เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนสิงหาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2551 มีอัตราการขยายตัวสูงเกินคาดที่ร้อยละ 43.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากที่ขยายตัวร้อยละ 27.4 ในเดือนมิถุนายน) และมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 16,957.38 พันล้านดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกัน การนำเข้าก็ขยายตัวในอัตราเร่งสูงถึงร้อยละ 55.1 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 30.7 ในเดือนมิถุนายน) โดยมีมูลค่า 17,984.29 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสูงกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้ขาดดุล 1,026.91 พันล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุล 627.84 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน โดยเป็นการขาดดุลครั้งที่ 4 ของปีนี้
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวเร่งสูงอย่างมากในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 278.9 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 146.8 ในเดือนมิ.ย.) น้ำมันดิบ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.5 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 93.2 ในเดือนมิ.ย.) อัญมณีและเครื่องประดับ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 197.1 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 157.0 ในเดือนมิ.ย. โดยที่สำคัญเป็นผลของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปที่ขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 1,000) ข้าว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 212.1 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 201.9 ในเดือนมิ.ย.)
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่รวมสินค้ารายการดังกล่าวข้างต้น การส่งออกของไทยก็ยังมีอัตราการขยายตัวได้ร้อยละ 29.6 โดยสินค้าส่งออกรายการสำคัญมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 13.3 ในเดือนมิ.ย.) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.3 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 4.5 ในเดือนมิ.ย.) และยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.1 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 26.2 ในเดือนมิ.ย.)
สำหรับสินค้านำเข้าที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างมากในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ น้ำมันดิบ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.5 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 72.8 ในเดือนมิ.ย.) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.2 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 80.6 ในเดือนมิ.ย.) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 272.7 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 112.7 ในเดือนมิ.ย.) ก๊าซธรรมชาติ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 87,371 จากการนำเข้าก๊าซ LPG เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้) เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,431 ในเดือนก.ค. จากการนำเข้าแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ)
อย่างไรก็ดี เป็นที่สังเกตว่า การส่งออกและนำเข้าที่เร่งสูงอย่างมากในเดือนกรกฎาคมส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกโดยเฉลี่ยในเดือนดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มอ่อนตัวลงในเดือนสิงหาคม คงทำให้การส่งออกและนำเข้าในเดือนถัดๆ ไป มีโอกาสชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคสำคัญมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งอาจกระทบต่อความต้องการภายในประเทศผู้นำเข้าสำคัญของไทย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ณ เบื้องต้นว่า จากการขยายตัวของการส่งออกที่สูงเกินความคาดหมายในเดือนที่ผ่านมาๆ คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 2551 มีโอกาสที่จะขยายตัวอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 17-20 ส่วนการนำเข้าคงจะขยายตัวอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 26-30 และคาดว่าดุลการค้าจะอยู่ระหว่าง 0.0 ถึง +3.0 พันล้านดอลลาร์ฯ