ยอดขายรถจักรยานยนต์ครึ่งหลังปี 2551 อาจชะลอตัวลง

จากแนวโน้มการตอบรับที่ดีของตลาดผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 สอดรับกับภาวะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนอย่างรุนแรงตลอดช่วงที่ผ่านมา และผลจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้นได้ปลุกตลาดรถจักรยานยนต์ให้กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549 – 2550) และขยายตัวสูงกว่าศักยภาพการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์ของไทยที่เป็นตลาดที่อิ่มตัวแล้ว ส่งผลให้ปริมาณยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วง 5 เดือนแรกปรับตัวขึ้นไปสูงถึงประมาณ 710,000 คัน ซึ่งเทียบได้เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2550 โดยเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้บริโภคเพื่อลดต้นทุนการเดินทางในชีวิตประจำวัน และจากฐานตัวเลขยอดขายครึ่งแรกของปี 2550 ที่ลดลงมากถึงร้อยละ 22.1 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของยอดขายปรับมาเป็นบวกอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการปรับลดลงของราคาน้ำมันในประเทศ และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่มีโอกาสจะลดลงในช่วงต่อจากนี้ไป คาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีอัตราการขยายตัวชะลอลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อยอดขายรถจักรยานยนต์ในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในอนาคตข้างหน้า

ปัจจัยที่ส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงครึ่งแรกของปีมีการขยายตัวสูง

• ผลผลิตสินค้าเกษตร และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรของโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชพลังงานส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารลดน้อยลง อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทั้งในจีน และอินเดีย ทำให้ความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นมากด้วย ส่งผลให้อุปทานสินค้าเกษตรลดลง และเกิดภาวะขาดแคลนในบางพื้นที่ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และเกษตรกรเร่งขยายการเพาะปลูก ซึ่งจากปัจจัยด้านผลผลิตและราคาที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นสูงถึงประมาณร้อยละ 50 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต และ ไข่ เป็นต้น ซึ่งราคาสินค้าภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นมีผลทำให้เกษตรกรมีรายได้ และกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ยอดขายรถจักรยานยนต์ซึ่งมักทำยอดขายได้ดีในต่างจังหวัดจึงปรับสูงขึ้น

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาดโลกอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวและค่าเงินดอลลาร์ฯที่อ่อนตัวลง ทำให้นักเก็งกำไรทางการเงินหันไปเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันแทน ซึ่งจากราคาน้ำมันที่ผันผวนรุนแรงและปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตของตน ประกอบกับรัฐบาลไม่มีทิศทางนโยบายพลังงานทางเลือกที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมออกมาให้เห็น ทำให้ประชาชนต้องหาทางออกเฉพาะหน้าด้วยการหันไปพึ่งพลังงานทางเลือกราคาถูกที่หาได้สะดวก เช่น ก๊าซ LPG หรือหันไปซื้อรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะประเภทใช้เครื่องยนต์หัวฉีดที่สิ้นเปลืองน้ำมันน้อยกว่า ซึ่งสามารถใช้เดินทางได้สะดวกในระยะใกล้และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายการเดินทางน้อยกว่า ทั้งนี้จากราคาขายที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ทำให้รถจักรยานยนต์เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีในช่วงรอทิศทางอันชัดเจนด้านพลังงานจากทางรัฐบาล ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ทวีความรุนแรงอย่างมากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ได้ปรับตัวขึ้นไปสูงที่สุดที่ระดับราคา 44.24 บาทต่อลิตร แม้ว่าตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์เดือนมิถุนายนยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกมา แต่ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ได้สะท้อนให้เห็นผลชัดเจนจากยอดปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2551 ที่สามารถทำสถิติสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยมีปริมาณทั้งสิ้นถึง 163,501 คัน และคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า

การอ่อนตัวลงของราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมัน..ส่งผลให้ตลาดรถจักรยานยนต์ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัว

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่

• ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ทั้งนี้เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผลผลิตเกษตรในตลาดช่วงต่อจากนี้ไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง จากที่เกษตรกรมีการเพิ่มการผลิตสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่แพงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงที่ตามฤดูกาลแล้วมีผลผลิตทางการเกษตรออกมามากที่สุด จะส่งผลให้ปริมาณสินค้าเกษตรอาจมีมากเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเริ่มเห็นทิศทางดังกล่าวได้จากดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2551 พบว่าลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ร้อยละ 1.0 (ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2551 มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.5 เทียบกับเดือนเมษายน) ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้าเกษตรจากภาวะการค้าที่ชะลอตัว เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ทั้งจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศชะลอลง และผลผลิตในประเทศเวียดนามที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกและสถานีบริการพลังงานทางเลือกเริ่มมีมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ค่ายรถยนต์ต่างออกมาเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆที่มีการติดตั้งถังก๊าซ NGV จากโรงงานโดยตรง ซึ่งแม้รถจักรยานยนต์จะได้รับแรงกระตุ้นยอดขายจากความสะดวกในการใช้ระยะทางใกล้ๆ และความประหยัดในการใช้เชื้อเพลิง แต่ด้วยลักษณะการใช้งานของรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะที่มีความเหมาะสมและจำเป็นต่อการใช้งานของเกษตรกรมากกว่า ประกอบกับการที่ปตท.ได้เร่งขยายสถานีบริการก๊าซ NGV ไปทั่วประเทศโดยตั้งเป้าให้มีสถานีบริการก๊าซ NGV กระจายอยู่ทั่วประเทศ 355 แห่งในปีนี้ อีกทั้งรัฐให้การสนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV ซึ่งเป็นพลังงานที่มีราคาประหยัดกว่าอย่างมาก เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีรายได้ดีอาจตัดสินใจไม่ซื้อหรือเลื่อนการซื้อรถจักรยานยนต์ออกไป

