การส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2551 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 15,463.2 ดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 27.0 ในเดือนก่อนหน้า แต่ใกล้เคียงกับที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไว้ที่ร้อยละ 21.1 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในเดือนนี้ชะลอตัวในอัตราที่รุนแรงกว่าในด้านการส่งออก โดยมีมูลค่า 14,168.4 ดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 15.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 44.4 ในเดือนก่อน รวมทั้งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 27.1 ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลมูลค่า 1,294.8 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุลสูงถึง 1,807.5 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน
การขยายตัวของการส่งออกในเดือนนี้ เป็นผลมาจากการเติบโตสูงของการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 53.7 (จากร้อยละ 54.5 ในเดือนก่อน) ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 31.8 (จากร้อยละ 23.0 ในเดือนก่อน) ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลง โดยขยายตัวร้อยละ 15.7 (จากร้อยละ 20.6 ในเดือนก่อน)
หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายการสำคัญที่มีการขยายตัวสูงอย่างมาก ได้แก่ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 177.5 (จากร้อยละ 122.5 ในเดือนก่อน) น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.2 (จากร้อยละ 149.6 ในเดือนก่อน) ข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 128.2 (จากร้อยละ 137.6) ในเดือนก่อน และอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ104.5 (จากร้อยละ 43.9 ในเดือนก่อน) ขณะที่สินค้าสำคัญส่วนใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ชะลอตัวลง ส่วนสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกหดตัวลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เป็นต้น
สำหรับการชะลอตัวของการนำเข้า เป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 4.7 จากที่ขยายตัวสูงร้อยละ 88.1 ในเดือนก่อน ส่วนการนำเข้าสินค้ากลุ่มอื่นๆ ก็ชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 10.0 (จากร้อยละ 25.1 ในเดือนก่อน) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 23.2 (จากร้อยละ 43.3 ในเดือนก่อน) และสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 26.5 (จากร้อยละ 42.0 ในเดือนก่อน)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับสูงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการนำเข้าในช่วงที่เหลือของปี แต่แนวโน้มการชะลอตัวของภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศ ที่เป็นผลจากปัญหาราคาน้ำมันและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง อาจส่งผลให้การนำเข้าของไทยมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับปัญหาขาดดุลการค้าในปีนี้ น่าที่จะลดลงจากที่เคยประเมินไว้เดิม อย่างไรก็ตาม ในด้านการส่งออกนั้น ยังคงจะต้องจับตาผลกระทบของภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจภูมิภาค ตลอดจนวิกฤติเศรษฐกิจของเวียดนามและสหรัฐฯ ที่อาจจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี