เผยโฉม Google Chrome มิติใหม่ของเบราว์เซอร์แห่งยุค

กูเกิล อิงก์ ประกาศเปิดตัว Google Chrome เบราว์เซอร์แบบโอเพนซอร์สใหม่ล่าสุด ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างสรรค์ประสบการณ์บนเว็บที่เหนือชั้นสำหรับผู้ใช้ทั่วโลก โดยเปิดตัวรุ่นทดสอบพร้อมกันถึง 43 ภาษา การเปิดตัว Google Chrome ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความริเริ่มใหม่ในด้านเบราว์เซอร์ที่อยู่บนฐานความเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยพลัง เฉกเช่นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของกูเกิล

ในยุคแรกของอินเทอร์เน็ต หน้าเว็บส่วนใหญ่มักมีแต่ตัวหนังสือ แต่ปัจจุบันหน้าเว็บได้ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นแพลตฟอร์มอันทรงพลังในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันผ่านทางอีเมลและเว็บแอพพลิเคชันอื่นๆ พร้อมให้บริการตั้งแต่การแก้ไขเอกสาร เรียกดูวิดีโอ ฟังเพลง บริหารการเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย และด้วยเหตุนี้ Google Chrome จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับเว็บรูปแบบต่างๆ ในวันนี้ และเพื่อรองรับการใช้งานแอพพลิเคชันแห่งอนาคต

“เรามองว่าเบราว์เซอร์นั้นเสมือนเป็นหน้าต่างที่เปิดสู่โลกแห่งเว็บ เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ใช้ในการโต้ตอบกับเว็บไซต์และแอพพลิเคชันต่างๆ ที่ต้องการใช้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่เคยได้สัมผัสกับประสบการณ์ดังเลยกล่าว” ซันดาร์ พิชัย รองประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ ของ กูเกิล อิงก์ กล่าว “Google Chrome นั้นมีอินเทอร์เฟสการใช้งานที่เรียบง่าย เช่นเดียวกับที่พบในหน้าโฮมเพจของกูเกิล แต่ก็แฝงด้วยกลไกการทำงานหลักอันซับซ้อนที่สามารถรองรับการใช้งานร่วมกับเว็บยุคใหม่ได้”

สร้างประสบการณ์ใหม่บนเว็บที่เหนือชั้นสำหรับผู้ใช้
Google Chrome ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายทั้งในด้านการค้นหาและท่องไปยังหน้าเว็บต่างๆ เพื่อค้นหาข้อมูลตามที่ผู้ใช้ต้องการ

– การรวมช่องสำหรับการค้นหาและพิมพ์ที่อยู่หน้าเว็บไว้ในช่องเดียวกัน ก็สามารถนำพาผู้ใช้ไปยังจุดหมายที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย เพียงกดแป้นพิมพ์ไม่กี่ครั้งเท่านั้น

– เมื่อผู้ใช้เปิดแท็บ (Tab) ของหน้าเว็บใหม่ใน Google Chrome ก็จะเห็นหน้าแสดงภาพขนาดย่อของเว็บไซต์ที่เยี่ยมชมบ่อยๆ รายการค้นหาข้อมูลล่าสุด พร้อมด้วยบุ๊คมาร์คของเว็บไซต์ที่โปรดปราน (bookmark) ทำให้สามารถท่องเว็บได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าที่เคย

Google Chrome ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์บนเว็บที่ราบรื่นให้แก่ผู้ใช้ เนื่องจากกลไกการทำงานหลักนั้นเป็นแพลตฟอร์มที่อาศัยการประมวลผลแบบหลายทาง (multi-process) จึงช่วยให้ผู้ใช้ได้รับทั้งความเสถียรและความปลอดภัยที่เหนือชั้น

– แต่ละแท็บเว็บบนเบราว์เซอร์จะแยกกันทำงานโดยอิสระ ซึ่งหากแท็บหนึ่งแท็บเกิดปัญหาขึ้น ก็จะไม่กระทบต่อการทำงานของแท็บอื่น ผู้ใช้สามารถทำงานต่อได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดและเปิด Google Chrome ใหม่

– นอกจากนี้ กูเกิลยังได้สร้างกลไกจาวาสคริปต์รุ่นใหม่ คือ V8 ที่นอกจากจะช่วยเร่งความเร็วในการทำงานของเว็บแอพพลิเคชันแล้ว ยังช่วยยกระดับเว็บแอพพลิเคชันให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นกว่าการทำงานบนเบราว์เซอร์ทั่วไปในปัจจุบัน

การสนับสนุนนวัตกรรมใหม่บนเบราว์เซอร์ ผ่านซอฟต์แวร์ระบบเปิด
“ในขณะที่เรามองว่าหลักการดังกล่าว เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนรากฐานความคิดของผู้คนที่มีต่อเบราว์เซอร์ เราก็ตระหนักดีว่าเราไม่สามารถสร้าง Google Chrome ขึ้นมาได้เพียงลำพัง” ไลนัส อัพซัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม ของ กูเกิล อิงก์ กล่าว “Google Chrome ถูกพัฒนาต่อยอดจากโครงการโอเพนซอร์สอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่เบราว์เซอร์ และช่วยกระตุ้นให้เกิดทั้งการแข่งขันและนวัตกรรมในขณะเดียวกัน”

และเพื่อต่อยอดการเปิดโลกทัศน์ของเว็บให้กว้างขึ้นไปอีก Google Chrome จึงเปิดเป็นโครงการโอเพนซอร์สเช่นเดียวกัน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยพัฒนาอนาคตของเบราว์เซอร์ที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการเผยแพร่เทคโนโลยีเบื้องหลัง Google Chrome สู่ตลาด ควบคู่ไปกับการนำเสนอคุณสมบัติเสริมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

วิธีดาวน์โหลด Google Chrome
Google Chrome รุ่นทดสอบสำหรับทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ที่ http://www.google.com/chromeสำหรับผู้ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแมคโอเอสและลินุกซ์ สามารถใช้งานได้ในเร็วๆ นี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการโอเพนซอร์ส Chromium สามารถเรียกชมได้ที่ http://www.chromium.org

เกี่ยวกับ กูเกิล อิงก์
เทคโนโลยีในการค้นหาข้อมูลที่สร้างสรรค์ของกูเกิลได้ช่วยเชื่อมโยงผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกเข้ากับสารสนเทศในแต่ละวัน กูเกิล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 โดยนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอย่าง แลร์รี เพจ และเซอร์เก บริน วันนี้ กูเกิล ถือเป็นเว็บไซต์อันดับต้นในแทบทุกตลาดออนไลน์ทั่วโลก นอกจากนี้รูปแบบการโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงยังช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดประสบผลสำเร็จอันเป็นรูปธรรม และช่วยปรับปรุงประสบการณ์ออนไลน์ของผู้ใช้เว็บให้ดียิ่งขึ้น กูเกิลมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ซิลิคอนวัลเลย์ และสำนักงานสาขาทั่วทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมได้ที่
www.google.com