ผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดจากดีเอชแอลระบุภาคธุรกิจมีความหวัง เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น

ดีเอชแอล ผู้นำธุรกิจขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก เปิดเผย ผลการสำรวจความคิดเห็นภาพรวมแนวโน้มด้านการส่งออกของไทยในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังมั่นใจในธุรกิจนำเข้าและส่งออกของไทยในปี 2551 และ 2552 ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ เชื่อว่าการนำเข้าและส่งออกสามารถเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในตลาดใหม่ ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงก็ตาม

กว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสำรวจของดีเอชแอลซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการด้านนำเข้า ส่งออก หน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า พวกเขามีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศในสองปีข้างหน้า และคาดว่าผลประกอบการปีนี้จะใกล้เคียงกับผลประกอบการในปี 2550

ในฐานะกลไกขับเคลื่อนทางการค้า ดีเอชแอลซึ่งมีลูกค้าในภาคธุรกิจหลักๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ รวมทั้ง อุตสาหกรรมด้านสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นปีที่สาม โดยมุ่งที่จะนำเสนอข้อมูล แนวโน้มทางการค้าแก่ลูกค้าและผู้ประกอบการ โดยดีเอชแอลเชื่อว่า ข้อมูลหลักจากผลสำรวจจะเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการในด้านวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจ

การนำเข้าและส่งออกยังคงสดใส
แม้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการด้านการนำเข้าและส่งออก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประมาณการถึงปริมาณการส่งออกของไทยจะลดลงเล็กน้อยระหว่างปี 2551 แต่ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในปี 2552 และคาดว่าการ ขยายตัวของการส่งออกโดยรวมจะใกล้เคียงกับผลงานในปี 2550 หรือสูงกว่า

จากภาวะการขาดแคลนอาหารและความต้องการอย่างมากจากทั่วโลก ทำให้ผู้ส่งออกชาวไทยเชื่อว่าสินค้าทางการเกษตรของไทยจะมีอนาคตที่สดใสในอีกสองปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นก็ตาม สินค้าเกษตรหลักๆ ที่มีอัตราการขยายตัวสูงได้แก่ ข้าวไทยและพืชพลังงาน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีอัตราการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจด้วยเช่นกัน เนื่องจากการขยายกำลังผลิตของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย

ในส่วนของการนำเข้าสินค้า ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า ธุรกิจนำเข้าจะขยายตัวในปี 2551 และ 2552 เนื่องจากความต้องการจากภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลภายใต้แผน “ปีแห่งการลงทุนไทย ปี 2551 – 2552” คาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติและช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

โอกาสการส่งออกในตลาดใหม่
ถึงกระนั้น การเติบโตของการส่งออกส่วนใหญ่จะมาจากการขยายตัวด้านการส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ และจากการคาดการณ์ชี้ว่า ผู้ส่งออกไทยควรสำรวจโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากตลาดหลักๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ความต้องการจะเริ่มคงที่ในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมส่งเสริมการส่งออกที่คาดการณ์ว่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่ในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 15.3 – 18.7 หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกไปยังอินเดีย จีน และประเทศในแถบตะวันออกกลาง มีการขยายตัวขึ้นมาก

สำหรับประเทศอินเดียนั้น เนื่องจากมีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงการที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (ITFTA) เอื้อประโยชน์ทางการค้าให้แก่ทั้งสองฝ่าย กรมส่งเสริมการส่งออกจึงคาดการณ์ว่า อินเดียจะเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจที่สุด และคาดว่าการส่งออกของไทยไปยังอินเดียจะขยายตัวถึงร้อยละ 40

ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 15 เห็นว่า จีนเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญสำหรับธุรกิจส่งออกของไทย อย่างไร ก็ตาม มีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 40 จากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมองว่า จีนเป็นคู่แข่งหลักทางการค้าของตน

ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยต้องการกระจายการส่งออกสู่ตลาดที่หลากหลาย ควรหมั่นพัฒนาคุณภาพและดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังควรพิจารณาทำประกันความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอีกด้วย

