จัดเรทติ้งเกม : แก้ปัญหาเกมได้…

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาตลาดเกมของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 20% โดยในปี 2551 นี้คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 8 พันล้านบาท ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงนี้ จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้บรรดาผู้ประกอบการต่างสนใจเข้ามาในตลาดกันมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกมต่างๆ สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์ได้ง่ายและหลากหลายขึ้น

รวมถึงคุณภาพของภาพ และเสียงในตัวเกมที่นับวันจะมีความสมจริงมากขึ้นจึงสามารถดึงดูดผู้เล่นได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่เทคโนโลยี และผู้ผลิตรุกเข้ามาทำตลาดอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้สังคมไทยซึ่งขาดการเตรียมพร้อมรับมือที่ดีพอ ได้รับผลของเกมในด้านลบปรากฏเด่นชัดมากกว่าผลในด้านบวก ตั้งแต่ปัญหาเยาวชนใช้เวลาเล่นเกมมากจนกระทั่งเสียการควบคุมตนเอง การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมก้าวร้าวต่อบุคคลรอบข้าง การหาเงินจากช่องทางต่างๆ เพื่อนำมาเล่นเกมโดยไม่จำกัดวิธีการได้มา จนกระทั่งล่าสุดเกิดโศกนาฏกรรมเยาวชนไทยอ้างเลียนแบบเกมในการก่อเหตุฆาตกรรม และชิงทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ภาครัฐได้ประกาศจะดำเนินการปราบปรามเกมเถื่อนและเกมที่มีความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง เพื่อให้ภายใน 90 วัน สามารถลดปัญหาเด็กติดเกมที่มีความรุนแรงลง 70% ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมก็พยายามที่จะเร่งจัดระดับความเหมาะสมของเกม หรือการจัดเรทติ้งเกมให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งการจัดเรทติ้งเกมถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะแก้ปัญหาการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมของเยาวชน โดยพยายามแก้ปัญหาที่ตัวเกม สร้างการเล่นเกมที่เหมาะสมกับเยาวชนในแต่ละวัย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจัดระเบียบเกมในประเทศไทย

มูลเหตุจูงใจ…จัดเรทติ้งเกม

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ภาครัฐมีแนวคิดที่จะดำเนินการจัดระดับความเหมาะสมของเกมแต่ละเกม ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

-การแพร่ขยายของเกมที่ไม่เหมาะสมมีมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเติบโตของตลาดเกมทั้งในประเทศและในโลก ทำให้มีการผลิตเกมจำนวนมากในหลายรูปแบบเพื่อสนับสนุนการเล่นในเครื่องเล่นเกมหลากหลายประเภท ซึ่งนับวันเกมที่เผยแพร่ในประเทศจะมีเกมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น เช่น เกมลามก อนาจารที่ส่วนใหญ่ผลิตและเผยแพร่มาจากประเทศจีน และญี่ปุ่น เกมที่มีความรุนแรงสูงที่ส่วนใหญ่ผลิตและเผยแพร่จากประเทศทางตะวันตก โดยเกมต่างๆ ที่เผยแพร่จะอยู่ในรูปอุปกรณ์เก็บข้อมูล เช่น ตลับเกม มินิซีดี ซีดี ดีวีดี ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายเกมทั่วไป ตลาดนัด แผงลอย นอกจากนั้น ยังสามารถหาดาวน์โหลดเกมผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้ให้ความเห็นว่า หากเล่นเกมที่มีความรุนแรงในวัยที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดพฤติกรรม 5 ประเภท ดังนี้ 1. การเรียนรู้ความรุนแรง 2. การคิดว่าเป็นโลกเสมือนจริง ซึ่งมีอิทธิพลต่อความทรงจำมาก อาทิ เกมข่มขืน 3. การได้รับรางวัล เช่น เกมขโมยของแล้วได้เงินก็จะทำให้มีพฤติกรรมเช่นนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง 4. การเกิดการรับรู้ซ้ำ จะทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ชาชิน และ 5. การกลับทิศทางบรรทัดฐานของสังคม เช่น เกมจีทีเอ ที่ผู้เล่นรับบทบาทเป็นโจร ต้องปฏิบัติภารกิจผิดกฎหมายมากมาย เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ขโมยรถยนต์ ค้ายาเสพติด ซึ่งเมื่อปฏิบัติภารกิจเช่นว่านี้ได้สำเร็จจะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งกลไกทางจิตจะชี้นำไปสู่ความรุนแรงและปฏิบัติในโลกแห่งความจริงได้ง่าย

– ผู้ปกครองขาดความรู้เกี่ยวกับเกม เนื่องจากผู้ปกครองของเยาวชนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีภาระในการทำงานที่มากขึ้น จึงมักขาดซึ่งเวลาในการให้ความสนใจกับกิจกรรมของบุตรหลาน อีกทั้งผู้ปกครองส่วนมากขาดซึ่งความรู้ในตัวเกม และการเล่นเกมที่บุตรหลานเล่น จึงทำให้ไม่สามารถเลือกเกม หรือตรวจสอบการเล่นเกมของบุตรหลานว่ามีความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยหรือไม่ ซึ่งการจัดเรทติ้ง เกมจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบการเล่นเกมของบุตรหลานให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะได้มากขึ้น

– เยาวชนขาดการพิจารณาเลือกเล่นเกมที่เหมาะสม ในปัจจุบันเยาวชนไทยสามารถเข้าถึงเกมแต่ละประเภทได้มาก ทั้งการเสาะหาด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อนำมาเล่นที่บ้าน เช่น การซื้อเกมตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าตามตลาด แผงลอย หรือการดาวน์โหลดเกมจากอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการยืมเกมจากเพื่อน อีกวิธีการหนึ่งในการเข้าถึงเกมคือการเล่นเกมในร้านเกมที่เปิดให้บริการที่มีจำนวนมาก ซึ่งเยาวชนที่เลือกเล่นเกมในปัจจุบันขาดการพิจารณาว่าเกมใดเหมาะสมกับช่วงวัยของตนเอง โดยจะทำการเลือกเล่นเกมที่มีภาพกราฟิกสวยงาม น่าจะสนุกสนาน มีความแปลกใหม่ หรือเป็นเกมที่นิยมในกลุ่มเพื่อน เกมที่เป็นข่าวดังเพื่อให้สามารถนำไปพูดคุยในสังคมได้เป็นหลัก

แนวทางการจัดเรทติ้งเกม…รายละเอียดต้องชัดเจน รัดกุม และครอบคลุมรอบด้าน

จากการประชุมคณะกรรมการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปมาตรการควบคุมการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่มีความรุนแรงด้วยการจัด เรทติ้ง โดยเรทติ้งที่เตรียมจะประกาศใช้แบ่งเป็น 5 ระดับ ซึ่งคล้ายคลึงกับการจัดระดับสื่อทางโทรทัศน์ ได้แก่ ระดับ 3+ คือเกมสำหรับเด็กเล็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ระดับ 6+(ด) หมายถึงเกมที่เหมาะสำหรับเด็กประถมศึกษาอายุ 6 ปีขึ้นไป ระดับ 13+(น 13) เกมที่เหมาะสำหรับเด็กมัธยมศึกษาอายุ 13 ปีขึ้นไป ระดับ 15+(น 15) เกมที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป และระดับ 18+(น 18 ฉ) เกมที่เหมาะสำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษาที่อายุ 18 ปีขึ้นไป และเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น ซึ่งการพิจารณาการจัดเรทติ้งแต่ละเกมผู้ผลิตและนำเข้าเกมเพื่อการจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องผ่านการตรวจพิจารณา และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการพิจารณาตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 รวมไปถึงบทลงโทษในการฝ่าฝืนก็จะพิจารณาตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นหลักเช่นกัน ทั้งนี้ การจัดเรทติ้งเกมคาดว่าจะนำร่องเริ่มการจัดเรทติ้งจากเกมที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ได้อนุญาตให้จำหน่ายในประเทศไทยไปบ้างแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นจัดเรทติ้งได้ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยเกมที่ผ่านการอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศไทย และได้รับการจัดเรทติ้งน่าจะมีประมาณหลักร้อยเกมในช่วงเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ารายละเอียดของการจัดเรทติ้งเกมถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และครอบคลุมรอบด้าน เพื่อให้การจัดเรทติ้งเกมสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาประกอบไปด้วย

