เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : ผู้ประกอบการผิดหวัง…บอลยูโรเพิ่มยอดขายน้อยกว่าที่คาด

ในช่วงมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือยูโร2008 ที่เริ่มต้นขึ้นในระหว่างวันที่ 7-29 มิถุนายน 2551 ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างคาดหวังว่า กระแสการแข่งขันฟุตบอลยูโรจะช่วยผลักดันยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ จากกลุ่มผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กับการติดตามชมถ่ายทอดการแข่งขันทั้งที่บ้านและร้านอาหารรวมทั้งสถานบันเทิง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงดังกล่าวมีความคึกคักเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ช่วงดังกล่าว ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะซบเซาเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ในขณะที่ ภาครัฐโดยกรมสรรพสามิตเองนั้นก็คาดหวังว่า กระแสฟุตบอลยูโรจะช่วยประคองให้ตัวเลขการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายหลังจากตัวเลขการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณร้อยละ 0.8 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การแข่งขันเริ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันพบว่ายอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับไม่คึกคักเท่าที่ควร อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสินค้าอุปโภค-บริโภคที่เริ่มทยอยปรับราคาขึ้นไปตามราคาน้ำมัน ทำให้จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเพื่อประหยัดเงินไว้ใช้ในส่วนที่จำเป็นมากกว่าแทน ประกอบกับปัญหาความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้กำลังซื้อและอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนในประเทศมีการชะลอตัว

ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครึ่งแรกปี 2551
นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 เป็นต้นมา ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในภาวะที่ไม่สดใสนัก อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมันและพลังงาน จนส่งผลให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายและเก็บออมมากขึ้น พิจารณาได้จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่า ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทสุราและเบียร์ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2551 มีทั้งสิ้นประมาณ 1,016.0 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำกว่าช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 ที่ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.6 โดยเบียร์มียอดจำหน่ายในช่วง 4 เดือนแรกปี 2551 ประมาณ 726.7 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 (4 เดือนแรกปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 14.4 ) ในขณะที่สุรามียอดจำหน่าย 289.3 ล้านลิตรลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.4 (4 เดือนแรกปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 5.5)

สำหรับในส่วนของภาครัฐเองนั้นพบว่า สถิติการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกรมสรรพสามิตในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551(ตุลาคม 2550-พฤษภาคม 2551) อยู่ที่ 62,490.47 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการรายได้ที่ตั้งไว้ที่ระดับ 63,023.96 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 533.49 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 0.8 โดยแยกเป็นการจัดเก็บภาษีสุรา 25,099.93 ล้านบาท(เป้าหมายการจัดเก็บ 25,099.93 ล้านบาท) และการจัดเก็บภาษีเบียร์ 37,390.54 ล้านบาท(เป้าหมายการจัดเก็บ 38,516.44 ล้านบาท) ซึ่งจากสถิติดังกล่าว นับเป็นเครื่องยืนยันถึงตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่แจ่มใสได้เป็นอย่างดี

จากทิศทางตลาดที่ไม่แจ่มใสดังได้กล่าวมาในเบื้องต้น ส่งผลให้ ผู้ประกอบการต่างคาดหวังต่อยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร2008 ค่อนข้างมากเพราะต้องการนำยอดขายในช่วงฟุตบอลยูโรมาหนุนธุรกิจ ก่อนที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเข้าสู่ฤดูการขายที่ชะลอตัวในช่วงฤดูฝน กับเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งจะเริ่มในช่วงวันที่ 18 กรกฎาคม-14 ตุลาคม 2551 ในขณะที่ ภาครัฐเองก็คาดหวังรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญระดับโลก ทั้งการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือการแข่งขันฟุตบอลโลก ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15-20 จากช่วงปกติ โดยในส่วนของผู้ประกอบการสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เองนั้น หลายรายมีการนำเอากลยุทธ์การตลาดทางด้านการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาหรือสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง(SPORT MARKETING) มาใช้ดึงยอดจำหน่ายสินค้าให้คึกคักยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์เพื่อสร้างการยอมรับสินค้าของผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย อาทิ การจัดสรรงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ในช่วงถ่ายทอดสดการแข่งขันทางสถานีโทรทัศน์ การจัดรายการ ลด แลก แจก แถม ในขณะที่บางรายก็มีการจัดกิจกรรม ณ จุดขาย ตามร้านอาหาร สถานบันเทิง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลยูโร2008 เริ่มต้นแข่งขันในช่วงต้นเดือนมิถุนายนมาจนใกล้จะจบฤดูกาลในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พบว่า กระแสตอบรับของคนไทยเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรกกลับไม่แรงดังที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คาดหวัง โดยคาดว่า ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร2008 จะเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบกับช่วงปกติ ซึ่งต่ำกว่าที่ผู้ประกอบการบางรายคาดหวังว่ายอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร2008 จะสูงกว่าช่วงปกติถึงร้อยละ 15-20 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภาคประชาชนมีการประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา เห็นได้จากการสำรวจพฤติกรรมเรื่อง ”คนไทยกับการแข่งขันฟุตบอลยูโร2008” จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2,598 ชุด กระจายตามกลุ่มประชาชนภาคต่างๆทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2551 พบว่าพฤติกรรมการติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร2008 ของคนไทยส่วนใหญ่จะติดตามชมการแข่งขันที่บ้านของตนเองซึ่งรวมถึงหอพักหรืออพาร์ตเม้นท์ด้วย(สัดส่วนร้อยละ 49.6) รองลงมาได้แก่บ้านเพื่อน(สัดส่วนร้อยละ 38.3) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มอายุ 20-25 ปีที่นิยมรวมตัวกันลุ้นและเชียร์ด้วยกันหลายๆคนในกลุ่มเพื่อนฝูงเพื่อเพิ่มอรรถรสในการติดตามชมทีมที่ตนเองชื่นชอบ ส่วนการติดตามชมในร้านอาหาร หรือสถานบันเทิงจะมีสัดส่วนรองลงมา ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากช่วงเวลาการแข่งขันจะอยู่ค่อนข้างดึกแล้ว ยังเป็นเพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มตามร้านอาหารและสถานบันเทิงซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการดื่มในที่พักอาศัย ดังนั้นจึงพบว่าช่องทางการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านร้านค้าปลีกในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 จะมีความคึกคักมากกว่าช่องทางการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านร้านอาหารหรือสถานบันเทิง ในขณะเดียวกัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมสูงจะอยู่ในกลุ่มประเภทที่มีราคาไม่สูงมากนักทั้งในส่วนของสุราและเบียร์ราคาถูก ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ชะลอตัวนั่นเอง

ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครึ่งหลังปี 2551
ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 นั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยหนุนอยู่บ้างจากมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 แต่เนื่องจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกปี 2551 จะกดดันกำลังซื้อของภาคประชาชนต่อไป ประกอบกับ ความผันผวนทางด้านการเมืองที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด จะยังคงส่งผลต่ออารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ทำให้มีการปรับลดการใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นน้อยกว่าลง โดยเฉพาะ รายจ่ายในส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่งที่จะถูกตัดในลำดับต้นๆ ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่มีแนวโน้มยืดเยื้อล้วนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยชะลอการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพอสมควร ทั้งนี้คาดว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮล์จะไม่แจ่มใสต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและเทศกาลเข้าพรรษา สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 คาดว่ายอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเริ่มกลับมาคึกคักได้บ้างเนื่องจากมีเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งถือเป็นฤดูการขายสำคัญ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาไม่สูงมากนักจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับราคาปานกลางถึงสูง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางจะเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาสูง อาทิ กลุ่มที่เคยดื่มสุราในระดับสแตนดาร์ดก็จะหันมาดื่มเบียร์ที่มีราคาไม่สูงมากนักแทน เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องพิจารณาหาหนทางแก้ไขและรับมือกับปัญหาต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เน้นทำตลาดกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ แม้ว่ากำลังซื้อของภาคประชาชนโดยภาพรวมแล้วจะถูกกดดันจากปัญหาค่าครองชีพ รวมทั้งปัญหาทางด้านการเมืองที่ผันผวน แต่หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ประชาชนในภาคเกษตรกรรมในชนบทซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีบทบาทสำคัญและมีจำนวนฐานลูกค้ากว้างขวางทั่วประเทศ ทางด้านกำลังซื้อนั้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจไม่รุนแรงเท่ากลุ่มอื่นๆ อันเป็นผลจากราคาพืชผลการเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงในหลายชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ประกอบกับนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่รากหญ้าจะช่วยเสริมกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ควรมองข้าม ตลาดกลุ่มดังกล่าว ในขณะเดียวกัน สำหรับตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อจำกัด ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องปรับปรุงขนาดบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เล็กลงเพื่อให้สอดคล้องกัน
การวางแผนจัดกิจกรรมการตลาดผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จำหน่ายตามช่องทางการจำหน่าย ณ จุดขาย (ON PREMISE) ซึ่งเป็นการจำหน่ายตามสถานบันเทิงและร้านอาหารต่างๆค่อนข้างได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพ และปัญหาด้านการเมืองที่ผันผวนมากกว่าช่องทางค้าปลีก(OFF PREMISE) ซึ่งหมายถึงตลาดที่ผู้บริโภคซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท เพื่อนำไปดื่มที่บ้าน ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสถานบันเทิงต่างๆมีค่อนข้างสูงไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องดื่ม ค่าอาหาร รวมทั้งค่าบริการอื่นๆ ในขณะที่การซื้อกลับไปดื่มที่บ้านสามารถตัดค่าใช้จ่ายด้านนี้ลงได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงต้องให้ความสำคัญต่อการกระจายสินค้าผ่านช่องทางร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้า ดิสเคานท์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ส่วนช่องทางจัดจำหน่ายผ่านภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องเพิ่มความถี่ทางด้านกิจกรรมการตลาด ณ จุดขาย เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมการลด แลก แจก แถมของรางวัล ซึ่งสามารถใช้กระตุ้นความต้องการซื้ออย่างค่อนข้างได้ผล

