สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ส่งสารเร่งด่วน เร่งขยายพื้นที่ คู่พัฒนาทรัพยากรบุคคล

สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ปูพรมขยายช่องทางเปิดศูนย์แสดงสินค้าและจัดการประชุมแห่งใหม่ ประเดิมที่จังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต เตรียมรุกตลาดระดับภูมิภาค ประเดิมความพร้อมแข่งขันด้านธุรกิจไมซ์ ด้วยศักยภาพการก้าวขึ้นเป็นผู้จัดงาน “Asia MICE 2009” ดึงผู้ร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้า

สมาคมการแสดงสินค้าไทย และวัตถุประสงค์ขยายอุตสาหกรรมไทย
คุณพรรธระพี ชินะโชติ นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า “สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA (Trade Exhibition Association (Thai)) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการด้านงานแสดงสินค้าในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจ ประเภทที่เกี่ยวข้องกับการจัดการดำเนินการ หรือให้บริการแก่ผู้เข้าร่วมแสดงสินค้านานาชาติ โดยส่งเสริมเผยแพร่ให้ประเทศไทยมีรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ธุรกิจการจัดแสดงนิทรรศการของประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง งานแสดงสินค้าโดยมากที่จัดในประเทศนั้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยังคงเป็นงานในระดับท้องถิ่นเท่านั้น อาทิ งานคอมมาร์ท งานมอเตอร์โชว์ งานเวดดิ้งแฟร์ งานเฟอร์นิเจอร์ งานที่อยู่ในระดับสากลจริงๆ ยังมีจำนวนไม่มากนัก ในสัดส่วนการตลาดที่ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศข้างเคียง เช่น สิงคโปร์และฮ่องกงนั้น 70 เปอร์เซ็นต์เป็นงานสากลระดับพรีเมี่ยม ดังนั้น หากประเทศไทย ยังนิ่งนอนใจในการวางมาตรการรุกตลาดอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านี้ เราจะต้องสูญเสียมูลค่าทางการตลาดมหาศาลแน่นอน ฉะนั้น เพื่อสร้างความพร้อมในการแข่งขัน และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ปะทะกับคู่แข่งแถวหน้าทั้งสองประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องวางกลุยุทธ์เชิงรุกและยั่งยืน เริ่มต้นด้วยแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดความต่อเนื่อง ในทิศทางที่สอดคล้องกับการสร้างทรัพยากรต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ อาทิ ปัจจัยแรกและสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจำเป็น ได้แก่ การสรรหาพื้นที่รองรับงานแสดงสินค้าและจัดการประชุม โดยพิจารณาจากจุดยุทธศาสตร์ทางการตลาดและการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และมีศักยภาพรับการขยายตัวเช่นนี้ อาทิ เชียงใหม่และภูเก็ต เป็นต้น โดยที่เชียงใหม่กำลังดำเนินการสร้างอยู่บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ในงบประมาณไว้ 1,900 ล้านบาท ส่วนภูเก็ตนั้นมีพื้นที่ประมาณ 10,000-20,000 ตารางเมตร ในงบ 1,000 ล้านบาท ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพของอีกทั้ง 2 ประเทศนั้น ยังถือว่าเป็นรองทางการแข่งขันอยู่มาก ทว่า เมื่อพิจารณาองก์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ที่พัก สถานที่พักผ่อน ท่องเที่ยว ประเทศเราได้เปรียบหากสามารถนำมาพัฒนาแบบบูรณาการได้ เมื่อเข้าแข่งขันการขายพื้นที่ต่องานแสดงสินค้าระดับสากลนั้น โปรแกรมแวดล้อมอื่นๆ ถือว่าเป็นส่วนที่ส่งผลให้การตัดสินใจเชิงบวกเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ จากการนี้ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไมซ์นี้ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ และจะกระตุ้นเงินหมุนเวียนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่มียอดการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและปริมาณห้องพักในอัตราที่สูงมาก”

ความร่วมมืออันดีกับภาครัฐ
“สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ได้ร่วมมือกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปโปรโมตผ่านกิจกรรมโรดโชว์ยังต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) พร้อมวางแผนการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมการแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้มีการจัดงาน Road Show ที่ประเทศจีน ชื่อว่า Thai-Chinese Exhibition Forum Co-organized by Shanghai Convention and Exhibition Industries Association and Beijing International Convention & Exhibition Industry Association ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 บริษัท และความพร้อมในการจัดงาน ASEAN MICE 2009 ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นนี้ ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน ภายใต้การสนับสนุนจากสสปน. เราได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไปแล้วประมาณ 30 คาดหวังจะเป็นแม่เหล็กดึงผู้ร่วมชมงานนานาชาติในประเทศไทยให้มากขึ้น” นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวเสริม

ทรัพยากรบุคคลของประเทศ – ศักยภาพไม้ตายของไทย
“เพื่อให้การเติบโตเป็นแบบยั่งยืนและต่อเนื่อง ดังนั้น นอกเหนือจากด้านการลงทุนด้านพื้นที่แล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศที่ต้องกระทำควบคู่ไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อเป็นการวางแผนงานเชิงรุกเต็มรูปแบบ TEA จึงจัดทำโครงการสร้างตำราสอนธุรกิจไมซ์ มุ่งปูพื้นฐานตามสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรี ในชั้นต้นนี้ เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก มหาวิทยาลัยเครือราชภัฏ และเรายังได้จัดสร้างตำราเรียนในมาตรฐานเดียวกัน โดยยึดมาตรฐานสากล UFI อันเป็นสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับร่างมาตรฐานการจัดงานนิทรรศการ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมรองรับการเติบโตของตลาดไมซ์ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานทางด้านธุรกิจให้กับนักศึกษา และนักศึกษาที่จบหลักสูตรธุรกิจไมซ์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในการจ้างงานกับทางเราต่อไป เราต้องมองให้ชัดเจนว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์นั้นใกล้เคียงกับการท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ธุรกิจเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรขึ้นมาให้ถูกทาง พร้อมรองรับการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน พร้อมกับที่บุคลากรชาวไทยของเรานั้น ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพทางด้านการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ ตลอดจนรับมือกับความกดดันจากการแข่งขันในธุรกิจได้ด้วยความเข้าใจ ในขณะที่ไม้ตายของไทยคือเสน่ห์แห่งความเป็นชาวไทยที่รู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัย และเอื้อเฟื้อของเราที่จะเป็นจุดแข็งอย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านก็คงเอาชนะได้ยาก แต่เราต้องเริ่มกันตั้งแต่วันนี้” คุณพรรธระพี กล่าวสรุป