ปัจจุบันไทยเป็นประเทศส่งออกปลาสวยงามอันดับ 7 ของโลก และไทยมีปัจจัยพื้นฐานในเรื่องความพร้อมทางศักยภาพการเลี้ยงและการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้ไทยไต่อันดับขึ้นไปได้อีกในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งปัจจุบันประเทศที่นำเข้าปลาสวยงามหันมาสั่งซื้อปลาสวยงามจากไทยโดยตรงมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการสั่งซื้อผ่านทางสิงคโปร์ ดังนั้น การเจาะขยายตลาดปลาสวยงามโดยตรงจะทำให้ปลาสวยงามของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งในด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ ความสวยงาม ราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และมีการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยง รวมทั้งการควบคุมคุณภาพและการกักกันโรคของปลาสวยงามในการส่งออก ให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในการส่งออกปลาสวยงามในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้มข้น โดยคู่แข่งรายเดิมอย่างสิงคโปร์ก็ยังคงเร่งพัฒนาเพื่อรักษาตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามอันดับหนึ่งของโลกต่อไป ในขณะที่ไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญอย่างมาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศต่างกำหนดแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดปลาสวยงาม โดยมีเป้าหมายในการเจาะขยายตลาดส่งออก และเป็นศูนย์กลางการผลิตปลาสวยงามที่มีคุณภาพที่สำคัญของโลก
ตลาดในประเทศ…เติบโตต่อเนื่อง
ความนิยมเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทยขยายตัวอย่างมากในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยนับว่าเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากให้ทั้งความเพลิดเพลิน สามารถหามาเลี้ยงได้ง่าย เลี้ยงในพื้นที่จำกัดได้ ไม่มีเสียงและกลิ่นรบกวนผู้เลี้ยง และจากความนิยมเลี้ยงปลาสวยงามนี้เอง ทำให้เกิดธุรกิจการซื้อขายปลาสวยงามแพร่หลายในประเทศ ซึ่งไทยมีความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม เนื่องจากมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ และแนวทะเลทอดยาวทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้มีพันธุ์ปลาหลากชนิดทั้งน้ำจืดและปลาทะเล นอกจากการเติบโตของธุรกิจปลาสวยงามแล้ว ยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ตกแต่งตู้ปลา ยารักษาโรค และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมาก
ศูนย์กลางขายส่งปลาสวยงามอยู่ที่ตลาดซันเดย์ ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร เวลาการจำหน่ายตั้งแต่เที่ยงวันศุกร์จนถึงเช้าวันเสาร์ ในปัจจุบันมีการขายส่งปลาสวยงามในแต่ละสัปดาห์ราว 150,000 ตัว มูลค่าประมาณ 600,000 บาทต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 28 ล้านบาทต่อปี ในส่วนของการจำหน่ายปลีกนั้นมูลค่าจะสูงกว่าการจำหน่ายส่งประมาณ 2 เท่าตัว ทำให้มูลค่าการจำหน่ายปลาสวยงามเฉพาะที่เป็นปลาน้ำจืดในประเทศสูงถึงประมาณ 56 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ยังไม่รวมปลาสวยงามขนาดใหญ่หรือปลาที่มีราคาแพง ซึ่งมักมีการจำหน่ายโดยตรงให้กับลูกค้า ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าอีกหลายสิบล้านบาท เนื่องจากปลาสวยงามที่จำหน่ายปลีกตามแหล่งต่างๆ จะเป็นปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 40 ปลาลูกผสมร้อยละ 35 และปลาพื้นเมืองเพียงร้อยละ 25 ปลาสวยงามที่นำเข้าจากต่างประเทศมีทั้งน้ำจืดและปลาทะเล โดยส่วนใหญ่จะเป็นปลาพื้นเมืองของประเทศนั้นๆ ซึ่งมีสีสันที่แปลกแตกต่างกันออกไป บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าตลาดปลาสวยงามในประเทศประมาณ 100 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวไม่มากนักในแต่ละปี เนื่องจากปลาสวยงามส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในประเทศเป็นปลาน้ำจืดที่ราคาไม่แพงมากนัก ส่วนปลาทะเลสวยงามนั้นผู้เลี้ยงยังอยู่ในวงจำกัด