เด็มโก้ลุยรับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังลม 1.5 พันล้าน

เด็มโก้ เซ็นต์เอ็มโอยูรับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม ขนาด 100 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 1.5พันล้านบาท เดินหน้าขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.-กฟภ. คาดแล้วเสร็จปี 2553 พร้อมจับมือพันธมิตรสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลมก่อนผุดเพิ่มอีก 5 แห่ง

นายประเดช กิตติอิสรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่ง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) กับบริษัท ซัสเทนเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลม เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม ที่ตำบลเขาหลังถ้ำ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขนาดพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ กำลังการผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ มูลค่างาน 1.5 พันล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนในโครงการทั้งสิ้น 6 พันล้านบาท หลังจากที่ได้มีการสำรวจพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลมมาแล้วกว่า 1 ปี

ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโครงการดังกล่าว จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 60 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 40 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มออกแบบโครงการได้ภายในเดือนกันยายนนี้ พร้อมขออนุญาตและลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 2552 โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าได้ภายในปี 2553
“โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างเด็มโก้กับซัสเทนเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น โดยเราจะรับผิดชอบในส่วนของงานก่อสร้างถนน สถานีไฟฟ้า สายส่งและดำเนินการติดตั้งกังหันลม ที่มีมูลค่างานก่อสร้างรวมกว่า 1.5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นมูลค่าโครงการที่เกิดจากการจัดซื้อกังหันลมกว่า 50 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2 เมกะวัตต์” นายประเดช กล่าว

กรรมการผู้จัดการ DEMCO กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม เนื่องจากมีภูมิประเทศหลายแห่ง เป็นพื้นที่ที่สามารถลงทุนในการก่อสร้าง ซึ่งจะสอดรับกับภาครัฐที่มีนโยบายในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของไทยที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6% ต่อปี ดังนั้น โรงไฟฟ้าจากกังหันลมจึงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง

แม้ว่า ต้นทุนการก่อสร้างของโรงไฟฟ้ากังหันลมจะสูงกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงาน ไบโอแมส หรือไบโอแก๊ส แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไบโอแมสหรือไบโอแก๊สมีความเสี่ยงสูงด้านการจัดหาและมีโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นในอนาคต ดังนั้น การผลิตไฟฟ้ากังหันลม จึงมีความเสี่ยงในเรื่องของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าและให้ผลตอบแทนที่คุ้มกว่าโรงงานผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 แบบข้างต้นในระยะยาว

ส่วนแผนงานในอนาคต บริษัทฯ มีแผนที่จะรับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลมอีก 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ มูลค่าของแต่ละโครงการไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งในขณะนี้บริษัทซัสเทนเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยคาดว่าทั้ง 5 โครงการดังกล่าว บริษัทฯ จะเข้าไปดำเนินการรับงานก่อสร้างเช่นเดียวกับโครงการแรก มีระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553-2555 คาดได้ว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะช่วยเสริมให้รายได้ของบริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต