โรลส์-รอยซ์ตอกย้ำความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการ ในงานแสดงนวัตกรรมทางอากาศยาน ฟาร์นโบโร แอร์โชว์

โรลส์-รอยซ์แถลงความสำเร็จจากยอดการสั่งซื้อมูลค่ารวมประมาณ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากงานแสดงนวัตกรรมทางอากาศฟาร์นโบโร แอร์โชว์ ที่จัดขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อเร็ว ๆ นี้

ยอดการสั่งซื้อในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทฯ ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด จากความมุ่งมั่นในการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบพลังงานและบริการที่มีความครบครัน และครอบคลุมมากที่สุดในอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยโรลส์-รอยซ์เป็นผู้จัดหาเครื่องยนต์ให้กับอากาศยานที่ใช้ในธุรกิจการบินพลเรือนมากกว่า 30 ประเภทและทางกลาโหมกว่า 39 ประเภท

ทั้งนี้ กลยุทธ์ของโรลส์-รอยซ์ คือ การพัฒนาตระกูลเครื่องยนต์ต่างๆ โดยปรับแต่ละรุ่นในตระกูลเครื่องยนต์ให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของอากาศยานนั้นๆ ให้มากที่สุด ซึ่งหลักการดำเนินการดังกล่าวช่วยให้บริษัทฯ สามารถนำเสนอโซลูชั่นมูลค่าสูง ทว่า มีความเสี่ยงต่ำให้แก่อากาศยานรุ่นนั้นๆ นับเป็นการเปิดโอกาสทางการตลาด เมื่ออากาศยานใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาด

เซอร์ จอห์น โรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโรลส์-รอยซ์ กล่าวว่า “ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจอันต่อเนื่องของเรา เรากำลังสร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับโรลส์-รอยซ์ นอกจากนี้ เรายังได้สร้างตำแหน่งความเป็นผู้นำในภาคธุรกิจด้วยศักยภาพอันเต็มเปี่ยม และอยู่ในตำแหน่งอันเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากธุรกิจเหล่านั้น ตลอดวงจรการใช้งานของเครื่องยนต์”

สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์การบินพลเรือนของโรลส์-รอยซ์ เครื่องยนต์รุ่นล่าสุดในตระกูลเครื่องยนต์เทรนท์ ได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานกับตลาดอากาศยานแบบลำตัวกว้าง ซึ่งโรลส์-รอยซ์เป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 50 ได้กลายมาเป็นเครื่องยนต์เทรนท์รุ่นที่จำหน่ายได้รวดเร็วที่สุด โดยในงานแสดงนวัตกรรมทางอากาศ ฟาร์นโบโร แอร์โชว์ โรลส์-รอยซ์ได้ประกาศการสั่งซื้อเครื่องยนต์เทรนท์ XWB มูลค่าเกือบ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ เครื่องยนต์รุ่นนี้เป็นเครื่องยนต์รุ่นเดียวที่ใช้สำหรับขับเคลื่อนอากาศยานแอร์บัส A350 XWB นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ในรอบระยะเวลา 25 ปี ของโรลส์-รอยซ์ ศักยภาพทางการตลาดโดยรวมของเครี่องยนต์ในช่วงพิสัยของแรงขับเคลื่อนนี้ มีมูลค่าที่ 4แสนล้านเหรียญ สหรัฐฯ

นับตั้งแต่ที่ได้มีการเปิดตัวอากาศยานแอร์บัส A350-XWB ในงานฟาร์นโบโร แอร์โชว์ ปี 2006 โรลส์-รอยซ์ก็ได้รับการสั่งซื้อเครื่องยนต์แบบยืนยันเพื่อนำไปติดตั้งให้กับอากาศยานมากกว่า 350 ลำ ด้วยมูลค่าเครื่องยนต์ประมาณ 1.4 หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐฯ ซึ่งโอกาสในการสร้างรายได้จากการบริการเกี่ยวเนื่องในแต่ละปี คำนวณตามแรงผลักดันที่ติดตั้ง จะมีมูลค่าที่สร้างจากฝูงอากาศยานระดับภูมิภาคที่ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์กว่า 1,400 ลำถึงสองเท่า

ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของธุรกิจการบินพลเรือน เครื่องยนต์รุ่น V2500 ซึ่งผลิตโดย บริษัท International Aero Engines อันเป็นบริษัทร่วมทุนนานาชาติซึ่งโรลส์-รอยซ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้สร้างมูลค่าทางธุรกิจคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับโรลส์-รอยซ์ โดยลูกค้าจำนวนหกรายได้สั่งซื้อเครื่องยนต์จำนวน 232 เครื่อง รวมทั้งบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปติดตั้งให้กับอากาศยานตระกูล A320 จำนวน 166 ลำ