และเป็นผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงอยู่ในเกณฑ์สูง และต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับเกษตรกรที่เป็นทั้งผู้เพาะเลี้ยงและนำปลาสวยงามมาจำหน่ายเองที่ตลาดซันเดย์นั้นส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายปลาที่มีอายุ 2-3 เดือน หรือขนาด 2 นิ้วขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ได้กำไรสูงสุด ต้นทุนการเลี้ยงปลาสวยงามจะสูงในช่วงการอนุบาลลูกปลา แต่เมื่อปลาโตขึ้นจนกินอาหารเม็ดได้อัตราการสูญเสียน้อยลง และต้นทุนก็ต่ำลงด้วย ราคาซื้อ-ขายปลาสวยงามแต่ละชนิดค่อนข้างใกล้เคียงกันคือปลากาเผือกและปลาทรงเครื่อง 2.50 บาท/ตัว ปลาหางไหม้และปลากาแดง 1.50 บาท/ตัว เป็นต้น ยกเว้นปลาตะเพียนอินโดราคาจะสูงถึง 4 บาท/ตัว ส่วนปลาคาร์ฟที่คัดลักษณะและสีแล้วราคาตกประมาณ 5-6 บาท/ตัว แต่ถ้าเป็นลูกปลาคาร์ฟเกรดต่ำตัวละไม่ถึง 1 บาท ซึ่งปลาคาร์ฟที่จำหน่ายที่ตลาดซันเดย์เป็นการจำหน่ายให้ผู้เลี้ยงสมัครเล่นเท่านั้น ถ้าเป็นปลาคาร์ฟที่มีราคาแพง ซึ่งต้องคัดปลาที่มีลักษณะดี สีสันสวยราคาจะสูงกว่า 10,000 บาทต่อตัว
ตลาดส่งออก…ปี’51 เติบโตแบบก้าวกระโดด
ปัจจุบันไทยส่งออกปลาสวยงามไปสู่ประเทศต่างๆมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องในธุรกิจปลาสวยงาม 60 บริษัท โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 การส่งออกปลาสวยงามมีปริมาณ 2,508.29 ตัน มูลค่า 444.55 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการส่งออก 861.37 ตัน มูลค่า 252.97 ล้านบาทแล้ว ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 191.2 และ 76.1 ตามลำดับ ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2551 จะเติบโตอย่างมาก แต่ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยนั้นลดลง กล่าวคือ ราคาเฉลี่ยส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2551 อยู่ที่ 177,232 บาท/ตัน ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2550 อยู่ที่ 293,683 บาท/ตัน ซึ่งแสดงว่าราคาปลาสวยงามที่ไทยส่งออกนั้นมีราคาต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงในตลาดโลก แม้ว่าการส่งออกปลาสวยงามในปี 2551 นั้นมีสัดส่วนการส่งออกปลาทะเลสวยงามมากขึ้น กล่าวคือ ในปี 2551 สัดส่วนการส่งออกปลาทะเลสวยงามคิดเป็นร้อยละ 40.1 ของการส่งออกปลาสวยงามทั้งหมด จากที่ในปี 2550 สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 16.9 เท่านั้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าการส่งออกปลาสวยงามของไทยในปี 2551 จะแตะ 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.0 โดยการส่งออกนั้นแยกเป็นลูกปลาร้อยละ 9.4 ปลาทะเลร้อยละ 40.1 และปลาน้ำจืดร้อยละ 50.5 โดยปลากัดเป็นปลาสวยงามที่มีการส่งออกมากที่สุด ส่วนปลาที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ปลาหางไหม้ ปลาน้ำผึ้ง ปลาทรงเครื่อง ปลากาแดง ปลาเทศบาล ปลาปล้องอ้อย และปลาชะโด เนื่องจากปลาเหล่านี้มีความสวยงามและมีลักษณะความแปลกเฉพาะตัวที่โดดเด่น
ประเทศคู่ค้าปลาสวยงามหลักของไทยอยู่ที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งนิยมสั่งซื้อปลาสวยงามขนาดเล็กราคาต่ำ และส่วนใหญ่เป็นปลาพื้นบ้าน เช่น ปลากัด ปลาคราฟท์ขนาดเล็ก 3-4 นิ้ว ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาเทวดา ปลาปอมปาดัวร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มปลาพื้นเมืองของไทยก็กำลังเป็นที่นิยมในตลาดยุโรปกับสหรัฐฯ และมีโอกาสขยายตลาดได้ดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้แก่ ปลาเล็บมือนางและปลาน้ำผึ้ง เนื่องจากเป็นปลาที่กินตะไคร่น้ำในตู้ปลาเป็นอาหาร ลูกค้าจึงนิยมสั่งซื้อเพื่อนำมาใช้ทำความสะอาดตู้ปลา นอกจากนี้ตลาดยุโรปช่วงการสั่งเป็นฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูหนาวในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพราะไม่ได้ออกไปไหนก็จะหันเลี้ยงปลาเพื่อดูเล่น ส่วนตลาดสำคัญรองลงไปคือ ตลาดญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะนำเข้าพรรณไม้น้ำและปลาที่มีคุณภาพดี