เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า สำนักงานการเงินการเคหะของรัฐบาลกลาง (The Federal Housing Finance Agency: FHFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบแห่งใหม่สำหรับสมาคมการจำนองแห่งชาติของรัฐบาลกลาง (แฟนนี เม) และบรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง (เฟรดดี แมค) ได้นำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการ (Conservatorship) ของรัฐบาลกลาง เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน หลังจากสถานการณ์ของปัญหาที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งต้องเผชิญได้เลวร้ายลงยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ในครั้งนี้ อาจถือเป็นหนึ่งในมาตรการกอบกู้กิจการครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ และการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ เพื่อเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าว ย่อมสร้างภาระทางการคลัง ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมจะตกไปยังประชาชนผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นเกี่ยวกับมาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ตลอดจนประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ดังนี้
มาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค
ภายใต้มาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ที่ประกาศโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2551 ประกอบไปด้วยมาตรการย่อยหลายมาตรการ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงินของทั้งสองบริษัท พร้อมๆ ไปกับการดูแลสถานะของสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการภายใต้สภาวะซบเซาของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการถดถอยลงอย่างต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ โดยมาตรการหลักที่มีความสำคัญ ได้แก่
การเข้าถือครองหุ้นบุริมสิทธิกลุ่มใหม่ (Senior Preferred Stock) ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยที่ 10% ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะเข้าถือครองหุ้นบุริมสิทธิดังกล่าว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละบริษัทหลังการประกาศเทคโอเวอร์ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ไม่กี่วัน และการถือครองหุ้นบุริมสิทธิดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อบริษัทหากมีความจำเป็น เมื่อการตรวจสอบงบการเงินของผู้สอบบัญชีรายไตรมาสพบว่า ความมั่นคงของเงินกองทุนของแต่ละบริษัท มีระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด
ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (Warrant) ที่สะท้อนถึงความเป็นเจ้าของหุ้นสามัญ 79.9% ของแต่ละบริษัท โดยมีราคาใช้สิทธิน้อยกว่า 1 เหรียญต่อหุ้น
การเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-Backed Securities: MBS) ที่ออกโดย แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะเริ่มเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค มูลค่าประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนนี้ โดยการดำเนินมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยหนุนตราสารเหล่านี้ ตลอดจนเพื่อช่วยให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินการ และเพื่อช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อต้นทุนของการกู้ยืมที่ลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลง ซึ่งจะส่งผลไปช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ในท้ายที่สุด
จัดสรรเงินทุนระยะสั้น ให้กับ แฟนนี เม เฟรดดี แมค และ federal home-loan banks อีก 12 แห่ง โดยมีธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสำหรับ Lending Facility โดย แฟนนี เม และเฟรดดี แมค สามารถนำเอาหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมได้
เพิ่มระดับของเพดานการถือครองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยอนุญาตให้ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค สามารถถือครองหลักทรัพย์ดังกล่าวไว้ในบัญชีรวมกันไม่เกิน 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จนถึงสิ้นปี 2551 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพดานเดิมที่ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มบทบาทให้ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค สามารถช่วยพยุงตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
เบื้องหลังของปัญหา แฟนนี เม และเฟรดดี แมค
แม้การเทคโอเวอร์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะไม่ใช่มาตรการที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินได้คาดการณ์กันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การเข้าดำเนินการในครั้งนี้นั้นถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้กับตลาดการเงิน และเป็นการบ่งชี้ถึงความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าทางการสหรัฐฯ พร้อมที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามออกไปจนสร้างความเสี่ยงให้กับระบบการเงินโดยรวมของสหรัฐฯ ทั้งนี้ การดำเนินการของทางการสหรัฐฯ ดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า ขนาดของปัญหาของ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค นั้น ใหญ่เกินกว่าที่ทางการจะยอมปล่อยให้สถาบันการเงินทั้งสองเผชิญกับภาวะวิกฤตได้ (Too Big to Fail) เนื่องจากความเรื้อรังของปัญหาอาจนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อตลาดการเงิน รวมทั้งต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปสร้างความผันผวนให้กับระบบการเงินของโลกอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ ประเด็นเบื้องหลังที่นำไปสู่การเข้าดำเนินมาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค อาจมีที่มาจากหลายประเด็น อาทิ
