อาหารสัตว์เลี้ยง : เติบโตต่อเนื่อง…หลากปัจจัยหนุน

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงนับเป็นธุรกิจด้านการเกษตรที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เนื่องจากหลากปัจจัยสนับสนุนโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนสัตว์เลี้ยง และลักษณะการเลี้ยงที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงให้ความใส่ใจกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการเลี้ยงในลักษณะที่เสมือนเป็นสมาชิกในครัวเรือน ส่งผลให้ตลาดสินค้า/บริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้า/บริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยนับเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้า/บริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีการขยายตัวเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(อีก 2 ประเทศ คือ จีนและอินเดีย) สำหรับการส่งออกนั้นไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีชื่อเสียงในการส่งออกอาหารสุนัขและแมวที่ทำจากปลา ไทยยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และลาตินอเมริกา ซึ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้า/บริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงของทั้งสองภูมิภาคนี้มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง

ตลาดในประเทศ…ขยายตัวจากหลากปัจจัยหนุน

คาดการณ์ว่าในปี 2551 ตลาดรวมอาหารสุนัขและแมวสำเร็จรูปของไทยมีมูลค่าประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2552 ตลาดยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าประมาณ 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 2,800 ล้านบาท) มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เริ่มให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น และจำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงให้ความสำคัญกับการเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์สำเร็จรูปมากขึ้น โดยผู้ประกอบในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายต่อครั้งต่อคนในการซื้ออาหารแมวเฉลี่ยอยู่ที่ 200-250 บาท ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารสุนัขสูงกว่า 3 เท่าตัว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีจำนวน 52 ราย ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 40 ราย และอีก 12 รายเป็นผู้นำอาหารสัตว์เลี้ยงเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ

ตลาดส่งออก…ขยายตัวตามความต้องการของตลาดโลก

มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 408.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ซึ่งนับว่ามีอัตราการขยายตัวสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับร้อยละ 14.1 ต่อปีเท่านั้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าในปี 2551 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวของความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดโลก การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะการผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของประเทศผู้นำเข้าหรือรับจ้างผลิตโดยไม่มีตราสินค้าเป็นของตนเอง และจากคุณภาพการผลิตของสินค้าไทยซึ่งถือว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก จึงทำให้มีผู้สนใจนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ประกอบกับการมีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จากต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในไทย ทั้งนี้เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก โดยเน้นตลาดในภูมิภาคอาเซียนเป็นสำคัญ จึงทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นลำดับ การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยประมาณร้อยละ 75 เป็นการส่งออกอาหารสุนัขและแมวที่ทำจากปลา ส่วนที่เหลือเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ

โดยพิจารณาแยกรายประเทศคู่ค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ดังนี้

-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปตลาดญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 134.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปตลาดญี่ปุ่นผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหลายประการ ซึ่งมีความเข้มงวดและทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ส่วนผสมที่เป็นไก่จะต้องเป็นไก่ของบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ การผลิตอาหารแมวชนิดเปียกเพื่อส่งไปจำหน่ายในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อทูน่าที่นำมาใช้ผลิตเป็นอย่างมาก โดยต้องคัดเนื้อปลาทูเกรดดีมาทำการผลิต เนื่องจากคนญี่ปุ่นนิยมซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูง ซึ่งต้องเป็นเศษทูน่าที่เหลือจากการผลิตทูน่ากระป๋องสำหรับคนเท่านั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันมีการเรียกร้องให้ภาครัฐใส่ใจต่อการวางระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปิดสลากที่ให้ข้อมูลส่วนประกอบของเครื่องปรุงที่ใช้บนบรรจุภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการยกร่าง คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาประมาณกลางปี 2552

โอกาสในการขยายตัวของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากยังมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงใช้อาหารในครัวเรือนเลี้ยงสัตว์ ขนาดครอบครัวที่เล็กลงเรื่อยๆ และความสะดวกในการดูแล ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นยังมีความหลากหลายในชนิดของอาหาร เช่น อาหารแคลอรี่ต่ำ อาหารปลอดสารพิษ อาหารสำหรับสัตว์ที่เจ็บป่วย เป็นต้น ในปี 2550 ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่า 108.53 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ กล่าวคือ มูลค่านำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยมีประมาณ 25.35 พันล้านเยน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.4 โดยการนำเข้าจากไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนสหรัฐฯมีมูลค่า 35.25 พันล้านเยน มีส่วนแบ่งร้อยละ 32.5 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย(มีส่วนแบ่ง 13.8%) จีน(12.5%) ฝรั่งเศส(5.1%) ประเภทของอาหารสัตว์เลี้ยงที่นำเข้าประมาณร้อยละ 70 เป็นอาหารสุนัขและแมวบรรจุกระป๋องสำหรับขายปลีก และร้อยละ18 เป็นสิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง

-สหรัฐฯ ตลาดสหรัฐฯนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากตลาดญี่ปุ่น โดยในช่วงระยะ 7 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็น 51.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 ประเด็นที่น่าสนใจของตลาดสหรัฐฯ คือ ในปี 2550 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็น 1,284 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.0 โดยอัตราการขยายตัวของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯเป็นตัวเลขสองหลักมาโดยตลอดในช่วงระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าในปี 2555 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการขยายตัวของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯที่น่าจับตามองคือ การขยายตัวของยอดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ(Natural Pet Products) ขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายอาหารธรรมชาติ

-เอเชีย-แปซิฟิก นอกจากตลาดญี่ปุ่นแล้ว ประเทศคู่ค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในย่านเอเชีย-แปซิฟิกที่น่าสนใจ คือ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม นอกจากนี้ ประเทศที่น่าสนใจคือ จีนและอินเดีย ซึ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศเหล่านี้มีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจ อันเป็นผลมาจากจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงหันมาซื้ออาหารสำเร็จรูปมากขึ้นแทนการให้สัตว์เลี้ยงบริโภคอาหารที่เหลือในครัวเรือน โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงให้ความใส่ใจกับโภชนาการ สุขภาพและความสวยงามของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ราคาอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปไม่แพงมากนัก และสามารถหาซื้อได้อย่างสะดวกในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
-ลาตินอเมริกา ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกานับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวของตลาดสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าตลาดยังไม่มากนัก และไม่ได้เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของไทย แต่ก็นับว่าไทยยังมีโอกาสเข้าไปเจาะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงในลาตินอเมริกาเริ่มมีความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปมากขึ้น เนื่องจากเริ่มตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนาการที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับ และตลาดของอาหารสัตว์เลี้ยงเริ่มขยายตลาดเข้าสู่ครัวเรือนที่มีรายได้ระดับกลางจากเดิมที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้สูง และเจ้าของสัตว์เลี้ยงในลาตินอเมริกานิยมซื้ออาหารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะ “Humanized” และราคาไม่แพงมากนัก

บทสรุป

อาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้า/บริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงนับว่ามีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนสัตว์เลี้ยง และเจ้าของสัตว์เลี้ยงหันมาใส่ใจทั้งในด้านโภชนาการของอาหารสัตว์เลี้ยง และการเปลี่ยนสถานะมาเป็นเสมือนหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพและความสวยงามของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ในปี 2551 และแนวโน้มในปี 2552 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยไทยนั้นเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยอีก 2 ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงด้วย คือ จีนและอินเดีย

สำหรับการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงนั้น ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับห้าของโลก และมีชื่อเสียงอย่างมากในการส่งออกอาหารสุนัขและแมวที่ทำจากปลา มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และลาตินอเมริกา ซึ่งทั้งสองภูมิภาคนี้มีอัตราการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในเกณฑ์สูง