งวดครึ่งแรกของปี 2551 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในระบบสถาบันการเงินเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.83 เป็นประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเวลาเดียวกันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เป็นประมาณ 3.2 แสนคัน อย่างไรก็ตาม ผลของภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ใหม่ในงวดครึ่งหลังของปีให้หดตัวลงประมาณร้อยละ 3 และเฉลี่ยอัตราเติบโตทั้งปีเป็นร้อยละ 3 หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6.5 แสนคัน
ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในระบบสถาบันการเงิน งวดครึ่งหลังของปีก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางเดียวกัน และคาดว่าจะทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อ ณ สิ้นปีนี้มีอัตราการขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 23-26 เป็นประมาณ 3.8-3.9 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการขั้นต่ำของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถในระบบสถาบันการเงินลงจากต้นปีที่เคยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 30-35 เป็นร้อยละ 23-26 ตามการปรับลดประมาณการยอดขายรถยนต์ในปีนี้เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการคาดว่าผู้บริโภคจะปรับพฤติกรรมมาสู่รถขนาดเล็กซึ่งมีราคาถูกลง และการที่ผู้ประกอบการอาจเริ่มปรับเพิ่มสัดส่วนการวางเงินดาวน์ขั้นต่ำเพื่อลดความเสี่ยง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ราคาน้ำมัน และปัญหาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงไตรมาสที่สอง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนำไปสู่การระมัดระวังการใช้จ่าย แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการบรรเทาผลกระทบ 6 เดือนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีทิศทางอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีก็ตาม แต่เนื่องจากการช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นเรื่องชั่วคราว และราคาน้ำมันก็อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นใหม่ได้ (หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอตัวลงมากตามการคาดการณ์ของตลาด ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น เป็นต้น) ทำให้การผ่อนคลายในช่วงครึ่งหลังของปี น่าจะไม่ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระยะยาวจนถึงกับนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นกระตุ้นการใช้จ่ายได้จริง ดังนั้น ความต้องการซื้อรถใหม่น่าจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะในรถเพื่อการพาณิชย์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ส่วนรถยนต์นั่งนั้น แม้จะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่า แต่ก็น่าจะยังคงเป็นการเลือกซื้อรถขนาดเล็ก และรถที่ใช้พลังงานทางเลือกได้ ซึ่งทำให้ราคารถต่อคันเฉลี่ยต่ำลง จึงส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถมีจำนวนลดลงตามไปด้วย
2. นโยบายป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าซื้อรถ ซึ่งบางบริษัทเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นกับการคัดเลือกลูกหนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยกำหนดให้วางเงินดาวน์ขั้นต่ำตั้งแต่ร้อยละ 15 ของมูลค่ารถขึ้นไป จากช่วงต้นปีที่แข่งกันรับเงินดาวน์ต่ำที่ร้อยละ 5-10 ของราคารถ ซึ่งสัดส่วนเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้วงเงินสินเชื่อต่อรายลดลง และอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนให้ยอดสินเชื่อโดยรวมเติบโตช้าลงไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่บางแห่ง และผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มบุกตลาดในปีนี้บางราย ยังคงให้ความสำคัญกับการขยายตลาดเป็นหลัก และยังคงกำหนดเงินดาวน์ต่ำพิเศษสำหรับลูกค้าบางประเภทอยู่ด้วย
3. อัตราการยึดรถเนื่องจากลูกค้าไม่มีความสามารถชำระหนี้ รวมถึงกรณีที่ลูกค้าแสดงความจำนงขอคืนรถเนื่องจากไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดต่อได้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี ซึ่งส่งผลให้มีการปิดบัญชีเงินกู้เร็วขึ้น ในขณะที่มีลูกหนี้บางรายที่ได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปจากกำหนดเดิม 48-60 งวด เป็น 72-84 งวด ก็จะมีส่วนช่วยให้ยอดคงค้างสินเชื่อไม่ปรับลดลงเร็วเกินไป
ทั้งนี้ แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการเติบโตที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เนื่องจากขนาดของความต้องการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถในแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึง 6-7 แสนล้านบาท (แบ่งเป็นรถใหม่ประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นรถมือสอง รถจักรยานยนต์และอื่นๆ) ยังเป็นตลาดที่สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจที่ดีในระยะยาว แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน คาดว่าผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับคุณภาพสินทรัพย์ นอกเหนือไปจากการแข่งขันเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ปัญหาเงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงที่สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเร่งตัวขึ้นจากในอดีตที่อยู่ในช่วงไม่เกินร้อยละ 2 ของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถ เป็นประมาณร้อยละ 2.5-3.0 ในสิ้นปีนี้
ต้นทุนเงินฝากเพิ่ม กดมาร์จิ้นให้ลดลง