ปลาที่หายากและมีราคาสูง เช่น ปลาคราฟท์ ปลาอะโรวาน่า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้าปลาสวยงามของสหรัฐฯและสหภาพยุโรปหันมานิยมนำเข้าปลาสวยงามที่ออกลูกเป็นตัว ซึ่งปลาที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น ปลาสอด เซลบิลล์ ซันไลแพ็ทกี้ เป็นต้น ซึ่งปลาเหล่านี้เพาะเลี้ยงง่ายมากในเมืองไทยนับว่าเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกปลาสวยงามเหล่านี้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับตลาดสหรัฐฯคือ สหรัฐฯลดการนำเข้าปลาสวยงามจากไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เริ่มหันไปนำเข้าปลาสวยงามเพิ่มขึ้นจากฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย โคลัมเบีย จีนและเวียดนาม ดังนั้นผู้ส่งออกปลาสวยงามของไทยต้องเริ่มจับตาคู่แข่งรายใหม่โดยเฉพาะเวียดนาม ส่วนตลาดยุโรปมักจะสั่งซื้อปลาเป็นบางช่วงที่มีความต้องการสูงๆเท่านั้น ทำให้ในบางครั้งมีสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการ
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสสร้างฐานลูกค้าใหม่และเพิ่มปริมาณมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปลาคราฟท์ เพราะประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญๆคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียประสบปัญหาโรคระบาดทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า ผู้ซื้อจึงต้องหันมาซื้อสินค้าจากไทยแทน นอกจากนี้คนไทยยังมีฝีมือและแนวความคิดที่เป็นส่วนเพิ่มศักยภาพในการเพาะพันธุ์ การเลี้ยงและการปรับปรุงพันธุ์ปลาสวยงามให้มีคุณภาพดี มีสีสันสวยงาม ได้มาตรฐานตามลักษณะที่ลูกค้าต้องการ ตลาดสำคัญของปลาสวยงามที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายนั้นมีหลายประเทศ
แนวโน้มในอนาคต
กระทรวงเกษตรฯมีการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งออกปลาสวยงาม โดยตั้งเป้าว่าในปี 2553 มูลค่าการส่งออกปลาสวยงามจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาท ซึ่งเน้นให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเช่นเดียวกับที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นแหล่งผลิตและส่งออกปลาสวยงามของไทย โดยเตรียมขยายโครงการส่งออกปลาสวยงามไปยังจังหวัดพิจิตร เนื่องจากมีความพร้อมในด้านแหล่งน้ำ และความหลากหลายของพันธุ์ปลาน้ำจืดสวยงาม
ปลาสวยงามที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและกำลังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นปลาจำพวกออกลูกเป็นตัวขนาดเล็ก เช่น ปลาสอด และปลาสวยงามที่มีการนำเข้าจากทวีปอเมริกาใต้แล้วผู้ประกอบการไทยนำมาเพาะและขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายส่งออกต่างประเทศ ลักษณะเป็นปลาขนาดเล็ก ครีบและหางมีสีสันสวยงาม ลักษณะคล้ายปลาหางนกยูงของไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้การผลิตปลาสวยงามดังกล่าวเพื่อการส่งออกของไทย ยังประสบปัญหาไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ทำให้ไทยเสียโอกาสในการส่งออก ดังนั้นถ้ามีการอนุญาตให้มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ปลา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามของไทยเร่งปริมาณการผลิตลูกปลาเพื่อการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไทยยังเป็นรองหลายประเทศในการผลิตและส่งออกปลาสวยงาม มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
-ควรเร่งปรับระเบียบและกฎหมายการนำเข้าปลาบางสายพันธุ์เพื่อมาเพาะพันธุ์ภายในประเทศก่อนการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งที่ไทยเองก็มีศักยภาพในการเพาะพันธุ์ปลาอยู่แล้ว เช่น ปลานีออน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ชนิดปลาที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง นอกจากเหนือจาก ปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาน้ำผึ้ง และปลากินตะไคร่น้ำ ในขณะที่ปัจจุบันจีนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลานีออนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
-หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกปลาสวยงามมีเพียงสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง ซึ่งภาระหน้าที่ของสถาบันฯ ดังกล่าวมีเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานฟาร์ม การควบคุมและป้องกันโรคระบาด การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำสวยงาม ดังนั้นควรมีการประสานงานให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมการส่งออก โดยเฉพาะการจัดงบประมาณสนับสนุนในการออกร้าน หรืองานแสดงมหกรรมสัตว์น้ำในต่างประเทศ เพื่อให้ลูกค้าในต่างประเทศได้เห็นศักยภาพและสิทธิภาพของผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น
-ยังไม่มีการเก็บแยกข้อมูลชนิดของปลาสวยงามไว้อย่างชัดเจน เช่น มีการรายงานปริมาณการส่งออกเป็นน้ำหนักเท่านั้น เพิ่งเริ่มแยกเป็นลูกปลา ปลาน้ำจืดสวยงาม และปลาทะเลสวยงาม ในปี 2550 แต่ก็ยังไม่มีการแยกชนิดหรือตระกูลปลาสวยงามที่ส่งออก เป็นต้น ดังนั้นถ้าต้องการใช้ข้อมูลในด้านการส่งออกให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจปลาสวยงามควรมีการเก็บแยกชนิดของปลาสวยงามที่ส่งออก และรายงานปริมาณการส่งออกเป็นตัวแทนการรายงานเป็นน้ำหนัก ทั้งนี้จะทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาการเพาะเลี้ยงได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ การเก็บปริมาณการผลิตแยกชนิดของปลาสวยงาม ทำให้ทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวทางการขยายปริมาณการผลิตในอนาคต
โดยปัจจุบันวงการค้าปลาสวยงามแยกการผลิตปลาสวยงามออกเป็นดังนี้
กลุ่มแรกเป็นปลาที่มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอแล้ว ได้แก่ ปอมปาดัวร์สายพันธุ์เดิม หางนกยูงสายพันธุ์เดิม หมอสีสายพันธุ์เดิม และปลาไทยบางชนิด
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มปลาที่มีปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอได้แก่ ปอมปาดัวร์สายพันธุ์ใหม่ หางนกยูงสายพันธุ์ใหม่ ปลาไทยชนิดใหม่ ซึ่งได้แก่ ปลาหมอสีสายพันธุ์ใหม่ ปลากัด ปลาเทวดา กลุ่มปลากระดี่ ปลาคาร์ฟเกรดเอ ปลาทองเกรดบี
ส่วนกลุ่มที่สามเป็นปลาสวยงามที่ต้องปรับปรุงคุณภาพ ได้แก่ ปลาทองเกรดเอ ปลาคาร์ฟเกรดบี-ซี นอกจากนี้ การแยกชนิดปลาสวยงามที่ส่งออกให้ชัดเจนจะทำให้ทราบว่าปลาสวยงามชนิดใดมีการส่งออกมาก ปลาสวยงามชนิดใดกำลังเริ่มเป็นที่นิยม รวมทั้งทำให้ทราบว่าประเทศคู่แข่งของปลาสวยงามแต่ละชนิดนั้นเป็นประเทศใด เช่น ปลาหางนกยูงนั้นไทยต้องแข่งกับสิงคโปร์และศรีลังกา ส่วนคู่แข่งที่กำลังมาแรงคือ มาเลเซีย เป็นต้น ธุรกิจปลาสวยงามนั้นยังมีช่องว่างทางการตลาดที่สามารถแทรกตัวขยายธุรกิจได้ โดยเฉพาะปลาสวยงามที่เป็นปลาน้ำจืด สำหรับปลาสวยงามที่เป็นปลาทะเลนั้นปัจจุบันไทยกำหนดไม่ให้ส่งออกและนำเข้า แต่ไทยควรเริ่มพิจารณาธุรกิจการส่งออกปลาทะเลสวยงาม เนื่องจากปัจจุบันไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ปัจจุบันสำหรับประเทศที่ครองตลาดส่งออกปลาทะเลสวยงามคือฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ในส่วนแหล่งที่มีการซื้อขายปลาทะเลสวยงามคือแถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน โคลัมเบีย มลรัฐฟลอริดาในสหรัฐฯ และสิงคโปร์
การพัฒนาทั้งทางด้านการผลิตและการตลาดปลาสวยงามของไทย และปัญหาอุปสรรคดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันและมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจปลาสวยงามอย่างชัดเจน ทั้งในด้านบทบาทของแต่ละฝ่ายที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจปลาสวยงาม นับว่าจะช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามให้เป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกปลาสวยงามของไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆที่กำลังเร่งพัฒนาธุรกิจปลาสวยงามเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกทั้งปัจจุบันและอนาคต