ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน : ปรับกลยุทธ์…ฝ่าปัจจัยลบ

การแข่งขันในตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ตามการขยายการเปิดสาขาของธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งอาจมีความหมายครอบคลุมถึงธุรกิจที่เปิดให้บริการร้านค้าในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย มีขนาดและพื้นที่ที่กว้างขวาง มีสินค้าให้เลือกหลากหลายรูปแบบ มีการจัดวางสินค้าที่เป็นระเบียบและง่ายต่อการเลือกซื้อสินค้า และมีการขยายสาขาออกไปตามพื้นที่ต่างๆ โดยมีระบบการจัดการและการบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกๆสาขา โดยลักษณะของร้านค้าในกลุ่มนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่แบบครบวงจร ผู้ประกอบการบางรายได้พัฒนารูปแบบร้านค้าของตนให้เป็นรูปแบบบริการแบบครบวงจร (One-Stop Shopping) โดยมีสินค้าจำหน่ายที่หลากหลาย ตั้งแต่สินค้าวัสดุก่อสร้าง ประเภทต่างๆ เช่น ปูนซิเมนต์ หินแกรนิต กระเบื้อง ท่อน้ำ เป็นต้น จนกระทั่งเครื่องเรือนตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีรูปแบบร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่ที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะด้าน แต่จะมีผลิตภัณฑ์รูปแบบที่หลากหลายให้เลือกมากกว่ารูปแบบค้าปลีกวัสดุก่อสร้างทั่วไป เช่น ร้านขายผลิตภัณฑ์กระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น โดยจากการประเมินยอดขายของผู้ประกอบการรายสำคัญ พบว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีมูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 85,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่มีการทำตลาดที่ค่อนข้างรุนแรง เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า

ในพื้นที่ที่มีร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่ขยายเข้าไปเปิดสาขา อาจมีผลกระทบต่อร้านค้าในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก โดยเน้นขายวัสดุก่อสร้างเฉพาะเพียงไม่กี่ชนิด และมักตั้งอยู่ตามตึกแถวทั้งในย่านชุมชนและชานเมืองรอบนอก ร้านค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างจะเสียเปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนสินค้าที่อาจจะสูงกว่า ความหลากหลายของสินค้าที่มีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากถูกกำหนดโดยพื้นที่ของร้านค้า และกำลังของเงินลงทุนด้วย ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าแบบดั้งเดิมบางราย ได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านค้าของตนมาเป็นร้านค้าในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น เช่น การจัดแสดงสินค้าหน้าร้านให้ดูสวยงาม การจัดสินค้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกสินค้า รวมถึงการสร้างความแตกต่าง เช่น การวางขายสินค้าที่ครัวเรือนทั่วไปมักซื้อหาเพื่อซ่อมแซมทดแทนของเดิม เน้นอุปกรณ์เครื่องใช้ทั่วไปที่ราคาไม่แพงนัก หาซื้อสะดวกจากร้านค้าใกล้บ้าน เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์โดยรวมของตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบนานัปการ อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ระดับสูง ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่าย โดยเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา ตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีมูลค่าประมาณ 276,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.1 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (นับตั้งแต่ปี 2548)