สภาพคล่องทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2551 เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งมากกว่าเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) เนื่องจากการแข่งขันจากทางเลือกลงทุนในรูปแบบอื่น เช่น กองทุนรวม ทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 84.9 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 89.8 ในไตรมาส 2 ส่งผลให้ช่วงครึ่งหลังของปีธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะเร่งระดมเงินฝากผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษต่างๆ และตั๋วแลกเงิน (B/E) มากขึ้น เพื่อรับมือภาวะสภาพคล่องที่ลดลง และเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยมีต้นทุนดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากพิเศษดังกล่าวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4
ปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา อาจทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากเงินฝากแท้จริง (Effective Deposit Cost ซึ่งคำนวณจากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากเงินฝากหารด้วยฐานเงินฝากเฉลี่ย) เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ร้อยละ 1.9 ในขณะที่แม้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อเช่าซื้อรถได้ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 3.25 แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้นี้มีผลเฉพาะกับผู้กู้รายใหม่เท่านั้น ส่วนผู้กู้รายเก่ายังใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม เนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อเช่าซื้อรถเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงอาจได้รับผลกระทบจากการขาดทุนกำไรหรือมีมาร์จิ้นที่แคบลงในพอร์ทสินเชื่อเช่าซื้อรายเดิม
นอกจากนี้ ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีความเห็นว่าผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถ ควรจะให้ความสำคัญกับการบริหารพอร์ทสินเชื่อทั้งเก่าและใหม่ เพื่อป้องกันการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ และรักษาความสามารถในการทำกำไร ไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของฐานะการเงินในระยะยาว แม้ว่าแนวทางดังกล่าว อาจส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อการขยายพอร์ทสินเชื่อบ้างก็ตาม ดังนี้
– กรณีการให้สินเชื่อรายใหม่ : ควรเข้มงวดกับการคัดเลือกลูกหนี้ในรายที่เลือกเกณฑ์วางเงินดาวน์ต่ำกว่า 15-20% ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก โดยอาจต้องให้แสดงหลักฐานการมีทรัพย์สินอื่น นอกเหนือจากหลักฐานด้านรายได้ต่อเดือนที่บริษัทนำมาพิจารณาอยู่แล้ว เช่น การมีฐานะเป็นเจ้าของบ้าน ไม่ใช่เพียงผู้อาศัย เป็นต้น หรือหากเป็นไปได้ ควรกำหนดอัตราการวางเงินดาวน์ให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 15-20% เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสีย โดยเฉพาะกรณีลูกค้าไม่มีความสามารถชำระหนี้และขอคืนรถในช่วง 12 เดือนแรกของการผ่อนชำระค่างวด รวมทั้งควรพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่สอดคล้องกับต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความแข็งแรงของฐานะการเงินของบริษัท ไม่ให้เป็นภาระกับบริษัทในระยะยาว
– กรณีการบริหารพอร์ทลูกหนี้ปัจจุบัน : ควรให้ทีมเก็บเงินตามประวัติการชำระหนี้ลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยวางระบบเตือนให้มีการสอบถามเมื่อลูกหนี้ผิดนัดแม้จะเพียง 1-2 สัปดาห์ก็ตาม เพื่อให้สามารถติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกับลูกหนี้ได้ทันก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ โดยที่ผู้ประกอบการควรยืดหยุ่นในกรณีลูกหนี้ประสบปัญหาการเงินโดยอาจเจรจาให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนลง หรืออาจให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อดัดแปลงเครื่องยนต์จากการใช้น้ำมันเป็นการใช้แก๊สแทน เพื่อลดภาระรายจ่ายของลูกหนี้ให้สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าสินค้าประเภทรถยนต์จะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นไปแล้วสำหรับการดำเนินชีวิตปัจจุบัน ดังนั้นแม้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะมีความผันผวน แต่ความต้องการใช้รถและซื้อรถใหม่ยังคงมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถในแต่ละปี มีจำนวนค่อนข้างสูงประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งตลาดที่มีขนาดใหญ่มากนี้ เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่จำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการบริหารต้นทุนการเงินให้มีความสมดุล ควบคู่ไปกับการขยายตลาดในลักษณะที่รัดกุมรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เสีย ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทรักษาความสามารถในการทำกำไรอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะ ไม่เป็นภาระต่อฐานะการเงินและความมั่นคงของบริษัทในระยะยาว
อนึ่ง ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อาจทำให้ผู้ประกอบการรายกลางและย่อย ที่มีต้นทุนการเงินสูงกว่า จำเป็นต้องหลบการแข่งขันในบางตลาด เช่น ตลาดเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ โดยหันมาทำตลาดเช่าซื้อรถยนต์มือสอง หรือจักรยานยนต์ หรือสินค้าประเภทอื่นแทน หรือขยายขอบเขตไปยังการให้สินเชื่อส่วนบุคคลโดยมีหลักประกันเป็นสินค้าที่บริษัทมีความชำนาญอยู่เดิม ซึ่งนอกจากจะทำให้มีโอกาสได้มาร์จิ้นที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้บริษัทไม่ต้องเผชิญปัญหาการเงินในระยะยาวจากการแข่งขันกับเจ้าตลาดรายใหญ่ที่มีฐานเงินทุนเหนือกว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว คงต้องควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงที่ต้องรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเช่าซื้อรถมือสอง หรือเช่าซื้อสินค้าประเภทอื่น