หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

หลักสูตรฯ เริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2551 โดยเน้นวิธีการเรียนรู้แบบสหวิทยาการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนและผู้สอน หลักสูตรฯ มุ่งให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนทักษะในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน สามารถวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับของประเทศไทย ระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเชื่อมโยงและมีพลวัตร และสามารถวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ผ่านมุมมองสิทธิมนุษยชน เพื่อแปรผลการเรียนรู้ไปสู่การทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรฯ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติดังนี้
1. มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในลักษณะสหวิทยาการ โดยสามารถเชื่อมโยงกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลกได้

2. มีความสามารถในการวิเคราะห์ การพัฒนาองค์ความรู้ มีทักษะในเชิงวิพากษ์ และสามารถนำความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานสาขาต่างๆ ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบาย

3. มีทักษะความสามารถตลอดจนมีสำนึกและความตั้งใจที่จะสถาปนาสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคม

โครงสร้างหลักสูตร
หลักสูตรมีระยะเวลาการศึกษาหนึ่งปีครึ่ง เป็นการศึกษารายวิชาหนึ่งปี (สองภาคการศึกษา) และทำวิทยานิพนธ์อีกหนึ่งภาคการศึกษา (แผน ก.) นักศึกษาที่มีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนสามารถเลือกศึกษาแผน ข. โดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ทำสารนิพนธ์แทนได้

หมวดวิชาบังคับ
แนวคิดและหลักการพื้นฐานสิทธิมนุษยชน
มาตรฐานและกลไกสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและระหว่างประเทศ
ทฤษฎีและแนวคิดการพัฒนา
วิธีวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
การพัฒนา นโยบายสาธารณะ และสิทธิมนุษยชน
การเมืองและสังคมไทย

หมวดวิชาเลือก
ยุทธศาสตร์และทักษะในการส่งเสริมสิทธมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนกับสันติภาพ และการจัดการความขัดแย้ง
การเมืองเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
วาทกรรมว่าด้วยความรู้ ความจริง และอำนาจ กับสิทธิมนุษยชน
เพศสถานะกับสิทธิมนุษยชน
ประเด็นปัจจุบันเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
ประชาสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
ธรรมาภิบาล คอร์รัปชั่น และการพัฒนา

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาและกระบวนการสมัคร
1. หลักสูตรเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับหลักสูตรปริญญาตรีทุกสาขาวิชา หรือกำลังศึกษาในปีการศึกษาสุดท้ายโดยมีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือเทียบเท่าผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

2. สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาในแผน ข. (ทำสารนิพนธ์) จะต้องมีประสบการณ์การทำงานในสาขาสิทธิมนุษยชนหรือการพัฒนาสังคมอย่างน้อย 3 ปี โดยนับถึงวันรายงานตัวเข้าศึกษา

3. ผู้สมัครจะต้องมีผลสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย หรือสถาบันอื่นที่บัณฑิตวิทยาลัยรับรอง (มีคะแนน TOEFL หรือ TOEFL – IP ตั้งแต่ 500 คะแนนขึ้นไป หรือคะแนน IELTS ตั้งแต่ 5.5 คะแนนขึ้นไป) กรณีผู้สมัครไม่มีผลการสอบผ่านภาษาอังกฤษ ผู้สมัครต้องเข้าสอบวิชาภาษาอังกฤษในวันสอบข้อเขียนที่บัณฑิตวิทยาลัยจัดสอบ

ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องส่งใบสมัครเข้าศึกษา (ดาวน์โหลดได้จากลิงค์ด้านล่างของหน้านี้) พร้อมเอกสารต่อไปนี้
1. เอกสารบรรยายความสนใจของผู้สมัครอธิบายหัวข้อหรือประเด็นทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน และ/หรือการพัฒนาที่ผู้สมัครสนใจ ความยาว 400 – 600 คำ

2. จดหมายแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Recommendation letters) จำนวน 2 ฉบับ

3. หลักฐานทางการศึกษาและประวัติการทำงาน (ถ้ามี)

กรุณาตรวจสอบกำหนดการรับสมัครจากเว็บไซท์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล www.grad.mahidol.ac.th

สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาลายา พุทธมณฑล จ. นครปฐม 73170
โทร. 02-441-4125 ต่อ 400, 401
โทรสาร 02-889-2151
อีเมลล์ [email protected]
เว็บไซต์ http://www.humanrights-mu.org
http://www.grad.mahidol.ac.th