โอกาสการเติบโตทางธุรกิจผ่านข้อตกลงการค้าเสรี
ปัจจุบันประเทศไทยมีเจ็ดข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสี่ข้อตกลงการค้าเสรีหลักๆ เนื่องจากประโยชน์ทางการค้าที่ได้รับ อันดับแรกคือข้อตกลงเขตการค้าอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งเอื้อประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิเช่น ชิ้นส่วนและวัตถุดิบนำเข้าราคาถูกจากจีนสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยนี้ก่อให้เกิดปัญหากับผู้ผลิตภายในประเทศที่ผลิตสินค้าที่คล้ายๆ กัน

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จัดเป็นอันดับสองที่ผู้ประกอบการชาวไทยเห็นว่าเอื้อประโยชน์แก่ตนด้วยยอดการส่งออกสูงเป็นอันดับต้น อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในปี 2550 ทั้งนี้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นยังช่วยลดราคาสินค้าคุณภาพสูงที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และ แผงวงจรไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการชาวไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดออสเตรเลีย โดยได้จัดข้อตกลงเขตการค้าไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เป็นอันดับที่สามในแง่ประโยชน์ทางการค้าที่ได้รับ และอันดับสี่เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (ITFTA)

จากมุมมองการลงทุนที่เห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจผ่านข้อตกลงการค้าเสรี อย่างไรก็ดีมีผู้ส่งออกชาวไทยเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ดังนั้น เพื่อโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ ผู้ประกอบการควรยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ

จากความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจยังระบุว่า เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจะเข้าไปลงทุนมากที่สุด ตามมาด้วยประเทศจีน

การลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตสำหรับเอสเอ็มอี
จากข้อมูลปี 2550 มูลค่ารวมของการนำเข้าและส่งออกของไทยที่มาจากส่วนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจขนาดจิ๋ว (OTOP) คิดเป็นร้อยละ 31 และ 36 ของการส่งออกและนำเข้าทั้งหมด ตามลำดับ สำหรับการสำรวจในครั้งนี้ ได้มีการถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในตลาดโลกที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรเข้าไปลงทุน โดยผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปน่าจะมีศักยภาพสูงสุด ซึ่งสืบเนื่องมาจากความต้องการที่สูงขึ้นจากทั่วโลก รองลงมาคืออุตสาหกรรมหัตถกรรมไทย และอุตสาหกรรมการเกษตร

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
จากข้อมูลการสำรวจยังพบว่า นอกจากปัญหาราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจของผู้ตอบแบบสำรวจในทุกๆ ภาคอุตสาหกรรม อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งกว่าเดิม รวมถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและระบบขนส่งที่ยังมีไม่เพียงพอในแง่ของลอจิสติกส์ เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติมดีเอชแอล

ดีเอชแอล ผู้นำระดับโลก ทางด้านอุตสาหกรรมการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพิเศษในการมอบนวัตกรรมและโซลูชั่นซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ดีเอชแอลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการขนส่งด่วน การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ และบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมากในระดับท้องถิ่น และเครือข่ายในการให้บริการที่มีอยู่ทั่วโลก ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศและอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก ด้วยบุคลากรกว่า 300,000 คนทั่วโลก ที่พร้อมมอบบริการที่รวดเร็ว วางใจได้ และเกินความคาดหวังของลูกค้า ดีเอชแอล เป็นหนึ่งในตราสินค้าของดอยช์ โพสท์ เวิลด์ เน็ต ซึ่งสามารถทำรายได้ 63 พันล้านเหรียญยูโร ในปี ค.ศ. 2007

ดีเอชแอล ประเทศไทย ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์อย่างครบวงจรด้วยศักยภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง และดีเอชแอล เอ๊กเซล ซัพพลายเชน ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่จากการติดต่อผู้ให้บริการเพียงรายเดียว (one-stop-shop) ซึ่งรองรับการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่เอกสารไปจนถึงตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีพนักงานกว่า 5,300 คนให้บริการอย่างมืออาชีพ ผ่านเครือข่ายและจุดบริการมากกว่า 70 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ http://www.dhl.co.th