การขยายตลาดส่งออก ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรวมกับปัญหาการเมืองที่ผันผวน จะส่งผลทำให้ การกระตุ้นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศให้มีความคึกคักทำได้ลำบาก แต่สำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของภาคส่งออกพบว่า มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตสูงในระดับน่าพอใจ โดยจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2551 มีสูงถึง 76.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 96.8 และหากคิดในรูปเงินบาทจะมีมูลค่าส่งออก 2,471.8 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 79.8 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ตลาดในกลุ่มอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 67.9 (มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรกปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 99.5) รองลงมาได้แก่ญี่ปุ่นสัดส่วนร้อยละ 15.8(มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรกปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 99.5) สหภาพยุโรปสัดส่วนร้อยละ 3.0(มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรกปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 21.4) และตลาดสหรัฐฯสัดส่วนร้อยละ 1.3 (มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรกปี 2551 ขยายตัวลดลงร้อยละ17.7) โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า จีนแม้ว่าจะเป็นตลาดส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่มีสัดส่วนไม่สูงมากนัก เพียงประมาณร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 4 เดือนแรกปี 2550 มาเป็น 280,000 ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 4 เดือนแรกปี 2551 เพิ่มขึ้นกว่า 28 เท่าตัว และมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยไปยังตลาดจีนยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อันเป็นผลจากการที่จีนจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในช่วงวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 ส่งผลให้ จีนมีความต้องการสินค้าต่างๆเพื่อบริการคนจีนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งเมืองปักกิ่งคาดการณ์ว่า ชาวจีนที่เข้าชมการแข่งขันโอลิมปิกที่ปักกิ่งมีจำนวน 2.2 ล้านคน ผู้ชมชาวต่างประเทศจะมีจำนวนประมาณ 450,000 คน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2551 ไม่สู้แจ่มใสนัก แม้ว่าจะมีปัจจัยหนุนจากการแข่งขันฟุตบอลยูโร2008 ในช่วงเดือนมิถุนายน และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในช่วงเดือนสิงหาคม แต่เนื่องจากกระแสตอบรับของคนไทยไม่แรงดังที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คาด เพราะถูกปัจจัยกดดันจากปัญหากำลังซื้อของภาคประชาชนที่ซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ในขณะที่อารมณ์ความต้องการจับจ่ายใช้สอยและความเชื่อมั่นของภาคประชาชนก็ปรับลดลงตามปัจจัยด้านการเมืองที่เริ่มขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงจำเป็นต้องหากลยุทธ์อื่นๆ เพื่อมาใช้กระตุ้นยอดขายในช่วงที่เหลือของปีให้คึกคักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การให้ความสำคัญกับตลาดผู้บริโภคในภูมิภาคที่ได้รับผลดีจากราคาพืชผลการเกษตรปรับตัวสูง รวมถึงเม็ดเงินที่ภาครัฐนำมาใช้กระตุ้นประชาชนรากหญ้า โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ควรให้ความสำคัญจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายได้แก่ กลุ่มสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก เช่น เบียร์และสุราราคาถูก ซึ่งสอดคล้องกับกำลังซื้อของภาคประชาชนในปัจจุบัน ประการสำคัญคือการให้ความสำคัญกับตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคองตัวฝ่ากระแสเศรษฐกิจและปัจจัยด้านการเมืองที่รุมเร้าคนไทยในปัจจุบันได้