เศรษฐกิจยูโรโซนและญี่ปุ่นหดตัว…อาจกระทบส่งออกไทย

แม้ว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 จะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งถึง 24.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แต่การประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ล่าสุดในไตรมาส 2/2551 ของญี่ปุ่น ตลอดจนหลายๆ ประเทศในแถบยุโรป ที่หดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกันนั้น อาจเป็นสัญญาณเริ่มแรกที่สะท้อนให้เห็นถึงโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับภาคส่งออกของไทย และเมื่อประกอบเข้ากับความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับฐานของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ก็อาจทำให้แนวโน้มของภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 อาจไม่สดใสมากนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจหลักของโลกและประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ดังนี้ :-

เศรษฐกิจหลักของโลก…เริ่มหดตัว
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า การส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้สูงถึง 24.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) นั้น เป็นตัวเลขที่ดีกว่าความคาดหมาย และสูงกว่าอัตราการขยายตัว 16.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 โดยการขยายตัวดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ตลอดจนการทะยานขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม ข้อมูล GDP ล่าสุดในไตรมาส 2/2551 ของหลายๆ ประเทศที่ทยอยประกาศออกมาในช่วงนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงภาพของการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศที่เป็นแกนหลักของโลก และเป็นประเด็นที่จุดชนวนความกังวลว่า ภาคส่งออกของไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551

สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักของโลก ยกเว้นสหรัฐฯ เริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2551 ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ของโลกพร้อมใจกันหดตัวลงในช่วงไตรมาส 2/2551 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2551 ซึ่งสวนทางกับ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ในไตรมาส 2/2551 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 0.2 ในไตรมาส 1/2551 โดยได้รับแรงหนุนหลักมาจากการบริโภคที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งเนื่องจากมาตรการคืนภาษีของรัฐบาล รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

GDP ของญี่ปุ่น หดตัวลง 0.6% ในไตรมาส 2/2551 หลังจากที่ขยายตัว 0.8% ในไตรมาส 1/2551 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) GDP ของญี่ปุ่นขยายตัวเพียง 1.0% ในไตรมาส 2/2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัว 1.2% ในไตรมาส 1/2551

GDP ของยูโรโซน หดตัวลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ในไตรมาส 2/2551 หลังจากที่ขยายตัว 0.7% ในไตรมาส 1/2551 ซึ่งการหดตัวในไตรมาส 2/2551 นี้ ถือเป็นการหดตัวรายไตรมาสของเศรษฐกิจยูโรโซนเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) GDP ของยูโรโซนขยายตัวเพียง 1.5% ในไตรมาส 2/2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 1/2551

GDP ของเยอรมนี หดตัวลง 0.5% ในไตรมาส 2/2551 ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2546 เป็นต้นมา เทียบกับที่ขยายตัว 1.3% ในไตรมาส 1/2551 (ปรับทบทวนลงจาก 1.5%) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า GDP ของเยอรมนีขยายตัวเพียง 1.7% ในไตรมาส 2/2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัว 2.6% ในไตรมาส 1/2551

GDP ของฝรั่งเศส หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ประมาณ 0.3% ในไตรมาส 2/2551 เทียบกับที่ขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 1/2551 (ปรับทบทวนลงจาก 0.5%) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า GDP ของฝรั่งเศสขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาส 2/2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 1/2551

GDP ของอิตาลี หดตัวลง 0.3% ในไตรมาส 2/2551 เทียบกับที่ขยายตัว 0.5% ในไตรมาส 1/2551 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า GDP ของอิตาลีขยายตัว 0.0% ในไตรมาส 2/2551 ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 และชะลอลงจากที่ขยายตัว 0.3% ในไตรมาส 1/2551

เศรษฐกิจหลักของโลกรวมถึงสหรัฐฯ ที่เปราะบาง…สะท้อนแนวโน้มอ่อนแอของภาคส่งออกไทย
หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศหลักของโลกเริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัวไปแล้วในไตรมาส 2/2551 แนวโน้มของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ยังคงดูไม่สดใสนักตลอดในช่วงที่เหลือของปี 2551 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถูกคาดหมายว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงเข้าหา 0% ในช่วงครึ่งหลังของปีจากปัญหาในภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ สำหรับยูโรโซน นั้น ประธานธนาคารกลางยุโรปได้กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจภายหลังการประชุมนโยบายการเงินช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2551 ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในขณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะอ่อนแอลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวว่า ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีในไตรมาส 3/2551 อาจจะหดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2551 ส่วนในฝรั่งเศสนั้น ความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้อย่างอ่อนแออาจไม่สามารถช่วยบรรเทาการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการลงทุนและการส่งออกได้ สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งด้านการบริโภค (55% ของ GDP) และการลงทุน ที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจน พร้อมๆ กับการร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น และสวนทางกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้น เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น

แนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจแกนหลักของโลกนั้น อาจส่งผลต่อเนื่องให้ภาคส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ไม่สดใสตามไปด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 จะพบว่า ตลาดอาเซียนเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับแรกของไทย โดยครองสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึง 23.27% ขณะที่ ตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ครองสัดส่วนในลำดับรองลงมา 12.15% และ 11.33% ตามลำดับ ในขณะที่ ตลาดสหรัฐฯ มีความสำคัญลดลงสู่ลำดับที่ 4 โดยครองสัดส่วน 11.32%

ประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า
ภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 อาจเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะชะลอตัว (Slowdown) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่า เศรษฐกิจของคู่ค้าหลักบางประเทศอาจต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นยังคงหดตัวลงต่อเนื่องในไตรมาส 3/2551 ในขณะที่ แนวโน้มการปรับฐานของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันในตลาดโลกก็อาจทำให้แรงหนุนที่มีต่อภาคส่งออกของไทย โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตรเบาบางลงไป ดังนั้น เมื่อประกอบภาพการชะลอตัวของคู่ค้าหลัก เข้ากับแนวโน้มการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรที่อาจไม่สดใสเท่าในช่วงครึ่งแรกของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกของไทยอาจมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงเหลือ 10-15% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 หลังจากที่ขยายตัวสูงถึง 24.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่ ตัวเลขประมาณสำหรับการส่งออกไทยปี 2551 นั้น อาจมีอัตราการขยายตัวประมาณ 17-19% เทียบกับที่ขยายตัว 17.3% ในปี 2550