ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมิถุนายนของธนาคารแห่งประเทศไทย … การลงทุนยังคงชะลอตัว

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมิถุนายน 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประเด็นสำคัญดังสรุปได้ดังต่อไปนี้

ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน 2551 สะท้อนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาพรวมโดยมีแกนหลักอยู่ที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก

สำหรับการใช้จ่ายของภาคเอกชน แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 (YoY) ในเดือนมิ.ย. (นำโดย ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง/รถจักรยานยนต์ และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค) จากร้อยละ 6.3 ในเดือนพ.ค. แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวลง โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2 ในเดือนมิ.ย. (เป็นไปตามการชะลอของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการหดตัวลงของยอดขายปูนซีเมนต์) ลดลงจากร้อยละ 4.5 ในเดือนพ.ค.

สำหรับในด้านการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.2 ในเดือนมิ.ย. (โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.5 ในเดือนพ.ค. ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตการเกษตร (Farm Production) ขยายตัวร้อยละ 21.2 ในเดือนมิ.ย. ชะลอลงจากร้อยละ 32.3 ในเดือนพ.ค.

สำหรับภาคต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 28.5 ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.1 ในเดือนพ.ค. โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวทั้งทางด้านราคาและปริมาณ ทั้งนี้ การส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวสูงถึงร้อยละ 75.6 ในเดือนมิ.ย. จากร้อยละ 57.8 ในเดือนพ.ค. ในขณะที่สินค้าที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลักขยายตัวร้อยละ 47.9 ในเดือนมิ.ย. เร่งขึ้นจากร้อยละ 39.2 ในเดือนพ.ค. โดยเฉพาะการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 31.5 ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.7 ในเดือนพ.ค. โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าในทุกหมวด ขณะที่ปริมาณการนำเข้าพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่หดตัวลงในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นขยายตัวร้อยละ 67.8 ในเดือนมิ.ย. เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในเดือนพ.ค. ส่วนการนำเข้าในหมวดสินค้าทุนและวัตถุดิบขยายตัวร้อยละ 23.6 และร้อยละ 28.7 ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.8 และร้อยละ 21.4 ในเดือนพ.ค. ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมากกว่าการส่งออกส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมิ.ย. บันทึกยอดเกินดุลที่ 926 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากที่เกินดุล 1.27 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค.

ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2551 สะท้อนการขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าในไตรมาส 1/2551 เล็กน้อย

หากพิจารณาการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2551 จะพบว่า เครื่องชี้ส่วนใหญ่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าในไตรมาส 1/2551 เล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (ขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาส 2 เทียบกับร้อยละ 7.0 ในไตรมาส 1) ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาส 2 ลดลงจากร้อยละ 5.9 ในไตรมาส 1) และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ขยายตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาส 2 ลดลงจากร้อยละ 12.6 ในไตรมาส 1)

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากการส่งออกซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ทั้งนี้ การส่งออก ขยายตัวร้อยละ 26.3 ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.9 ในไตรมาส 1 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ส่วนด้านรายได้เกษตรกรขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นอย่างมากที่ร้อยละ 53.2 ในไตรมาส 2 เทียบกับร้อยละ 23.0 ในไตรมาส 1 โดยดัชนีราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 24.6 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.0 ในไตรมาส 1) ในขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชผลขยายตัวร้อยละ 23.0 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาส 1)

จากตัวเลขต่าง ๆ ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่เริ่มสะท้อนสัญญาณการชะลอตัวเล็กน้อยในไตรมาส 2/2551 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5-6.0 ในไตรมาส 2/2551 ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยหลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.0 ในไตรมาส 1/2551 และหากประเมินภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2551 จะพบว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะชะลอลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดของปี 2551 ในช่วงไตรมาส 3/2551 ตลอดจนประเด็นทางการเมือง ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนและอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในระยะถัดไป