เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.00 ตามคาด…ส่งสัญญาณไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้

ในการประชุมวันที่ 24-25 มิถุนายน 2551 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 1 (นาย Richard Fisher ประธานเฟดสาขาดัลลัส ลงมติคัดค้านการคงอัตราดอกเบี้ย และมีความเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้) ให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 2.00 ตามเดิม ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ มติคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกหลังจากที่เฟดได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2550

การตอบรับของตลาดการเงินหลังการประชุมเฟด :- เงินดอลลาร์ฯ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินยูโรและปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี (ความอ่อนไหวต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) แทบไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ยังคงมีความเป็นไปได้น้อยมาก โดยการคาดการณ์ดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกับการปรับตัวของตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Interest Rate Futures) โดยสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าล่าสุด ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2551 บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้เพียงร้อยละ 33 เท่านั้น ที่เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบถัดไปในเดือนสิงหาคม ซึ่งลดลงจากร้อยละ 48 ก่อนการประชุมเฟด อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวรับการคาดการณ์เกือบเต็มที่ว่า เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน อนึ่ง ความเป็นไปได้ที่เฟดจะทำการคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.00 ตลอดทั้งปี 2551 นี้ ยังได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 8 เทียบกับที่มีโอกาสไม่ถึงร้อยละ 1 ในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สิ่งที่ชัดเจนที่สุดจากแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดในครั้งนี้ คือ เฟดได้ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกปรับลงมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว พร้อม ๆ กับเทน้ำหนักไปในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยเฟดได้ระบุในแถลงการณ์ว่า ความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้น และแม้ว่าความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่เฟดได้คาดการณ์ว่า ความเสี่ยงดังกล่าวจะค่อย ๆ ปรับตัวลงในระยะถัดไป ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้ตีความว่า เฟดมีมุมมองในเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ น้อยลงกว่าเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดอยู่ในช่วงที่กำลังพิจารณาจังหวะของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่า หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เฟดก็คงจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ตลาดล่วงหน้าได้ประเมินว่า จังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะเป็นการประชุมในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องเลื่อนออกไป ยังคงเป็นเรื่องของปัญหาในภาคสถาบันการเงินสหรัฐฯ และความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขการว่างงาน และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ล้วนยังคงมีความเปราะบางอยู่มาก 