– การบังคับใช้ทางกฎหมายที่เหมาะสม แม้ว่าเกมใหม่แต่ละเกมที่จะจำหน่ายอย่างถูกต้องในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาจัดระดับเรทติ้งเกมควบคู่ไปด้วย แต่ปัญหาเยาวชนเลือกเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมอาจยังคงเกิดขึ้นได้อยู่ โดยเฉพาะเกมที่มีจำหน่ายมาเป็นเวลานานในประเทศไทย ซึ่งอาจยังไม่ได้รับการจัดเรทติ้ง และผู้ประกอบการบางรายอาจละเลยนำเกมไปจัดเรทติ้ง การกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนไม่นำเกมมาจัดเรทติ้งโดยออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ น่าจะเป็นมาตรการที่ทำให้ผู้ประกอบการเกมทุกรายร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ แต่กฎหมายที่บังคับใช้จะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับมูลค่าของตลาดเกม ทั้งบทลงโทษทางแพ่งและอาญา ซึ่งบทลงโทษจะต้องไม่เบาเกินไปจนทำให้ผู้ประกอบการยอมรับการลงโทษมากกว่านำเกมมาจัดเรทติ้งที่อาจสูญเสียกลุ่มผู้เล่นจากการจัดเรทติ้ง

– คณะทำงานจัดเรทติ้งเกมที่เหมาะสม เนื่องจากเกมแต่ละเกมมีความซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ดังนั้นคณะทำงานจัดเรทติ้งเกมจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะเข้ามากลั่นกรองเกมแต่ละเกม ซึ่งแนวทางการจัดเรทติ้งเกมเดิมทีเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐพิจารณาให้การอนุมัติแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยผู้ผลิตจะเสนอระดับเรทติ้งของเกมมาก่อนล่วงหน้า ซึ่งอาจเกิดปัญหาผลประโยชน์การจัดเรทติ้งเกมตกไปอยู่กับผู้ผลิตเกมที่อาจปกปิดข้อมูลเกมบางส่วน เพื่อต้องการให้เกมของตนเองอยู่ในระดับเรทติ้งที่ต่ำ เพื่อให้มีกลุ่มฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ดังนั้น คณะทำงานจึงควรจะประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเกม นักพัฒนาซอฟท์แวร์เกม นักวิชาการ นักจิตวิทยา ผู้เล่นเกม และผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถพิจารณารายละเอียดของเกมในทุกแง่มุมได้อย่างรอบด้าน อันทำให้การจัดเรทติ้งเกมมีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมและสังคมไทยมากที่สุด

– การจำแนกเนื้อหา และประเภทเครื่องเล่นเกมที่ครอบคลุมการจัดเรทติ้ง การจัด เรทติ้งเกมที่ดำเนินการในต่างประเทศจะคำนึงถึงเนื้อหา และภาษาที่ใช้ในเกมประเภทที่เล่นส่วนตัวบนเครื่องเล่นเกมที่เชื่อมต่อกับโทรทัศน์ เครื่องเล่นแบบพกพา และบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้แยกแยะรายละเอียดไปถึงเกมออนไลน์ที่มีลักษณะต่างออกไป คือ ผู้เล่นสามารถพูดคุยกันเองได้ สามารถใช้ภาษาหรือคำพูดสื่อสารระหว่างกันอย่างอิสระ ซึ่งการจัดเรทติ้งเกมนี้ควรจะดำเนินการในทุกประเภทเครื่องเล่นเกม ทั้งเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อ หรือเชื่อมต่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เกมที่เล่นโดยการเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ เกมที่เล่นบนเครื่องเล่นพกพา เกมตู้ที่เล่นตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงเกมที่เล่นบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้การจัดเรทติ้งเกมครอบคลุมทั่วถึงเกมทั้งระบบ

– ความรวดเร็วในการพิจารณาจัดเรทติ้งเกมแต่ละเกม เนื่องจากเกมแต่ละเกมมีช่วงเวลาที่จะสามารถจำหน่ายสร้างมูลค่าที่สูงได้ค่อนข้างสั้น การพิจารณาจัดเรตติ้งเกมแต่ละเกมจึงควรจะกระทำด้วยความรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจต่อผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่นำเกมมาจัดเรทติ้ง ซึ่งหากการจัดเรทติ้งเกมดำเนินการล่าช้าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการซื้อและจำหน่ายเกมเถื่อนได้ง่าย โดยเฉพาะเกมใหม่ที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศ เยาวชนอาจหาช่องทางต่างๆ เพื่อให้ได้มา โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของเกมกับวัยของตนเอง ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วในการจัดเรทติ้งเกมในระยะเริ่มต้น อาจนำเรทติ้งเกมในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ดัดแปลงกับวัฒนธรรมและค่านิยมของไทยก่อน (รายละเอียดแสดงในภาคผนวก) เนื่องจากมีเกมจำนวนมาก และหลากหลายประเภทเครื่องเล่น อาจจะทำให้การดำเนินการจัดเรทติ้งเกมทำได้ค่อนข้างช้า