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 8.9 ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็น 3.50% ซึ่งเป็นสัญญาณถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ลุกลามมากเกินไป ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นดังกล่าวนี้ ส่งผลให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขึ้นมาบ้างแล้ว และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อความต้องการซื้อของผู้บริโภคเนื่องจากภาระในการผ่อนชำระที่สูงขึ้น

จากปัจจัยที่กล่าวมาในเบื้องต้นคาดว่ามีโอกาสทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ช่วงครึ่งหลังมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงกว่าช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆเองก็มีความพยายามที่จะกระตุ้นยอดขาย รวมไปถึงกลยุทธ์ในการทำการตลาดของดีลเลอร์รถจักรยานยนต์ และบริษัทผู้ให้สินเชื่อสำหรับรถจักรยานยนต์ที่จะใช้กลยุทธ์ของตนในการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เช่น การปรับ ไมเนอร์เชนจ์รถรุ่นต่างๆ การให้วางเงินดาวน์ 0% และการที่ผู้ผลิตหันมาจัดตั้งบริษัทสินเชื่อรถจักรยานยนต์ด้วย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากฐานตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์ที่ลดต่ำลงถึงร้อยละ 18.9 ในปี 2550 ทำให้โดยรวมแล้วในปี 2551 นี้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศคาดว่ามีโอกาสจะขยายตัวสูงขึ้นไปได้ถึงประมาณร้อยละ 7.7 ซึ่งคิดเป็นปริมาณยอดขายรถจักรยานยนต์รวมทั้งปีได้ประมาณ 1,678,000 คัน

สรุปและข้อคิดเห็น
คงต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลกระตุ้นยอดขายรถจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อยกว่า อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 นี้ อาจต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันต่างๆไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อของผู้บริโภคหลักที่ลดลงทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่อาจปรับตัวลดลง และภาระต้นทุนการผ่อนชำระที่สูงขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เริ่มลดความรุนแรงลง ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ผู้บริโภคมีเวลาในการตัดสินใจเลือก และเปรียบเทียบคุณสมบัติของยานพาหนะที่เหมาะสมกับความต้องการใช้งานของตนมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้น่าจะส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ครึ่งหลังปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และส่งผลให้โดยรวมทั้งปี 2551 ยอดขายในประเทศมีอัตราการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 7.7

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวในสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังคงรักษาระดับสูงอยู่เช่นนี้ เมื่อผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวกับการหันมาบริโภคพลังงานทางเลือก และยานพาหนะที่ประหยัดพลังงานกันมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวพลิกเป็นปัจจัยบวกแก่ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ให้มากที่สุดได้นั้น ผู้ผลิตจำเป็นที่จะต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้มุ่งไปสู่แนวทางการประหยัดพลังงานที่มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันรถจักรยานยนต์ยังไม่สามารถใช้พลังงานทางเลือกได้มากเท่ารถยนต์ เช่น การใช้ก๊าซ LPG และ NGV จากข้อจำกัดหลายๆประการ ทำให้ทางเลือกของรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันจึงมีไม่มากนัก เช่น การพัฒนาระบบเครื่องยนต์ให้มีความสามารถในการประหยัดมากขึ้น และมีความสามารถในการใช้พลังงานทางเลือกเช่นแก๊สโซฮอล์ได้หลากหลายมากขึ้น ดังเช่นที่มีผู้ผลิตบางรายได้มีการพัฒนาระบบจ่ายน้ำมันแบบหัวฉีดใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติให้ทั้งการประหยัดน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้รถมีสมรรถนะดีขึ้น และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยปล่อยไอเสียที่สะอาดมากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาให้รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่ออกมาสามารถรองรับแก๊สโซออล์ อี20 ได้ ส่วนแนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นแนวทางของรถจักรยานยนต์ในอนาคตต่อไป ซึ่งได้มีการพัฒนาไปแล้วบางส่วนแต่ยังไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ การพัฒนารถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และพลังงานผสมระหว่างน้ำมันกับพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันแม้ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงแต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคยกับรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจำหน่ายนั้นเป็นรถจากประเทศจีน ซึ่งบางยี่ห้อยังไม่ได้มาตรฐาน มีปัญหาบ่อยครั้ง ดังนั้นหากผู้ผลิตสามารถพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานผสมที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานออกมาได้ก็น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีในอนาคตต่อไป