“เอแบค” ดึงนักธุรกิจชั้นนำตัดสิน พร้อมประกาศผลรางวัล “U-ED # 3”

“เอแบค” จัดงานนำเสนอ ประกาศผลและมอบรางวัล การจัดแข่งขันโครงการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 3 วันที่ 12 – 13 กรกฎาคม 2551 มี สถาบันการศึกษาชั้นนำในเมืองไทยเข้าร่วมชิงชัยรวม 24 แห่งทั่วประเทศ พร้อมยืนยันเตรียมจัดต่อเป็นครั้งที่ 4 เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเป็นหัวใจสำคัญ

โครงการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา เป็นพัฒนาการของกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจัดขึ้นมากว่า 30 ปี ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำรูปแบบดังกล่าวมาดำเนินการให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยนักศึกษาจะรู้จักกันดีในชื่อของ “เอแบคดัมมี่” และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พยายามที่จะขยายแนวความคิดนี้สู่วงกว้างไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยเฉพาะการพัฒนาสังคมธุรกิจในเมืองไทย ให้แข็งแกร่ง รองรับกับสังคมธุรกิจระดับโลก ที่กำลังก้าวเข้ามา
มีอิทธิพลในเมืองไทยเป็นอย่างมาก

การแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABACA) เพื่อสร้างจิตสำนึกในการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างงานได้ด้วยตนเอง และพัฒนาความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน

การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นผลมมาจากการประสบความสำเร็จจากการจัดงานในครั้งที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งบรรยากาศของการจัดการแข่งขันเต็มไปด้วยความอบอุ่น ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ที่ต่างให้ความสนใจในการเข้าร่วมและแนะนำโครงการบริษัทจำลองของตัวเอง อีกทั้งยังได้แลกประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

สำหรับการจัดการแข่งขันในครั้งที่ 3 นี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจัดนักธุรกิจที่ปรึกษาเดินสายทำการฝึกอบรมให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ การวางแผน การเลือกธุรกิจในลักษณะซื้อมาขายไปหรือธุรกิจบริการ กลยุทธ์การจัดการและการตลาด การหาช่องทางการตลาด การจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากนั้นก็จะเริ่มจัดองค์กร แบ่งสายงาน ตั้งแต่การบริหารงานบุคคล การรับสมัครพนักงานขาย การวางรูปแบบระบบบัญชีและการเงิน การกำหนดและปรับเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะทำให้เข้าใจระบบและภาพรวมของธุรกิจได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในภาคเหนือจัดที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ มีสถาบันเข้าร่วม 9 สถาบัน ภาคใต้จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา มีสถาบันเข้าร่วม 6 สถาบันเข้าร่วม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม มีสถาบันเข้าร่วม 8 สถาบัน ภาคกลางจัดที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีสถาบันเข้าร่วม 15 สถาบัน รวมทั้งสิ้น 38 สถาบัน

“จุดเด่นของการดำเนินธุรกิจจำลองในปีนี้ จะเห็นได้ว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้นำสินค้าชุมชนหรือสินค้าท้องถิ่น สินค้ารณรงค์ลดโลกร้อน การนำขยะมารีไซเคิล เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ รวมทั้งให้ความสำคัญในการทำประโยชน์ให้กับสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย” นอกจากนี้แต่ละสถาบันยังได้มีเครือข่ายในภูมิภาคของตนซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันและการเชื่อมโยงธุรกิจให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

สำหรับในปีนี้คณะกรรมการตัดสินเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้าในองค์กรชั้นนำ เกณฑ์การตัดสินและให้คะแนนนั้น จะแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ คือ การวางแผนและผลการดำเนินงาน 25%, การตลาด 15 % การบริหารบุคคล 10 % การประชาสัมพันธ์ 10%, นวัตกรรม10%, การทำประโยชน์ให้แก่สังคม 15%, การรายงานและการนำเสนอ15 %

โดยมีการนำเสนอผลการดำเนเนิงานของแต่ละสถาบัน ในวันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2551 เวลา 9.00 น. ณ Auditorium Hall มหาวิทยาลัยอัสสัญ วิทยาเขตหัวหมาก การนำเสนอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่สถาบันที่จัดตั้งธุรกิจจำลอง 1 – 5 ปี และสถาบันที่จัดตั้งธุรกิจจำลอง 5 ปีขึ้นไป ในวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2551 เวลา 14.00 น. เป็นการประกาศผลรางวัล โดยมีนายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภราดา ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นายวิวัฒน์ อวศิริพงศ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และผู้สนับสนุนโครงการฯ ให้เกียรติร่วมงาน

และจากผลของการจัดการแข่งขันกับโครงการดังกล่าว ทำให้ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมการที่จะจัดการแข่งขันเป็นครั้งที่ 4 โดยในครั้งหน้านี้จะการมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายสถาบันการศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ซึ่งคาดว่าจะมีสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 50 สถาบัน