Bancassurance : โอกาสที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจประกันชีวิต

ธุรกิจประกันชีวิตปี 2550 เมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งอีกครั้งตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยอัตราเพิ่มสูงถึงประมาณ 16.8% คิดเป็นจำนวนเงินรวมกว่า 2 แสนล้านบาท เทียบกับในปี 2549 ที่ขยายตัวเพียง 4% ด้วยเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 1.74 แสนล้านบาท

การเติบโตอย่างมากของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2550 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายฐานลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ใหม่ โดยข้อมูลเบื้องต้นจากสมาคมประกันชีวิตไทยรายงานเบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium: FYP)ในปี 2550 ซึ่งเรียกเก็บจากกรมธรรม์ใหม่ มีอัตราเพิ่มสูงถึงประมาณ 27% เป็น 42.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับปีแรกสูงกว่าเบี้ยรับปีต่อไป ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงกรมธรรม์ใหม่ที่จ่ายเบี้ยประกันครั้งเดียว (single premiums) ที่กลับมาขยายตัวเกิน 100% อีกครั้งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยทำสถิติจำนวนเงินสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยเบี้ยประกันรับตรงรวมกว่า 18 พันล้านบาท ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Year Premium: RYP) มีการขยายตัวตามปกติประมาณ 7.5% คิดเป็นเงินรวม 141.7 พันล้านบาท

การเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษของจำนวนกรมธรรม์รายใหม่ในปี 2550 กล่าวได้ว่ามาจากช่องทางการขายผ่านธนาคารพาณิชย์ (Bancassurance) และการขายผ่านโทรศัพท์ (Tele Marketting) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ แม้ว่าช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต (agents) จะยังคงมีบทบาทสูงสุดก็ตาม

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง แม้ว่าในปีนี้รัฐบาลจะปรับเพิ่มวงเงินค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี เป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีก็ตาม (ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2551) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานธุรกิจเดิมที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับมีปัจจัยลบที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ ดังนี้
1. ทิศทางดอกเบี้ยเริ่มเปลี่ยนเป็นมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ตามการคาดการณ์ของตลาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

2. ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเหนือความคาดหมาย ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งมากกว่าเงินได้ ทำให้ประชาชนมีเงินเหลือออมลดลง

3. ผลิตภัณฑ์ด้านการออมที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ออมในการมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในระบบสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำพิเศษ ตั๋วแลกเงิน กองทุนทั้งที่ลงทุนในและต่างประเทศ หุ้นกู้เอกชน หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ระยะยาวของสถาบันการเงิน และพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

4. มาตรการของรัฐในการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการซื้อประกันชีวิตเท่านั้น แต่ได้ขยายไปถึงการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพระยะยาว (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ด้วย ซึ่งได้ปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนจากไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี เป็นไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ทำให้กลุ่มคนที่มีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษีดังกล่าว บางส่วนอาจเลือกลงทุนเพิ่มในกองทุนระยะยาวดังกล่าวแทน

สำหรับปัจจัยบวกที่คาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนให้ธุรกิจมีการขยายตัว มีดังนี้
1. ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ระดับฐานราก แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นฐานลูกค้ารายใหม่ที่บริษัทประกันส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง และมีจำนวนรายมาก ต่างจากฐานลูกค้าเดิมของธุรกิจประกันที่มักจะเกาะกลุ่มอยู่กับลูกค้าในเมืองที่อยู่ในภาคการค้าและบริการเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทประกันรายใหญ่บางแห่ง ได้เล็งเห็นโอกาสนี้และได้วางกลยุทธ์รุกกลุ่มเป้าหมายในภาคเกษตรโดยเฉพาะในปีนี้

2. การเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตใหม่ๆในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน เน้นการออมที่แฝงประโยชน์จากการประหยัดภาษีเป็นหลัก โดยมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ผ่านช่องทางการขายธนาคารพาณิชย์ จะช่วยขยายฐานลูกค้ารายใหม่ให้บริษัทประกันได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลูกค้ารายเดิมที่เพิ่งซื้อประกันผ่านธนาคารไปแล้ว ก็อาจหวนกลับมาซื้อเพิ่มอีก เพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ซึ่งมักเป็นในกลุ่มผู้มีรายได้สูง เช่นเดียวกับฐานลูกค้าที่ลงทุนในกองทุนระยะยาวที่ได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี

3. ภาพลักษณ์และทัศนคติที่มีต่อธุรกิจประกันชีวิต ได้รับการปรับปรุงดีขึ้น ทั้งจากความเข้มงวดของผู้กำกับดูแลธุรกิจที่ช่วยพัฒนาระบบตัวแทนให้มีคุณภาพมากขึ้น น่าจะทำให้ผู้ออมเปิดรับการลงทุนระยะยาวประเภทนี้ได้มากขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้สมัครสอบตัวแทนใหม่ในไตรมาสแรกปี 2551 ปรับตัวสูงขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนถึง 25% เป็นประมาณ 56,000 คน ซึ่งตัวแทนรายใหม่เหล่านี้มักจะสามารถสร้างผลงานในการเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ให้กับธุรกิจได้

จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2551 จะยังคงมีการขยายตัว แต่เป็นการเติบโตในอัตราที่ช้าลงกว่าปี 2550 เป็น 6-10% คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรวม 217,000-224,000 ล้านบาท

Bancassurance ช่องทางบุกเบิกฐานลูกค้ากลุ่มใหม่
ธนาคารพาณิชย์ร่วมกับบริษัทประกันชีวิต ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเงินฝากประจำระยะยาว ทำให้บริษัทประกันสามารถขยายฐานลูกค้าบางกลุ่มที่ตัวแทนประกันชีวิตเข้าไม่ถึง หรือให้ความเชื่อถือองค์กรเช่นธนาคารมากกว่าบุคคลที่เป็นตัวแทน ซึ่งการขายประกันผ่านธนาคารพาณิชย์นี้ จะมีลักษณะพิเศษที่ทั้งสามฝ่ายคือ บริษัทประกันชีวิต ธนาคารพาณิชย์ และลูกค้า ต่างได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย กล่าวคือ บริษัทประกันมีรายจ่ายจากค่าธรรมเนียมที่ให้กับธนาคารพาณิชย์ที่ขายประกันให้บริษัทในอัตราแตกต่างกันตามระยะเวลาที่เอาประกัน แต่สูงสุดไม่เกิน 40% ของเบี้ยประกันภัยรับปีแรก ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายจ่ายขั้นสูงที่แน่ชัด และนำมาคำนวณผลตอบแทนที่คาดว่าจะจ่ายให้กับลูกค้าและอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับรายจ่ายดังกล่าว ขณะที่ธนาคารก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียม และลูกค้ามีโอกาสเลือกซื้อประกันแบบที่เข้าใจง่าย เน้นการออมทรัพย์ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และตัดคนกลางคือตัวแทนนายหน้าออกไป

ด้วยลักษณะพิเศษดังกล่าว ทำให้แบบประกันที่เสนอขายผ่านธนาคารพาณิชย์ แม้จะมีความคล้ายคลึงกับที่เสนอขายผ่านตัวแทนนายหน้า แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ขณะที่การซื้อประกันชีวิตผ่านตัวแทนนายหน้า บริษัทประกันมีรายจ่ายให้กับคนกลางหรือตัวแทนนายหน้าในหลายระดับขั้นตามโครงสร้างของแต่ละบริษัท ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าการขายประกันผ่านธนาคาร และยากต่อการประเมินภาระค่าใช้จ่ายรวมที่แท้จริงต่อการขายกรมธรรม์แต่ละฉบับ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบตัวแทนนายหน้า เป็นหัวใจสำคัญของงานขายประกันมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ของการขายประกัน จึงยังคงต้องพึ่งพาระบบตัวแทนนายหน้าเป็นหลักต่อไป

สำหรับการขายประกันผ่านธนาคารพาณิชย์ กล่าวได้ว่าเป็นช่องทางใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ก็กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากส่วนแบ่งการตลาดของช่องทางการขายนี้ที่ตามมาในลำดับสอง รองจากการขายผ่านตัวแทนนายหน้า เทียบกับช่องทางการขายอื่นที่มีมานานกว่าแต่ไม่ได้รับความนิยม เช่น ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านไปรษณีย์ การขายทางโทรศัพท์ หรือ direct mail เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูลสถิติของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจของฝ่ายวิจัยบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่บางแห่ง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปริมาณธุรกิจผ่าน Bancassurance ในปี 2550 ว่าน่าจะมีจำนวนรวมประมาณ 30,000-31,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 ประมาณ 60% โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่ 10.8% เป็นประมาณ 15% ของเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทุกช่องทางการขาย แบ่งเป็นเบี้ยปีแรกประมาณ 20,000 ล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นกรมธรรม์ประเภทสามัญประมาณ 10,000 ล้านบาท และกรมธรรม์ประเภทกลุ่มประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Reducing Term Assurance:MRTA)) รวมกับเบี้ยปีต่อไปประมาณ 10,000 ล้านบาท

สำหรับในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมของ Bancassurance จะมีจำนวนประมาณ 37,000-39,000 ล้านบาท เติบโตในอัตราชะลอตัวลงจากปีที่แล้วเป็นประมาณ 20-25% โดยอัตราการขยายตัวดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของธุรกิจเก่า ที่เกิดจากลูกค้านำส่งเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวนประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 40% (ภายใต้สมมติฐานอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ระดับ 80%) ตามฐานธุรกิจที่ขยายตัวสูงในปี 2549-2550 ขณะที่ธุรกิจใหม่คาดว่ามีจำนวนประมาณ 22,000-23,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10-15% โดยอัตราเพิ่มที่ชะลอลงนี้ เกิดจากการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการขายกรมธรรม์ประเภทกลุ่ม โดยเฉพาะประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อาจจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้กู้ซื้อบ้านอาจต้องการลดค่าใช้จ่ายในภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับยอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (จากภาวะขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐก็ตาม) ขณะที่กรมธรรม์ประเภทสามัญที่ขายให้กับบุคคลทั่วไป คาดว่าจะมีอัตราเพิ่มประมาณ 18-25%
แม้ว่าอัตราเพิ่มของ Bancassurance ในปี 2551 จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2550 แต่ก็เป็นการปรับตัวตามภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ส่งผลกระทบไปยังแทบทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม Bancassurance ก็ยังขยายตัวมากกว่าธุรกิจประกันชีวิตในภาพรวมที่คาดว่าจะโตประมาณ 6-10% ในปีนี้ ทำให้สัดส่วนธุรกิจที่มาจาก Bancassurance น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นประมาณ 17-18% ขณะที่ช่องทางการขายผ่านตัวแทนนายหน้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย

นอกจากนี้ ในระยะยาวศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Bancassurance ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับฐานลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 60 ล้านบัญชี (ขณะที่จำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับทั้งสิ้นมีประมาณ 11 ล้านกรมธรรม์) โดยหากธนาคารพาณิชย์ทุกรายร่วมมือกับบริษัทประกันชีวิตในการรุกขยายธุรกิจอย่างจริงจัง ด้วยการออกแบบประกันที่มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างเจาะจงมากขึ้น นอกจากเน้นการออมทรัพย์ที่เมื่อรวมผลประโยชน์จากการได้ค่าลดหย่อนภาษีแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ โดยทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นใกล้เคียงกับแบบกรมธรรม์ที่ขายผ่านตัวแทนนายหน้า เช่น ให้ลูกค้ามีโอกาสเลือกจำนวนเงินนำส่ง และกำหนดทุนประกันได้ด้วยตนเอง เป็นต้น ประกอบกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากไม่เกิน 50,000 บาท/ปี เป็นไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ก็จะทำให้ Bancassurance มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในฐานะช่องทางการขายหลักของธุรกิจประกันชีวิต

บทสรุป
ธุรกิจประกันชีวิตในปี 2551 แม้จะมีปัจจัยบวกจากการมาตรการภาษีของรัฐบาลที่ให้นำเบี้ยประกันชีวิตมาหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี เป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งส่งผลบางส่วนไปยังระดับรายได้ของคนในภาคเกษตรให้เพิ่มขึ้น อันเป็นการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ ทั้งจากการเสนอขายเบี้ยประกันใหม่ให้กับผู้ถือกรมธรรม์รายเดิมเพื่อประโยชน์ทางภาษี และจากการขยายฐานลูกค้าไปยังระดับฐานรากมากขึ้น แต่เนื่องจากในปีนี้ ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมัน ไม่สอดคล้องกับระดับการเพิ่มของรายได้ จึงส่งผลต่อความสามารถในการออมของคนให้ลดลง รวมกับทิศทางดอกเบี้ยที่เปลี่ยนเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางปี เป็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งหลัง

ด้วยเหตุนี้ แม้ข้อมูลเบื้องต้นจากสมาคมประกันชีวิตไทย จะรายงานการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับตรงในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ว่ามีอัตราเพิ่มสูงถึง 14% คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรวมกว่า 51 พันล้านบาทก็ตาม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลจากปัจจัยลบดังกล่าว น่าจะส่งผลให้การเติบโตของเบี้ยประกันในช่วงไตรมาส 2-3 เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง ก่อนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงฤดูการขายของธุรกิจนี้ ทำให้ตัวเลขการเติบโตทั้งปีนี้น่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 6-10% เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวประมาณ 16.8%

อย่างไรก็ตาม อัตราเพิ่มของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง ที่มาจากช่องทางการขายผ่านธนาคาร (Bancassurance) น่าจะยังคงเป็นตัวนำในการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตต่อไป โดยคาดว่าจะมีอัตราเติบโตถึง 20-25% ขณะที่มีแนวโน้มว่าช่องทางการขายผ่านตัวแทน อาจมีส่วนแบ่งตลาดที่ทยอยปรับตัวลดลง โดยคาดว่าบริษัทประกันชีวิต จะยังคงพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านธนาคาร ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละช่วงอายุเพิ่มขึ้น