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน…ผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์
สำหรับแนวโน้มตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านในระยะที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงพอมีปัจจัยหนุน คือมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการได้หักลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ อาจจะทำให้ผู้บริโภคบางส่วนที่ซื้อที่อยู่อาศัยสามารถนำเงินส่วนที่เหลือจากการหักลดหย่อนภาษีมาใช้ในการซื้อสินค้าตกแต่งบ้านเพิ่มเติม ขณะเดียวกันมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อเป็นระยะเวลา 6 เดือน คาดว่าจะช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงปี 2551 ตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 292,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2550 อย่างไรก็ตามการขยายตัวของตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคา เนื่องจากตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตามราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ ทำให้ต้นทุนการผลิตและขนส่งสูงขึ้น โดยราคาวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหลายชนิดที่มีการปรับราคาขึ้น เช่น สินค้าวัสดุก่อสร้างประเภทเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก ผลิตภัณฑ์ไม้ สุขภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างบางประเภทอาจจะมีการปรับขึ้นราคาในระยะข้างหน้า สำหรับมูลค่าตลาดของธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่ในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะยังคงขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยทั้งระบบ โดยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 93,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดเชิงรุก รวมทั้งการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในระยะที่เหลือของปี 2551 นี้ ตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ยังคงมีปัจจัยต่างๆที่อาจมีผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภค สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม แม้ว่าขณะนี้แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลงกว่าในช่วงเดือนก่อนๆ ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระดับหนึ่ง แต่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงยืนในระดับสูง สะท้อนว่าอำนาจซื้อของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้นมากนัก ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันยังมีโอกาสผันผวน

นอกเหนือจากปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้น ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแล้ว ยังมีปัจจัยลบที่เพิ่มเข้ามาใหม่นั่นคือ วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ยังจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อสินค้าตกแต่งบ้านหรือการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้บริโภค ทั้งนี้ความรุนแรงของผลกระทบนั้น คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการคลี่คลายปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นสำคัญ ถ้าหากวิกฤติทางการเมืองยังคงยืดเยื้อและเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ปัญหาต่างๆที่จะตามมาจากประเด็นทางการเมือง ไม่ว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ข้อจำกัดในด้านการคลังและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอย จึงอาจกล่าวได้ว่าในระยะที่เหลือของปี 2551 อาจเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เนื่องจากขาดปัจจัยบวกที่จะเข้ามาสนับสนุนความต้องการในตลาด

ในภาวะที่ปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญยังคงไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านต่างหันมาปรับกลยุทธ์การตลาดกันอย่างหนัก ดังจะเห็นได้จากแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนี้

ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่: ปรับกลยุทธ์…เน้นบริการเสริม
ในช่วงที่ภาวะยอดขายชะลอตัวลง ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เร่งปรับกลยุทธ์การตลาดของตน ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะใช้กลยุทธ์ด้านราคา เช่น การจัดงานมหกรรมลดราคา หรือการใช้กลยุทธ์การตลาดร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตสินค้าแล้ว ก็ยังได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการทำการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงที่เหลือของปีนี้ อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้หันมาเน้นรูปแบบของการแข่งขันในการให้บริการมากขึ้น อาทิ บริการ Hotline Service ไว้คอยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการบริการขนส่งที่ตรงเวลา เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีแผนการขยายสาขาเข้าไปให้ใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุด เพื่อขยายฐานตลาดของตน โดยใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการขยายสาขาต่อเนื่องในกรุงเทพฯและออกสู่หัวเมืองตามจังหวัดต่างๆ ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตสูง เพื่อเป็นทางเลือกที่สามารถตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอย่างครบวงจร (One-Stop Shopping)

นอกจากในด้านการรุกตลาดแล้ว ผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะยังคงมีความสามารถในการปรับตัวและสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายย่อย โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านเงินทุน และความสามารถในการบริหารจัดการรองรับความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นระบบ เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ เช่น การจัดระบบการขนส่งสินค้าจากเวลากลางวันเป็นเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร การเปลี่ยนระบบการกระจายสินค้า และจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า เป็นต้น ซึ่งต้นทุนที่ต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในด้านราคา

ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านรูปแบบดั้งเดิม: ปรับตัว…สู้ศึกรอบด้าน
นอกจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องปรับตัวในการดำเนินกิจการท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกสินค้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่ที่เริ่มแพร่ขยายสาขาจากกรุงเทพฯและปริมณฑล สู่จังหวัดต่างๆมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นบางรายเริ่มมีการปรับตัว เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านค้าดั้งเดิมมาเป็นรูปแบบค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านให้ทันสมัย การปรับปรุงหน้าร้าน เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นบางรายได้เริ่มทำการขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียงเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นร้านค้าที่เปิดให้บริการในท้องถิ่นเป็นระยะเวลานาน เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนในท้องถิ่น อีกทั้งทำเลที่ตั้งที่อยู่ในละแวกชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งน่าจะเป็นจุดแข็งยังช่วยให้ร้านค้ารูปแบบเดิมยังสามารถรักษากลุ่มลูกค้าไว้ได้ โดยเฉพาะในการซื้อสินค้าทั่วไป หรือของจิปาถะที่ไม่ต้องเลือกรูปแบบหรือแบรนด์มากนัก ผู้ซื้ออาจเลือกซื้อจากร้านที่ซื้อหาได้สะดวกใกล้ๆบ้าน

บทสรุปและข้อคิดเห็น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในปี 2551 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 292,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2550 (โดยการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคา ตามทิศทางต้นทุนการผลิตของสินค้าต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหลายชนิดที่มีการปรับราคาขึ้น เช่น วัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กและไม้ สุขภัณฑ์ เป็นต้น) สำหรับปัจจัยที่น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัว คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสภาวะตลาดได้บ้าง โดยมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้ซื้อบ้านที่ได้รับการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถนำเงินส่วนที่เหลือจากการหักลดหย่อนภาษีมาใช้ในการซื้อสินค้าตกแต่งบ้านเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามในระยะที่เหลือของปี 2551 ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ยังคงเผชิญกับความเสี่ยง แม้ว่าขณะนี้แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง แต่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงยืนในระดับสูง สะท้อนว่าอำนาจซื้อบริโภคยังไม่ดีขึ้นมากนัก แต่แนวโน้มราคาน้ำมันยังมีโอกาสผันผวน ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ยังจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อสินค้าตกแต่งบ้านหรือการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้บริโภค ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจจะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่บังเกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น จึงอาจกล่าวได้ว่าในระยะที่เหลือของปี 2551 อาจเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เนื่องจากขาดปัจจัยบวกที่จะเข้ามาสนับสนุนความต้องการในตลาด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งบ้านระยะที่เหลือของปีนี้ น่าจะมาจากการรุกตลาดของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การขยายสาขาของธุรกิจกลุ่มนี้จะผลักดันให้ มูลค่าของธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านสมัยใหม่ในปี 2551 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 93,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 ซึ่งยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยทั้งระบบ ท่ามกลางภาวะที่ผู้บริโภคมีความระมัดระวังมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ปรับกลยุทธ์การตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายและเร่งระบายสินค้าออกไปโดยเร็ว เพื่อให้มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนมากขึ้น โดยการจัดแคมเปญลดราคาสินค้าร่วมกับพันธมิตร และการเพิ่มบริการเสริมต่างๆ มากขึ้น นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์การตลาดและการรุกขยายสาขาให้ครอบคลุมมากขึ้นทั้งในพื้นที่รอบๆกรุงเทพฯและจังหวัดสำคัญๆแล้ว ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ค่อนข้างมีความได้เปรียบในการปรับตัวและสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายย่อย โดยอาศัยจุดแข็งทางด้านเงินทุน และเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการรองรับความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดของธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านรูปแบบใหม่ยังคงเผชิญข้อจำกัด เช่น ความแตกต่างระหว่างสังคม วิถีการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด นอกจากนี้ข้อจำกัดของกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดยังมีความแตกต่างเช่นกัน ซึ่งเป็นตัวแปรที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ต้องศึกษาพฤติกรรมของตลาดอย่างรอบคอบ

สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านรูปแบบดั้งเดิม นอกจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ที่ส่งผลกระทบในด้านยอดขายแล้ว การรุกตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มาในลักษณะของรูปแบบการค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการกลุ่มนี้เช่นกัน ผู้ประกอบการร้านค้าแบบดั้งเดิมในพื้นที่ที่มีการเข้ามาแข่งขันจากธุรกิจรายใหญ่จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้ยังสามารถรักษาฐานตลาดไว้ได้