การขาดทุนเรื้อรัง สภาวะย่ำแย่ของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ทั้งนี้ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนสุทธิรวมกันประมาณ 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด และยังคงมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องในไตรมาสถัดๆ ไป
ความเพียงพอของเงินกองทุน / ปัญหาสภาพคล่อง การเสื่อมถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ถือครอง ตลอดจนต้นทุนทางการเงินที่ทั้งสองบริษัทต้องเผชิญภายใต้สภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อ ทำให้นักลงทุนต่างพากันกังวลว่า แฟนนี เม และเฟรดดี แมค อาจประสบกับปัญหาความเพียงพอของเงินกองทุน นอกจากนี้ ตลาดการเงินก็ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระคืนหนี้ของสถาบันการเงินทั้งสองแห่ง โดยตราสารหนี้ระยะสั้นของสถาบันการเงินทั้งสองแห่ง ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนภายในสิ้นไตรมาส 3/2551 มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 2.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
การเสื่อมค่าของตราสาร ปัญหาของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ถ่วงให้เสถียรภาพของตลาดหุ้นกู้ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง และหากปัญหาความอ่อนแอของฐานะทางการเงินของ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ไม่ได้รับการแก้ไขภายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลต่อเนื่องทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อตราสารทางการเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินทั้งสองแห่งซึ่งนับว่าเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงเสื่อมถอยลงและยากที่จะฟื้นกลับคืนมา ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางรัสเซีย ซึ่งถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศและทองคำเป็นอันดับที่สามของโลกมูลค่าถึง 5.825 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ณ 29 ส.ค. 2551) นั้น ได้ออกมากล่าวภายหลังข่าวการเข้าเทคโอเวอร์ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ว่า รัสเซียได้ทำการปรับลดการถือครองตราสารที่ออกโดย US Agencies มาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และยังมีแนวโน้มจะปรับลดการถือครองตราสารดังกล่าวลงอีกในระยะถัดไป โดยการถือครองตราสารดังกล่าวได้ลดลงมาแล้วประมาณ 40% สู่ระดับต่ำกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
การตอบรับของตลาดการเงิน
การเข้าควบคุมกิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ไม่เพียงหนุนความเชื่อมั่นในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตลอดจนภาคการเงินของสหรัฐฯ ให้ฟื้นตัวขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทาความกังวลต่อวิกฤตตลาดสินเชื่อทั่วโลกลง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ การทะยานขึ้นอย่างถ้วนหน้าของตลาดหุ้นเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มการเงิน ในวันที่ 8 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร และเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่มีต่อตลาดหุ้น และค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้จางหายไปในวันทำการถัดมา (9 กันยายน 2551) เมื่อตลาดหุ้นทั่วโลก ตลอดจนค่าเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายเพื่อทำกำไร ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับความสามารถในการเพิ่มทุนของของเลห์แมน บราเธอร์ส กระตุ้นให้ตลาดการเงินเกิดความวิตกอีกครั้งเกี่ยวกับภาคการเงินโดยรวม โดยสามารถสรุปการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินโดยสังเขปดังนี้
ตลาดหุ้น
ในวันที่ 8 กันยายน 2551 (วันทำการแรกหลังการประกาศเข้าเทคโอเวอร์ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่า มาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการกอบกู้ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งเป็นเสาหลักของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จะสามารถช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ และช่วยลดความกังวลในภาคการเงินทั่วโลกลง โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้น 289.78 จุด สู่ระดับ 11,510.74 ขณะที่ ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกก็ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยบวกนี้ด้วยเช่นกัน ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2551 แรงหนุนจากความหวังที่มีต่อ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ที่จะเข้าพยุงภาวะความซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัยนั้นได้จางหายไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการเพิ่มทุนและความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ได้กระตุ้นให้ตลาดการเงินกลับมาให้ความสนใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของภาคการเงินโดยรวมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดดิ่งลง โดยดัชนี S&P 500 ต้องเผชิญกับการร่วงลงที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่ง หลังจากดัชนี S&P หุ้นกลุ่มการเงินดิ่งลงถึง 6.6%