– การเข้าถึงเกมในแต่ละระดับเรทติ้ง เนื่องจากการจำแนกเนื้อหาตามช่วงวัยของผู้เล่นเป็น 5 ระดับเช่นเดียวกับการจัดเรทติ้งรายการโทรทัศน์ ซึ่งวัดจากเนื้อหาเรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง และเลือดนั้น ควรที่จะต้องพิจารณาถึงโอกาสการเข้าถึงเกมแต่ละระดับของเยาวชนด้วย เช่น เกมระดับ 18+ อาจจำหน่ายแก่ผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปีที่แท้จริงเท่านั้น และอาจไม่มีการวางจำหน่ายทั่วไป รวมไปถึงร้านเกมก็จำเป็นต้องกวดขันเกมที่เยาวชนเลือกเล่นให้ตรงกับช่วงอายุมากขึ้น ขณะที่เกมออนไลน์อาจต้องพิจารณาหาแนวทางป้องกันผู้ที่จะเข้ามาเล่นในแต่ละวัยให้มากขึ้น เช่น การตรวจสอบรหัสบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียนก่อนเข้าเล่นเกม และสอบถามข้อมูลเฉพาะบางอย่างเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนที่แท้จริงของผู้เล่นเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงอายุของเยาวชนเพื่อเข้ามาเล่นเกมออนไลน์

– การกำหนดตำแหน่งแสดงสัญลักษณ์เรทติ้ง เนื่องจากการแสดงสัญลักษณ์เรทติ้งเกมที่นิยมในต่างประเทศ จะแสดงสัญลักษณ์เรทติ้งไว้บริเวณบรรจุภัณฑ์เกม และแผ่นเกม ซึ่งอาจไม่เพียงพอและครอบคลุมถึงเกมทุกประเภท เช่น เกมออนไลน์ และเกมที่ดาวน์โหลดมาเล่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ไม่ทราบเรทติ้งเกม ดังนั้นจึงควรขยายจุดแสดงสัญลักษณ์เรทติ้งเกมไปในพื้นที่ต่างๆ ในตัวเกม โดยไม่กระทบต่ออรรถรสในการเล่นเกม แต่ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบเกมที่บุตรหลานกำลังเล่นอยู่ได้ เช่น ฉากเข้าสู่จุดเริ่มเล่นเกม ภาพพักหน้าจอระหว่างการดาวน์โหลดข้อมูลในแต่ละครั้ง เป็นต้น

จัดเรทติ้งเกม…เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบเกมเท่านั้น

การจัดเรทติ้งเกมถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามจัดระเบียบเกม และแก้ปัญหาความรุนแรงจากเกม แต่ทว่าการจัดเรทติ้งเกมที่เหมาะสมแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากเกมลดลงได้ รวมถึงอาจไม่สามารถทำให้การเข้าถึงและเลือกเล่นเกมที่เหมาะสมของเยาวชนไทยเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากประเด็นปัญหาที่ยังขาดการแก้ไขที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

– เกมเถื่อนยังคงสามารถหาเล่นได้ง่าย เนื่องจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยยังคงมีอยู่มาก ทำให้เกมที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเกมเถื่อนยังคงแพร่หลายอยู่มากในประเทศไทย ซึ่งเกมเถื่อนมีราคาถูก และสามารถหาซื้อได้ง่ายทั้งในห้างสรรพสินค้าต่างๆ แผงลอยข้างถนน ตลาด รวมถึงการจำหน่ายในอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการหาดาวน์โหลดเกมด้วยตัวเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายมากขึ้น จึงทำให้การเข้าถึงเกมเถื่อนที่อาจเป็นเกมที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชนแต่ละวัยเกิดขึ้นได้ง่าย

– กลยุทธ์เกมเถื่อน เปลี่ยนแปลงระดับความรุนแรงของเกม นอกจากเกมเถื่อนจะสามารถหาเล่นได้ง่ายแล้ว เกมเถื่อนยังทำการปรับเปลี่ยนระดับเรทติ้งของเกมบริเวณหน้าปก หรือแผ่นเกมโดยส่วนมากมักเปลี่ยนระดับจากเกมที่มีเรทติ้งจริงอยู่ในระดับสูงที่มีกลุ่มผู้เล่นน้อย มาเป็นระดับต่ำที่สามารถเล่นได้ทุกกลุ่มอายุ รวมถึงบางครั้งอาจไม่ระบุเรทติ้งเกม จึงอาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง และเยาวชนผู้ซื้อเกมไปเล่นเองซื้อไปเล่นผิดกับที่เข้าใจจริง เกิดการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมกับวุฒิภาวะอยู่ต่อไป

