ไทยเป็นเจ้าภาพจัด ‘ไบโอเอเชีย 2008’

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวเปิดตัวงาน “ไบโอเอเชีย 2008” ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยโดยจะเป็นงานประชุมและแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยีชีวภาพนานาชาติครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2551

งานไบโอเอเชีย 2008 มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีชีวภาพแห่งเอเชีย โดยคาดว่าจะมีนักวิจัย นักวิชาการ นักลงทุน และนักธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพเข้าร่วมงานนี้กว่า 5,000 ราย งานนี้จะจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นอกจากนี้ งานไบโอเอเชีย 2008 ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และสำนักงานพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร. ฮวน เอนริเควซ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ โครงการชีววิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย-ฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) และผู้เขียนหนังสือที่ติดอันดับขายดีที่สุดทั่วโลกเรื่อง “เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ” (As the Future Catches You) ได้ตอบรับเข้าร่วมบรรยายในช่วงการเปิดประชุมครั้งนี้ด้วย

ในงานนี้ ดร. เอนริเควซ จะแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ บทบาทของธุรกิจชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพในระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ในอนาคต ในระดับนานาชาติ ดร. เอนริเควซ ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของโลก โดยเป็นผู้ที่นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและการเมืองจากการปฏิวัติด้านชีววิทยาศาสตร์ของโลก และเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยวารสาร
ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว (Harvard Business Review) ได้ยกย่องแนวคิดของ ดร. ฮวน ว่าเป็น
“แนวคิดที่ล้ำยุค”

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราตั้งเป้าที่จะดึงผู้เข้าประชุมและเยี่ยมชมงานกว่า 5,000 คน รวมทั้งผู้จัดแสดงนิทรรศการอีกกว่า 120 รายจาก 20 ประเทศ และภายในสามปีข้างหน้านี้ เรามีเป้าหมายที่จะสร้างแบรนด์ของงานไบโอเอเชียนี้ให้เป็นหนึ่งในบรรดางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการกว่า 300 ราย จาก 30 ประเทศ”

นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า “งานยิ่งใหญ่ระดับชาติเช่นงานไบโอเอเชีย 2008 นี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวงการเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสตร์ของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้”

“หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของประเทศในการพัฒนาวงการเทคโนโลยีชีวภาพของไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นนั้นคือ การประยุกต์ใช้โมเดลการสร้างเครือข่ายเน็ตเวิร์คที่เข้าถึงกันได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า หลายประเทศในยุโรปสามารถพัฒนางานเทคโนโลยีชีวภาพให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการที่มีกลไกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักวิชาการ นักวิจัย นักลงทุน และนักธุรกิจที่เชี่ยวชาญในการพัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ให้มาแลกเปลี่ยนความรู้ ความต้องการ มาทำงานร่วมกันได้โดยง่าย ทำให้เกิดการจัดสรร และแบ่งปันการใช้ทรัพยากร และความรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีอีกโมเดลหนึ่งที่มีการใช้กันในอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากจากโมเดลการสร้างเครือข่ายเน็ตเวิร์ค คือ จะมีการจัดตั้งศูนย์กลางขนาดใหญ่ โดยมีองค์กรขนาดใหญ่เป็นองค์กรหลักทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า โมเดลการสร้างเครือข่ายเน็ตเวิร์คกันนี้ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยเร่งให้งานด้านไบโอเทคโนโลยีของประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วขึ้นได้ และการจัดงานไบโอเอเชีย 2008 ครั้งนี้ จะเป็นเวทีใหญ่ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มพูนพลังเครือข่ายด้านเทคโนโลยีชีวภาพของไทยให้มากยิ่งขึ้น” น.พ.ธงชัยกล่าว

ดร. พิเชฐ อิฐกอ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากที่จะเป็นศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ภาครัฐของเรามีนโยบายที่ชัดเจนในอันที่จะมุ่งพัฒนาวงการเทคโนโลยีชีวภาพของไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างจริงจัง นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีชีวภาพอีกหลายประการ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก

ดร. พิเชฐ กล่าวต่อไปว่า งานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ 3 สาขาหลักที่ประเทศไทยพัฒนาไปได้อย่างมาก คือ เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพด้านอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์

ดร. พิเชฐ กล่าวว่า เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรถือได้ว่า เป็นสาขาที่มีความก้าวหน้าที่สุดแขนงหนึ่งในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพของพืช และเพิ่มผลผลิต ตัวอย่างของงานวิจัยล่าสุดในสาขานี้ได้แก่ โครงการที่มุ่งพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพสูงที่สามารถทนต่อโรคได้ดียิ่งขึ้น และให้ผลผลิตที่สูงขึ้น

ในด้านการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อใช้ช่วยป้องกันโรคระบาดในฟาร์มกุ้ง และปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งให้ตรงกับความต้องการของตลาด

นพ. ธงชัย กล่าวเสริมว่า ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์นั้น แพทย์และนักวิจัยทางการแพทย์ของไทยนั้นมีความรู้ความสามารถสูงไม่เป็นรองใคร และนี่ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรหลักที่จำเป็นของประเทศ และกล่าวต่อไปว่า “ประเทศไทยมีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในเวชภัณฑ์ต่างๆ แล้วหลายอย่าง อาทิเช่น ชุดตรวจวินิจฉัยวัณโรค อหิวาตกโรค วัคซีนสำหรับโรคไข้เลือดออกและไข้ฉี่หนู ไปจนถึงการคิดค้นยารักษาไข้มาลาเรียและวัณโรค”

นายศีลชัย เปิดเผยว่า งานประชุม และแสดงนิทรรศการนานาชาติที่จะจัดขึ้นครั้งนี้น่าจะได้รับความสนใจอย่างมากจากบุคคลในแวดวงวิทยาศาสตร์ และธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีวิทยากรที่โดดเด่นระดับนานาชาติ จากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเกษตร อาหาร และสุขภาพ เข้าร่วมบรรยายในงานกว่า 50 คน ตลอดจนคาดว่าจะมีกลุ่มนักลงทุน และตัวแทนจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ และบริษัทต่างๆ เข้าร่วมงานอีกด้วย

นายศีลชัย กล่าวว่า ผมมั่นใจว่างานนี้จะช่วยให้เกิดเครือข่ายด้านเทคโนโลยีชีวภาพในระดับสากลที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ เนื่องจากวิทยากรที่ตอบรับมานั้นถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่คนในวงการนี้ให้การยอมรับ อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ฮารัลด์ ซูร์ เฮาเชน ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบไวรัสต้นตอที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก จึงถือได้ว่าท่านเป็นบิดาที่ทำให้การคิดค้นวัคซีนมะเร็งปากมดลูกสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก นอกจากนี้ยังมี ศาสตราจารย์ ดร. การี่ สมอล ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลกในด้านโรคชรา และโรคเกี่ยวกับความจำ โดยนิตยสารไซเอนทิฟิค อเมริกัน (Scientific American Magazine) ได้ขนานนามท่านว่า เป็นหนึ่งใน 50 นักคิดค้นนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์

“นอกจากในงานนี้จะมีนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกแล้ว ในด้านการลงทุน ยังมี ดร. คิม ทัน ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำของภูมิภาค ร่วมบรรยายในงานนี้อีกด้วย” นายศีลชัยกล่าว

นายศีลชัย กล่าวว่า ประเทศไต้หวัน และเบลเยี่ยมได้จองพื้นที่พาวิลเลี่ยนของประเทศไว้แล้วด้วย

ตลาดเทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกจากการประเมินโดยศูนย์ไบโอเทค มีมูลค่าประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท (หรือประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยตลาดเทคโนโลยีชีวภาพของเอเชียมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท (หรือประมาณ 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ข้อมูลเกี่ยวกับงานไบโอเอเชีย 2008 เชิญชมได้ที่ www.bioasiabangkok.com หรือ สอบถามได้ที่ [email protected], หรือ คุณศุพิสา จักษุดุลย์ โทรศัพท์ 02-748-7007 ต่อ 129