คาด กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 แต่เงินเฟ้ออาจจะยังคงไม่ลดลงในเวลาอันใกล้

ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) จะมีการประชุมรอบที่ห้าของปีนี้เพื่อตัดสินใจนโยบายการเงินหรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ที่ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.25 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการประชุม กนง.ในรอบนี้ สรุปได้ดังนี้:-

ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย (Headline CPI Inflation) อาจจะยืนเหนือระดับร้อยละ 9.0 ในเดือนกรกฎาคม และขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 10.0 ในเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะยืนระดับเหนือร้อยละ 9.00 ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2551 ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังมีระดับสูงต่อเนื่อง และสินค้าในประเทศอีกหลายรายการที่มีแนวโน้มจะขยับราคาขึ้น รวมทั้งผลของฐานการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในทิศทางที่สอดคล้องกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน อาจปรับตัวเข้าหาระดับร้อยละ 4.5-5.0 ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ล่าสุดในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปีที่ร้อยละ 8.9 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงเกินกรอบบนตามเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ของ กนง.ในช่วงร้อยละ 0-3.5 ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ด้วย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมิถุนายนยังมีระดับสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้ออาจยังมีแนวโน้มจะถูกส่งผ่านจากผู้ผลิตมายังผู้บริโภคได้อีกในระยะถัดไป

ความคิดเห็นที่แตกเป็นสองฝ่าย ท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงในระยะที่เหลือของปี หลังจากที่เติบโตร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทัศนะของนักวิเคราะห์ที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงินในการประชุม กนง.รอบวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ จึงแตกออกเป็นสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลสนับสนุน โดยฝ่ายแรกที่สนับสนุนให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีข้อสนับสนุนคือ กนง.ควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและเป็นการดำเนินนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะที่ อีกฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนให้ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้นั้น ก็มีข้อสนับสนุนที่เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจซึ่งกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวให้แย่ลงไปอีก และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า ฝ่ายที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนั้น มองประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติเฉพาะหน้าในด้านต้นทุนราคาสินค้าเป็นสำคัญ ในขณะที่ ฝ่ายที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มองผลกระทบเชิงพลวัตรต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกรอบเวลาที่ยาวนานกว่า

กนง.เผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ … ประเด็นหลักคือเรื่องความเชื่อมั่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. คงจะไม่ทำให้ระดับราคาสินค้าในประเทศถูกลง แต่ กนง.คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินว่า กนง.ยังคงมีจุดยืนที่จะดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นการสกัดกั้นไม่ให้ระดับราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะหากประชาชนขาดความมั่นใจในการดำเนินนโยบายการเงินของทางการหรือการถือครองเงินไว้กับตัวแล้ว ก็จะยิ่งส่งผลซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้นไปอีก กระนั้นก็ดี หาก กนง.เลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ไม่ว่าจะด้วยขนาดร้อยละ 0.25 หรือมากกว่านั้น ต้องยอมรับว่า แรงกดดันเงินเฟ้อคงจะไม่ปรับลดลงมาโดยทันทีหลังจากที่ กนง.ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากกว่าที่ผลของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดจะปรากฏ คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นแล้ว การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในการประชุมรอบนี้ คงจะเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เพราะ กนง.อาจจะต้องดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะไม่ปรับตัวลงมาจนกว่าจะผ่านพ้นปลายปีนี้ไปแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม การไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจที่ตลาดการเงินมีต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และอาจมีผลในวงกว้างไม่เฉพาะต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นไปอีกเท่านั้น แต่อาจรวมถึงค่าเงินบาทที่อาจจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันด้วยจากการขาดความเชื่อมั่นดังกล่าว

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) คงมีทางเลือกที่จำกัด โดยเฉพาะในภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างในปัจจุบัน โดยคาดว่า กนง.คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.25 มาที่ร้อยละ 3.50 ในการประชุมรอบที่ห้าของปีในวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 นี้ ซึ่งเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดเงินตลาดทุนว่า ทางการยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ดูแลเสถียรภาพของระดับราคาอยู่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม กนง.คงจะต้องสื่อความให้แก่ตลาดการเงินและสาธารณชนเข้าใจว่า การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าว อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นผล ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและระมัดระวัง น่าที่จะค่อยๆ นำพาให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพได้ในระยะถัดๆ ไป