นายโรจนะ กฤษเจริญ (ขวา) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากีฬาและกิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย โดย นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน (กลาง) รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด พร้อมด้วย นายมนต์ชัย โชคไพบูลย์กิจ (ซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด หรือ เอฟบีที ผนึกกำลังยืนยันความพร้อมในการส่งมอบสายรัดข้อเท้าสำหรับกีฬาวิ่ง 31 ขา ซึ่งผลิตขึ้นโดยเอฟบีทีตามมาตรฐานสากล ให้กับโรงเรียนกว่า 500 โรงเรียนทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา “สพฐ.-ฮอนด้า วิ่ง 31 ขา สามัคคี ปี 4” สำหรับฝึกซ้อมนักวิ่งลมกรดรุ่นเยาว์ให้มีความพร้อมทั้งทางด้านความเร็ว และพลังใจที่รวมเป็นหนึ่งเดียวของนักกีฬาทั้ง 30 คน ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาค ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมนี้ โดยชุดอุปกรณ์กีฬาวิ่ง 31 ขา ซึ่ง 1 ชุด ประกอบด้วย สายรัดข้อเท้ามาตรฐานจำนวน 40 เส้น เอกสารคู่มือการแข่งขัน และวีซีดีคู่มือแนะนำการฝึกซ้อมอย่างปลอดภัย
การแข่งขันระดับภูมิภาคจะจัดขึ้น 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2551 รวม 7 สนาม ได้แก่ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่จังหวัดอุดรธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่จังหวัดนครราชสีมา ภาคกลางและภาคตะวันตกที่จังหวัดกรุงเทพฯ ภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่จังหวัดกรุงเทพฯ เพื่อเฟ้นหาทีมที่ทำสถิติได้ดีที่สุดจากการแข่งขันในแต่ละภูมิภาครวมทั้งสิ้น 30 ทีมผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเด็กแห่งชาติ หรือวันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2552
เกี่ยวกับการแข่งขัน ฮอนด้า 31 ขา สามัคคี
กีฬาวิ่ง 31 ขา สามัคคี คือ กีฬาที่มีจุดเริ่มต้นจาก กีฬาวิ่ง 2 คน 3 ขา ซึ่งเป็นกีฬาพื้นฐานของคนทั่วโลกที่อาศัยความสามัคคี ร่วมใจของคน 2 คน ในการวิ่งไปพร้อมๆ กัน จนนำมาพัฒนาสู่กีฬา วิ่ง 31 ขา ที่ต้องอาศัยหัวใจของคน 30 คน ที่มีความสามัคคี ความพร้อมเพรียงเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการวิ่งไปสู่จุดหมายร่วมกัน ฝึกซ้อมวิ่งผูกขาสู่เส้นชัย ในระยะทาง 50 เมตร ให้เร็วที่สุด พร้อมเพรียงที่สุด ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังหัวใจแห่งความสามัคคี และ ความท้าทาย ปัจจุบันเจ้าของสถิติโลกเป็นของทีมโรงเรียนประถมศึกษาอิชิอิ ฮิงาชิ ด้วยสถิติ 8.80 วินาที ยังคงได้รับการบันทึกอยู่ใน Guinness Book The World of Record สำหรับการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยในปีที่ 3 พ.ศ. 2550 ทีมโรงเรียนวัดป้อมวิเชียร โชติการาม จังหวัดสมุทรสาคร แชมป์เก่าจากการแข่งขันในปีที่ 1 (พ.ศ.2548) สามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 2 ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยสถิติ 09.11 วินาที สำหรับการแข่งขันในปีที่ 2 (พ.ศ. 2549) ทีมโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ จากจังหวัดนครปฐม ทำสถิติได้ดีที่สุด คือ 09.32 วินาที