UPS เผยผลสำรวจ SMEs ไทยยังเชื่อมั่นโอกาสเติบโตของธุรกิจยังสดใส

ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ไทยมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ SME ที่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แม้ว่าผู้นำองค์กร SMEs ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมองว่า SMEs ไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อยก็ตาม โดยบริษัท ยูพีเอส ประเทศไทย เผยผลสำรวจจาก ยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์ 2551 ว่า 60% ของผู้นำองค์กร SMEs ไทย คาดว่าธุรกิจของตนจะมีการเติบโตมากกว่าปีที่แล้ว และ 52% ของผู้ให้สัมภาษณ์ มีแผนที่จะว่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์ (ยูพีเอส เอบีเอ็ม) เป็นการสำรวจประจำปี เพื่อประเมินความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเริ่มจัดทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่ง 40% ของผู้นำองค์กร SMEs จำนวน 1,201 คน จาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ให้สัมภาษณ์ มองว่าศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ SMEs ไทยในปี 2551 ยังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แม้ว่าสัดส่วนจะลดลงจาก 50% ในปี 2550 ก็ตาม

นายเกรกอรี่ คาร์สเตนส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูพีเอส ประเทศไทย กล่าวว่า “เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพ แม้ว่าต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมากมาย เนื่องจากคนไทยสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ดังที่เผยให้เห็นจากผลสำรวจในปีนี้ว่า ผู้นำองค์กร SMEs ไทยยังคงมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจของตนจะยังเติบโตได้อีกในปีนี้”

จากผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจของประเทศไทยที่คาดว่าจะเติบโตมากที่สุด 3 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต ตามมาด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทย ยังต้องอาศัยปัจจัยเสริม 3 ประการหลัก ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งได้แก่ การสนับสนุนจากรัฐบาล นวัตกรรมใหม่ๆ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ SMEs ไทย ยังต้องการการบริหารจัดการระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ โดย 50% ของผู้นำองค์กร SMEs ไทย ยอมรับว่า องค์กรของตนยังอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก รวมทั้งมองข้ามหรือไม่ได้นำการบริหารจัดการซัพพลายเชนที่มีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

“จากผลสำรวจของยูพีเอส เอบีเอ็ม ในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า SMEs ในประเทศไทยมองว่า การขาดความสามารถในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และการขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอุปสรรคสำคัญ 2 ประการ ที่พวกเขากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ได้ก่อให้เกิดโอกาสในการทำตลาดใหม่ๆ มากขึ้น และยังผลักดันให้ระบบการค้าระหว่างประเทศต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”

“ดังนั้น บริษัท ยูพีเอส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการเชื่อมโยงธุรกิจ จึงมีบทบาทสำคัญที่สามารถช่วย SMEs ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการให้บริการต่างๆ ตั้งแต่การจัดส่งพัสดุภัณฑ์ ไปจนถึงการบริหารจัดการระบบซัพพลายเชนอย่างครบวงจร และโซลูชั่นทางด้านอี-คอมเมิร์ซ” นายเกรกอรี่ กล่าวเพิ่มเติม

ยูพีเอส เอบีเอ็ม 2551 ยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อประเด็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจ 3 ประการแรก ที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ในไทยเป็นกังวลมากที่สุด โดยในปี 2550 ปัญหาที่ผู้นำองค์กร SMEs ไทยมีความกังวลมากที่สุด คือ เรื่องคุณภาพของสินค้าและการให้บริการ แต่ในปี 2551 ประเด็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจที่ผู้นำองค์กร SMEs ไทยกังวลมากที่สุด คือ เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ (57%) ตามมาด้วยเรื่องความสามารถในการรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้กับองค์กร (55%) และการรักษาฐานของลูกค้า (46%)

ผู้นำองค์กร SMEs ไทย ยังให้ความเห็นต่อไปอีกว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ การให้การศึกษา (59%) และการสนับสนุนจากภาครัฐ (47%)

สำหรับประเด็นสำคัญอื่นๆ จากการสำรวจของยูพีเอส เอบีเอ็ม 2551 มีดังนี้
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐอเมริกาสร้างความไม่มั่นใจให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้นำองค์กร SMEs ในภูมิภาค โดย 40% ของผู้นำองค์กร SMEs ในไทย มีความกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

มุมมองต่อจีนที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลก ผู้นำองค์กร SMEs มีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อบทบาทของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยผู้นำองค์กร SMEs ในไทย รู้สึกว่าการเติบโตของจีนส่งทั้งผลดีและผลเสียต่อธุรกิจโดยรวม

ความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน
81% ของผู้นำองค์กร SMEs ที่ให้สัมภาษณ์ทั่วภูมิภาค มองว่าการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ในขณะที่อีก 51% มองว่าเรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรขนาดใหญ่ที่จะต้องเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม 71% ของผู้นำองค์กร SMEs ไทยกลับมองว่าประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น

ผลกระทบจากการเรียกร้องเรื่องคุณภาพระดับโลก
ในขณะที่ผู้นำองค์กร SMEs ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามอย่างเข้มงวดในระดับนานาชาติเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารและสินค้า แต่ 20% ของผู้นำองค์กร SMEs ไทย รู้สึกว่าธุรกิจของตนได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว โดยในจำนวนนี้ได้รับการกดดันให้ปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจดังกล่าว ยูพีเอสได้นำมาต่อยอดโดยการจัดงานสัมมนาขึ้น ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีชื่อว่า “ติดปีก SMEs ไทยด้วย E-Commerce” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในภาคธุรกิจต่างๆ มาแสดงทัศนะเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริม SMEs ไทยให้สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการระบบซัพพลายเชนที่ดีสามารถช่วยปรับปรุงธุรกิจโดยรวมและช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานได้อย่างไรบ้าง โดยประเด็นในการสัมมนาประกอบด้วยโอกาสด้านการทำธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซของ SMEs ไทย การบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์การสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นในโลกออนไลน์ และบทบาทของยูพีเอสที่มีต่อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย

เกี่ยวกับยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์ 2551
ยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์ (เอบีเอ็ม) เป็นการสำรวจประจำปีของยูพีเอสที่มีรางวัลเป็นเครื่องรับประกัน ได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สำหรับยูพีเอส เอบีเอ็ม ในปีนี้ ได้เก็บข้อมูลจากผู้นำองค์กรธุรกิจ SME จำนวน 1,201 คน จาก 12 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2550 – 24 มกราคม 2551

ยูพีเอส เป็นบริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้นำโลกในธุรกิจบริการซัพพลายเชนและเฟรทที่ให้บริการหลากหลายครบวงจร ด้วยประสบการณ์กว่า 1 ศตวรรษในด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ ยูพีเอสได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลกด้านการค้าด้วยโซลูชั่นต่างๆ ที่ครบวงจร บริษัทยูพีเอสมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแอตแลนต้า มลรัฐจอร์เจีย และมีศูนย์จัดส่งและให้บริการในกว่า 200 ประเทศและเขตการปกครองต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยูพีเอสยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทฯ ได้ที่เว็บไซต์ UPS.com