– ขาดความร่วมมือจากผู้จำหน่าย และเผยแพร่เกม เนื่องจากการตรวจสอบผู้ซื้อ และผู้ใช้บริการเกมของผู้จำหน่ายและร้านเกม อาจทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ จึงทำให้ผู้จำหน่ายเกมไม่ได้ทำการกวดขันผู้ซื้อเกมอย่างละเอียดว่าสามารถซื้อเกมบางระดับได้หรือไม่ รวมถึงร้านเกม และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ก็ไม่ได้ทำการตรวจสอบผู้ใช้บริการว่าเล่นเกมที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะอยู่หรือไม่

– ผู้ปกครอง และเยาวชนไม่ให้ความสนใจเรทติ้งเกมเท่าที่ควร เรทติ้งเกมได้ปรากฏในประเทศไทยมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว โดยปรากฏอยู่ในเกมที่จำหน่ายสำหรับเล่นบนเครื่องเล่นเกมต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่บรรดาผู้ปกครองและเยาวชนที่เลือกซื้อเกมก็ไม่ได้พิจารณาระดับเรทติ้งของเกมก่อนซื้อเท่าไรนัก ซึ่งหากการจัดเรทติ้งเกมในประเทศไทยแล้วเสร็จและบังคับใช้ แต่ผู้ปกครองและเยาวชนขาดความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของสัญลักษณ์ระดับเรทติ้งในแต่ละเกม ย่อมจะทำให้การเลือกซื้อ และการเล่นเกมยังคงเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม

ทุกฝ่ายร่วมมือแก้ปัญหา…ควบคู่กับการจัดเรทติ้งเกม

แม้ว่าภาครัฐจะสามารถจัดเรทติ้งเกมได้อย่างสมบูรณ์ และบังคับใช้ในทางกฎหมายเพื่อควบคุมเกมแต่ละเกมที่จำหน่ายในประเทศไทยให้มีเรทติ้งที่เหมาะสม แต่อาจไม่สามารถแก้ปัญหาการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมลงได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งเยาวชนผู้เล่นเกมเอง ผู้ปกครอง หน่วยงานภาครัฐ และสังคม โดยทุกฝ่ายต้องดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาเกมอย่างเป็นระบบ ดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำผิด ตั้งแต่ผู้ผลิตและจำหน่ายเกมเถื่อนในทุกรูปแบบ ทั้งที่ผลิตและจำหน่ายในปริมาณน้อยจนถึงปริมาณมาก เพื่อให้เยาวชนไทยเข้าถึงเกมเถื่อนที่ไม่เหมาะสมได้น้อยลง นอกจากนั้น ในส่วนของร้านจำหน่ายหรือให้บริการเกมที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อป้องกันการจำหน่ายและให้บริการเกมที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชนที่ขาดซึ่งความพร้อม รวมถึงการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยกระทรวงมหาดไทยอาจจะเชื่อมระบบข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับร้านอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจอายุของผู้เล่นเกมประเภทเกมออนไลน์ รวมถึงการสอดส่องคอยระงับการดาวน์โหลดเกมที่มีความรุนแรงหรือลามก อนาจารในอินเทอร์เน็ต

2. ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจในเรทติ้งเกมแต่ละระดับแก่ทุกฝ่ายในสังคมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ปกครอง และเยาวชนผู้เล่นเกม รวมถึงการบ่งชี้ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเล่นเกมที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงภัยที่จะเกิดขึ้นหากเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เกิดกระแสและค่านิยมการเล่นเกมที่เหมาะสมกับวัย และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเกิดความเข้าใจ สามารถตรวจสอบ ดูแลการเล่นเกมของเยาวชนได้อย่างเหมาะสม

3. ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์เกมสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเยาวชน เพื่อให้ผู้ปกครองและเยาวชนเกิดการรับรู้ และสร้างกระแสให้เกิดค่านิยมการเล่นเกมที่สร้างสรรค์ รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเกมที่ดีมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะให้สามารถหาเล่นได้ง่ายตามช่องทางต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนไทยหันมาเล่นเกมที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะ และเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ผลิตเกมเกิดความสนใจหันมาผลิตเกมที่มีประโยชน์ต่อเยาวชนมากขึ้น