การเคลื่อนไหวของหุ้น แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ในวันที่ 8 กันยายน 2551 ราคาหุ้นของ แฟนนี เม ดิ่งลงประมาณ 90% สู่ระดับ 73 เซนต์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2525 ขณะที่ ราคาหุ้นของ เฟรดดี แมค ดิ่งลง 83% สู่ระดับ 88 เซนต์ ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการซื้อขายหุ้นสามัญของบริษัทในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าตลาดของแฟนนี เม อยู่ที่ 785 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 3.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550 ขณะที่ มูลค่าตลาดของเฟรดดี แมค อยู่ที่ 569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
เงินดอลลาร์ฯ ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเพื่อรับข่าวการเข้าเทคโอเวอร์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดสินเชื่อ ท่ามกลางความหวังว่ามาตรการช่วยเหลือนี้จะช่วยทำให้กลไกต่างๆ ในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถกลับมาทำงานได้ เพื่อให้สภาพคล่องคืนสู่ระบบการเงินของสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทการเงินจำนวนมากได้ถือครองตราสารหนี้ และหลักทรัพย์สินเชื่อจำนองที่ค้ำประกันโดย แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน และทะยานขึ้นแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อเทียบกับเงินยูโรที่ระดับ 1.4049 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ในช่วงการซื้อ-ขายตลาดเอเชียของวันที่ 9 กันยายน 2551
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นดังกล่าวเป็นไปในช่วงสั้นๆ เท่านั้น และได้จางหายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อความกังวลต่อความสามารถในการเพิ่มทุนเพื่อรับมือกับแนวโน้มการขาดทุนที่เกี่ยวโยงกับสินเชื่อจำนองของเลห์แมน บราเธอร์ส ได้ทำให้ตลาดการเงินกลับมาให้ความสนใจกับความเสี่ยงในภาคการเงินของสหรัฐฯ และสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็คือ แรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อตอบรับกับข่าวในแง่ลบของ เลห์แมน บราเธอร์ส โดยเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจากระดับแข็งค่าสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อเทียบกับเงินยูโร นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเงินเยน เนื่องจากข่าวร้ายต่างๆ ในภาคการเงินทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง
ตราสารของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค
ราคาหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันโดยสินเชื่อจำนอง และราคาตราสารหนี้ของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในวันที่ 8 กันยายน 2551 ซึ่งนับเป็นการดีดตัวขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ที่ลดลง หลังการเข้าเทคโอเวอร์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาตราสารเหล่านั้นได้ปรับตัวลงในวันที่ 9 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นวันทำการถัดมา โดยถูกกดดันจากแรงเทขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุน
อัตราดอกเบี้ยจำนอง
การนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นั้น ก่อให้เกิดผลดีต่อลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากจะทำให้อัตราดอกเบี้ยจำนองปรับตัวลง ซึ่งก็เป็นนัยว่า ต้นทุนของสินเชื่อจำนองที่ลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต้องเผชิญในระยะถัดไปนั้น อาจมีแนวโน้มปรับลดลง โดยล่าสุดวันที่ 9 กันยายน 2551 อัตราดอกเบี้ยจำนองแบบคงที่ 30 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 5.88% เทียบกับระดับ 6.26% ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าก่อนการประกาศแผนพิทักษ์กิจการ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค และเทียบกับระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ 6.51% ซึ่งทำไว้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยจำนองแบบคงที่ 15 ปี ซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับการรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ก็ได้ปรับตัวลงมาด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 5.49%
มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ถือเป็นเสาหลักในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีบทบาทสำคัญในการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์ (Mortgage-Backed Securities) ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับการค้ำประกันหรือถือครองโดยสถาบันการเงินทั้งสองมีมูลค่ารวมสูงถึงประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือมีมูลค่า 42% ของยอดคงค้างของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น ปัญหาที่ลากยาวออกไปของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค อาจนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างรุนแรงต่อตลาดและระบบการเงิน ตลอดจนระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทั่วโลก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า การที่สำนักงานการเงินการเคหะของรัฐบาลกลาง (FHFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบสำหรับสถาบันการเงินทั้งสองแห่ง ได้นำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2551 นั้น นับได้ว่าเป็นการดำเนินการที่สามารถเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงินได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่ามาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ในครั้งนี้ อาจไม่สามารถสะท้อนสัญญาณว่า ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินและความปั่นป่วนต่างๆ ในภาคการเงิน โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อ ได้หมดลงไปแล้วก็ตาม