พร้อมกันนี้ โรลส์-รอยซ์ยังได้เปิดตัวโปรแกรม Option ซึ่งครอบคลุมแบบหลากหลายมิติในการตรวจสอบความต้องการต่างๆ ของเครื่องยนต์ในตลาดอะไหล่ทดแทนอากาศยานแบบ 150 ที่นั่ง โซลูชั่นดังกล่าวนี้ ครอบคลุมการผสานรวมของเทคโนโลยีและบริการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอากาศยานให้มากขึ้นถึงร้อยละ 15-50 ขึ้นอยู่กับกรอบระยะเวลาข้อกำหนดของตัวอากาศยาน (airframe) ในอนาคต

ในส่วนของตลาดเครื่องบินเจ็ทธุรกิจ ซึ่งโรลส์-รอยซ์เป็นผู้จัดหาเครื่องยนต์ชั้นนำระดับโลกนั้น เครื่องยนต์ในตระกูล BR700 รุ่นล่าสุด ยังได้สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ โดยเครื่องยนต์รุ่น BR725 ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นเครื่องยนต์รุ่นเดียวที่ใช้สำหรับขับเคลื่อนเครื่องบินเจ็ตธุรกิจรุ่น G650 ของกัลฟ์สตรีม เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้ช่วยสร้างส่วนธุรกิจใหม่ๆ ของเครื่องบินเจ็ตธุรกิจห้องโดยสารขนาดใหญ่ที่มีความยาวเป็นพิเศษ ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ในรอบยี่สิบห้าปีของโรลส์-รอยซ์ตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่าทางธุรกิจถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้เครื่องยนต์กลาโหมในตระกูล AE ยังสร้างมูลค่าธุรกิจใหม่ จากการงานแสดงนวัตกรรมอากาศยานในครั้งนี้ โดยโรลส์-รอยซ์ประสบความสำเร็จในการทำสัญญาระยะยาวเพื่อจัดหาเครื่องยนต์ AE 2100 มูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อนำไปติดตั้งให้กับอากาศยานลำเลียง C-27J Spartan ของ บริษัท Alenia Aeronautica ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของสัญญามูลค่า 135 ล้านเหรียญ ที่ทำกับกองทัพอากาศแคนาดา และได้ประกาศไปเมื่อช่วงต้นปี เพื่อนำเครื่องยนต์ไปติดตั้งให้กับอากาศยานลำเลียงรุ่น C-130J

เครื่องยนต์กลาโหมรุ่นตระกูล AE ประกอบด้วยเครื่องยนต์สามประเภทที่มีคุณสมบัติพิเศษร่วมกันร้อยละ 80 ซึ่งได้รับการปรับแต่งสำหรับใช้งานกับแพลตฟอร์มอากาศยานที่แตกต่างกันเจ็ดรุ่นได้แก่ C-27J, C-130J, V-22 Osprey, Global Hawk UAV, Embraer ตระกูล 135-140 family, Embraer Legacy และ Cessna Citation X

กลุ่มบริษัทโรลส์-รอยส์ยังได้ขยายความครอบคลุมของชุดผลิตภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น จากการแถลงข่าวในงานฟาร์นโบโร แอร์โชว์ พร้อมแสดงความเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาระบบพลังงานแบบครบวงจร (Integrated Power System) ให้กับเครื่องบินสาธิตของ Mantis สำหรับตลาดอากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV)

ความแข็งแกร่งของธุรกิจบริการของบริษัทฯ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับโรลส์-รอยซ์ คิดเป็นสัดส่วนทั้งหมดถึงร้อยละ 53 ของรายได้รวม ได้รับการตอกย้ำความสำเร็จจากการได้รับสัญญาที่ประกาศในงานแสดงนวัตกรรมอากาศยานดังกล่าว นอกจากนี้การร่วมทุนระหว่างโรลส์-รอยซ์กับ บริษัท มูบาดาลา ดิเวลล็อปเมนท์ คอมพานี (Mubadala Development Company) จะเป็นการมอบบริการดูแลรักษาแบบ on-wing โดยใช้เทคโนโลยีอากาศยานของอาบู ดาบี (Abu Dhabi Aircraft Technologies) เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มเครื่องภัณฑ์เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ลูกค้าที่ใช้นวัตกรรมเครื่องยนต์เทรนท์ของโรลส์รอยซ์ทั้งรายใหม่ และรายปัจจุบัน อันได้แก่ สายการบินเอเชียน่า แอร์ไลน์ส สายการบิน เอทิฮัด แอร์เวย์ส และสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ยังได้ร่วมลงนามรับบริการดูแลรักษาเครื่องยนต์ระยะยาว TotalCare? ของโรลส์-รอยซ์ในช่วงงานแสดงนวัตกรรมในครั้งนี้อีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสั่งซื้อ รวมทั้งรายละเอียดการสั่งซื้อสำคัญอื่น ๆ ที่ได้ประกาศในงานฟาร์นโบโร แอร์โชว์ ได้สรุปไว้ในตารางในหน้าถัดไป