินเชื่อรายย่อยที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง แม้จะยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตสองหลักได้ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองเชิงลบมากขึ้นกับแนวโน้มการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าสินเชื่อดีจะเติบโตชะลอลงจาก 9.9% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ มาที่ 7.0-9.0% ณ สิ้นปี 2551 อันเป็นผลมาจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาด้านการเมือง ประกอบกับคาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อหลีกเลี่ยง และ/หรือบรรเทาโอกาสเกิดเอ็นพีแอล ขณะที่ ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจทยอยปรับลดเป้าหมายสินเชื่อสำหรับทั้งปี 2551 นี้ลงในอนาคตอันใกล้นี้