และเนื่องจากสถานการณ์และระดับความรุนแรงของปัญหาที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งต้องเผชิญ อาจทำให้มาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาระทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินของทางการสหรัฐฯ ให้ปรับเพิ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป ทั้งนี้ อดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า ภาระที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้ากอบกู้ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ในรอบนี้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และในท้ายที่สุดภาระเหล่านี้ย่อมจะตกไปยังประชาชนผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า เมื่อประเมินถึงสาระสำคัญของการนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการนั้น อาจทำให้เสาหลักของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง หลังจากที่สถานะทางการเงินกลับมามีความเข้มแข็งเพียงพอ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งนี้ ค่อยๆ ฟื้นกลับคืนมา ซึ่งผลที่อาจเกิดขึ้นในลำดับถัดไปนั้น อาจออกมาในรูปของการคลายความตึงตัวของตลาดสินเชื่อ ซึ่งอาจทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยจำนองที่ลดลง (อาจทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านเพิ่มมากขึ้น) หรือเริ่มเจรจารีไฟแนนซ์สินเชื่อจำนองกับลูกค้าเดิม (อาจช่วยลดอัตราการผิดนัดชำระหนี้และการยึดทรัพย์จำนอง) โดยกระบวนการเหล่านี้อาจช่วยชะลอ/เสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยอีกต่อหนึ่ง และเมื่อปัญหาของตลาดที่อยู่อาศัย และตลาดสินเชื่อเริ่มคลายตัวลงแล้ว กระแสการปรับลดมูลค่าในบัญชีของภาคธนาคารก็อาจชะลอลงตามไปด้วย และในท้ายที่สุดก็อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญกับภาวะซบเซา
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินมาตรการช่วยเหลือตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ซึ่งหากปราศจากมาตรการเข้ากอบกู้กิจการในครั้งนี้ อาจทำให้ระบบสินเชื่อของสหรัฐฯ สั่นคลอนอย่างหนัก และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ปัญหาความปั่นป่วนและความยุ่งยากต่างๆ ซึ่งยากที่จะควบคุม ก็อาจเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น การเข้าเทคโอเวอร์สถาบันการเงินทั้งสองแห่งของทางการสหรัฐฯ ในรอบนี้ อาจมีเป้าหมายในการแก้ไขโจทย์เฉพาะหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานของระบบการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถดำเนินการได้ต่อไป และในท้ายที่สุดก็อาจส่งผลให้จำนวนบ้านที่ค้างสต็อกปรับลดลงและเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ กำลังได้รับแรงหนุนจากรัฐบาล แต่มาตรการกอบกู้ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ในครั้งนี้ อาจช่วยบรรเทาความเสี่ยงในภาคการเงินลงบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาที่ยืดเยื้อมานานทำให้ขนาดความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการ ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่เบ็ดเสร็จในการแก้ไขวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในรอบนี้ เนื่องจากยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่จำเป็นยิ่งสำหรับการฟื้นตัวก็คือ พลวัตรของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนี้ กำลังเผชิญกับแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราการว่างงาน และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปกดดันกำลังซื้อของประชาชนในระยะถัดไป ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้ จะพบว่า ยังคงไม่มีหลักประกันที่ทำให้สามารถเชื่อมั่นได้ว่า ปัญหาทั้งหมดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น จะคลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน พร้อมๆ ไปกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาของทางการสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม โดยข่าวร้ายของภาคการเงิน ปัญหาสินเชื่อที่ตึงตัว และการเสื่อมค่าของมูลค่าทางบัญชีของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงทยอยถูกเปิดเผยออกมานั้น อาจทำให้การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการเยียวยา แต่อย่างน้อยการดำเนินมาตรการช่วยเหลือของทางการสหรัฐฯ น่าจะทำให้นักลงทุน รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกคลายความกังวลและมีความมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า ทางการสหรัฐฯ พร้อมที่จะเข้าไปกอบกู้สถานการณ์ และช่วยประคับประคองให้ทุกอย่างค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