4. สร้างความเข้มแข็งให้กับเด็กและเยาวชนในการเล่นเกมอย่างรู้เท่าทัน เล่นในเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และเกมที่เล่นควรเป็นเกมที่สร้างสรรค์ ฝึกทักษะ โดยการเล่นเกมของเด็กควรจะอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองอาจร่วมเล่นเกมหรือใช้คอมพิวเตอร์กับบุตรหลานเพื่ออธิบาย และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เด็ก

5. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นบรรดาผู้ประกอบการร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ตที่สอดส่องดูแลการเล่นเกมของผู้ที่มาเล่นในร้าน และผู้จำหน่ายเกมจะต้องตรวจสอบผู้ซื้อเกมว่าอยู่ในวัยที่สามารถซื้อเกมได้หรือไม่ รวมไปถึงประชาชนในสังคมต้องคอยสอดส่องการจำหน่าย การเผยแพร่เกมที่ไม่เหมาะสมในสังคม และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้ทำการปราบปรามเกมที่ไม่เหมาะสม

6. สังคมต้องสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนแสดงออกมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น สร้างพื้นที่ลานกิจกรรม จัดการแข่งขันกีฬา จัดกิจกรรมพัฒนาสมอง หรือจัดกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครอบครัวให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรม อันเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในทางอื่นแทนที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม

บทสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการจัดเรทติ้งเกมนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความพยายามที่จะจัดระเบียบเกมในประเทศไทย เพื่อให้การเล่นเกมของเยาวชนไทยเกิดประโยชน์ในการพัฒนาทักษะอย่างแท้จริง และลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมลง ซึ่งการจัดเรทติ้งเกมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณารายละเอียดของประเด็นต่างๆ ให้รอบคอบ เพื่อให้การจัดเรทติ้งเกมเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งประเด็นทางด้านบทลงโทษที่เหมาะสมของการไม่นำเกมมาจัดเรทติ้ง เพื่อให้การจัดเรทติ้งเกมมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ เกิดการนำเกมมาจัดเรทติ้งอย่างถ้วนหน้า ประเด็นทางด้านคณะทำงานจัดเรทติ้งที่ควรจะมาจากหลากหลายฝ่ายในสังคมเพื่อให้การพิจารณาจัดเรทติ้งเกมเกิดการพิจารณาในหลากหลายมิติอย่างรัดกุม และเหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุด ประเด็นทางด้านความครอบคลุมของการจัดเรทติ้งเกมในเครื่องเล่นเกมต่างๆ เพื่อให้การจัดเรทติ้งมีระบบครอบคลุมเกมได้ทั่วถึง ประเด็นทางด้านระยะเวลาที่ใช้ในการจัดเรทติ้ง ซึ่งไม่ควรใช้ระยะเวลาที่นาน จนทำให้ผู้ประกอบการเกมเสียโอกาสในการวางจำหน่ายเกมในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง ประเด็นทางด้านการเข้าถึงเกมในระดับเรทติ้งต่างๆ ของผู้เล่นแต่ละวัยเพื่อป้องกันการเข้าถึงเกมที่ไม่เหมาะสมกับวัย และประเด็นการกำหนดตำแหน่งแสดงสัญลักษณ์เรทติ้งที่เหมาะสมเพื่อให้เยาวชนสามารถเลือกเล่นเกมที่เหมาะสมกับวัยได้อย่างถูกต้อง และผู้ปกครอง รวมถึงสังคมสามารถตรวจสอบระดับเกมที่เยาวชนเล่นได้โดยสะดวก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการจะแก้ปัญหาการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมให้ได้ผลอย่างแท้จริง และเป็นระบบที่ยั่งยืนนั้น นอกจากรายละเอียดของการจัดเรทติ้งเกมที่เหมาะสมโดยมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายด้วยแล้วนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งควรดำเนินการด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดเรทติ้งเกม ทั้งการปราบปรามเกมเถื่อนอย่างจริงจังในทุกรูปแบบ และการประชาสัมพันธ์ สนับสนุน ส่งเสริมการเข้าถึงเกมที่ดีมีประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐ การทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ และผู้ปกครองต้องสอดส่องดูแลการเล่นเกมของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการสอดส่องดูแลการเล่นเกมของผู้ประกอบการจำหน่ายและให้บริการเกม รวมไปถึงการที่ชุมชนจัดพื้นที่ และจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้แสดงออกที่เหมาะสม เช่น การจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวและสมาชิกในชุมชน เพื่อให้เยาวชนพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมจริง และเป็นการใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์นอกเหนือไปจากการใช้เพียงเพื่อการเล่นเกมเท่านั้น