เนคเทคเชื่อมั่นวิศวะม.อ. หนุนเต็มที่ เพื่อวิจัยฟื้นฟูช่วยผู้สูงอายุ ผู้พิการชายแดนใต้

เนคเทคสนับสนุน ม.อ.ตั้งเครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมฟื้นฟู เพื่อการคิดค้น พัฒนาวิจัย ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจัดตั้งห้องปฏิบัติการเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า เนคเทคได้ลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมฟื้นฟู โดยจัดสรรงบประมาณแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปีละ 1 ล้าน เป็นเวลา 5 ปี และสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย โดยจัดสรรงบประมาณปีละ 5 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความพร้อม และประสบการณ์การทำวิจัยด้านวิศวกรรมฟื้นฟู และมีทีมวิจัยด้านระบบเซ็นเซอร์ไร้สายที่มุ่งมั่นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดผลงานวิจัยอันสำคัญต่อประเทศชาติ

รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คณะมีความพร้อมด้านวิศวกรรมฟื้นฟู เนื่องจากคณาจารย์มีประสบการณ์การทำวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเนคเทคที่จะดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการจากความไม่สงบในภาคใต้ ได้แก่ การพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด เครื่องช่วยกลืนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ที่ได้วิจัยร่วมกับแพทย์และนำไปใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มาอย่างต่อเนื่อง และจดสิทธิบัตรแล้วทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา (ผลงานของ ศ.นพ.วิทูร ลีลามานิตย์ คณะแพทยศาสตร์ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ นายอลัน กีเตอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เก้าอี้รถเข็น และ รถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น ในส่วนของห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมเครือข่ายไร้สายนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์มีทีมวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะและมีผลงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่หลายเรื่อง เช่น การประยุกต์เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายสำหรับตรวจวัดภูมิอากาศในสวนยางพารา เป็นต้น

นอกจากนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์มีอาจารย์ไม่น้อยกว่า 30 คน และนักศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ที่สามารถสนับสนุนงานของหน่วยงานดังกล่าว พร้อมกันนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังมีสถานวิจัยและทีมวิจัยอื่นๆที่เป็นหน่วยงานภายใน ที่สามารถเข้าร่วมทำงานวิจัยกับหน่วยงานทั้งสองได้ เช่น สถานวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย สถานวิจัยวิศวกรรมวัสดุ ทีมวิจัยด้านระบบอัจฉริยะ รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีคณะทรัพยากรธรรมชาติและคณะแพทยศาสตร์ที่สามารถสนับสนุนงานวิจัยเชิงประยุกต์

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวต่อไปว่า นับวันประเทศไทยจะมีประชากรในวัยสูงอายุมากขึ้น การพัฒนาสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังหกล้ม เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก็มีความจำเป็นมากขึ้น งานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์สำหรับผู้พิการทางสายตาก็ต้องพัฒนาต่อด้านภาคแสดงผล เพื่อให้การใช้งานมีความสะดวก มากขึ้น การพัฒนาระบบควบคุมอุปกรณ์และเครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะเพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ มีความเป็นอยู่ที่สะดวกขึ้นเป็นเป้าหมายอีกอย่างของงานวิจัย รวมทั้งการประยุกต์เครือข่าย ไร้สายเพื่อตรวจวัดค่าต่างๆในตัวคน ขณะนี้เครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมฟื้นฟูใช้ห้องปฏิบัติการของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และห้องปฏิบัติการร่วมเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย ใช้ห้องปฏิบัติการของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และในปลายปีนี้เมื่ออาคารหลังใหม่ของคณะ คืออาคารศูนย์วิจัยวิศวกรรมศาสตร์ประยุกต์สร้างเสร็จเรียบร้อย ห้องปฏิบัติการทั้งสอง ก็จะย้ายมาที่อาคารหลังนี้และคณะวิศวกรรมศาสตร์จะใช้งบประมาณของคณะและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สนับสนุนอีก 1 ล้านต่อปี เพื่อพัฒนาศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมฟื้นฟูต่อไป