การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาของทางการสหรัฐฯ … ข่าวดีของตลาดการเงินทั่วโลก

หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ พยายามระมัดระวังในการนำเงินภาษีประชาชนไปให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา แต่การดิ่งลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างหนัก และต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ หลังจากข่าวการล้มละลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brothers ได้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปสู่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก และนำไปสู่ความกังวลว่า หากไม่มีการดำเนินมาตรการที่เบ็ดเสร็จออกมาจากทางการสหรัฐฯ วิกฤตสถาบันการเงินครั้งนี้ อาจจะลุกลามไปทั่วโลก และอาจเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดนิวยอร์กในคืนวันที่ 18 กันยายน ได้พบกับข่าวดีอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า ทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับภาวะปั่นป่วนจากวิกฤตการเงิน อันเนื่องมาจากปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมาตรการเพิ่มเติมดังกล่าวอาจจะออกมาในรูปของ การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับซื้อสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพหรือขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะตราสารทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับบรรษัท Resolution Trust Corp. (RTC) ในช่วงวิกฤต Savings and Loans ทำให้ในที่สุดแล้วทางการสหรัฐฯ ก็จำต้องใช้เงินภาษีประชาชนในการเข้าไปกอบกู้วิกฤตสถาบันการเงินในรอบนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นต่อประเด็นเหล่านี้ ดังนี้ :-

Resolution Trust Corporations (RTC) … ต้นแบบในอดีต

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งบรรษัท RTC ขึ้น เพื่อรับมือกับหนี้เสียมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตสถาบันการเงินด้านเงินออมและการให้สินเชื่อ (The Savings and Loan Crisis) ซึ่งใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นมาปล่อยสินเชื่อระยะยาว และพิจารณาสินเชื่ออย่างขาดความรับผิดชอบหลังจากมีการผ่อนคลายเรื่องกฏระเบียบ โดยหน้าที่หลักของบรรษัท RTC ในขณะนั้น ก็คือ รับซื้อสินเชื่อที่เสื่อมค่าลงของสถาบันการเงินด้านเงินออมและการให้สินเชื่อ (S&Ls) มาบริหารด้วยการขายต่อ ซึ่งก็เท่ากับว่า เป็นการเอาสินทรัพย์ที่เสื่อมค่าออกจากงบดุลของสถาบันการเงินนั่นเอง

ข้อเสนอที่จัดตั้ง “บรรษัท RTC รูปแบบใหม่” … ถือเป็นข่าวดี

อาจจะกล่าวได้ว่า หน่วยงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรับซื้อสินทรัพย์หรือตราสารทางการเงินที่ด้อยคุณภาพหรือขาดสภาพคล่อง ก็คือ “บรรษัท RTC รูปแบบใหม่” โดยเป็นที่คาดหมายว่า หน่วยงานดังกล่าวจะถูกมอบหมายให้รับหน้าที่หลักในการเข้าไปซื้อหนี้เสียและสินทรัพย์ด้อยค่า และอาจรวมไปถึงตราสารทางการเงินและตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้เสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤตซับไพร์มเริ่มต้นขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ขอบเขตและหน้าที่หลักในการดำเนินงานของบรรษัท RTC รูปแบบใหม่ อาจช่วยฟื้นความเชื่อมั่นและช่วยเสริมสร้างให้ตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อ สามารถกลับดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะตึงตัวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะตั้งแต่ข่าวการล้มละลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brothers การขายกิจการของ Merrill Lynch & Co Inc.ให้กับธนาคาร Bank of America ไล่มาจนถึงแผนการช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัท AIG ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตลอดจนความวิตกเกี่ยวกับความอยู่รอดของวาณิชธนกิจ Goldman Sachs และ Morgan Stanley เนื่องจากหน่วยงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นนั้น จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ผู้ซื้อ” สินทรัพย์ที่กำลังเสื่อมค่า ซึ่งแทบจะไม่มีใครทำหน้าที่นี้เลยภายใต้สภาวะตลาดที่ผิดปกติเช่นในปัจจุบัน ทำให้จะช่วยบรรเทาปัญหาความตื่นตระหนกในตลาดเงินลงได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ข้อเสนอที่จัดตั้งบรรษัท RTC รูปแบบใหม่นี้ ถือเป็นมาตรการที่เป็นข่าวดีที่สุดของตลาดการเงินในขณะนี้ เนื่องจากการจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะบรรษัท RTC น่าจะสามารถตอบโจทย์ที่แท้จริงของปัญหาพื้นฐานของวิกฤตซับไพร์ม ซึ่งได้พัฒนาต่อเนื่องกลายมาเป็นวิกฤตสินเชื่อในปัจจุบัน เนื่องจากจะมีการรับซื้อสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพหรือขาดสภาพคล่อง ออกไปจากสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหา ต่างไปจากมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ที่เฟดได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการแก้ปัญหาชั่วคราว เนื่องจากไม่ได้ทำให้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หลุดออกไปจากงบดุลของสถาบันการเงิน ขณะที่ การให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาเป็นรายกรณี ดังเช่นกรณีวาณิชธนกิจ Bear Stearns การนำ Fannie Mae และ Freddie Mac เข้าเข้าสู่แผนพิทักษ์กิจการของรัฐบาลกลาง ตลอดจนการให้สินเชื่อแก่บริษัทประกัน AIG นั้น ก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกรณี แต่ยังคงไม่เบ็ดเสร็จ และไม่ได้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งรับข่าวดีของความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดตั้งบรรษัท RTC รูปแบบใหม่ โดยดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวของสหรัฐฯ ปิดตลาดวันที่ 18 กันยายน 2551 ด้วยการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545

นอกจากรายงานข่าวจะระบุถึงการจัดตั้งหน่วยงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในรูปแบบคล้ายกับบรรษัท RTC แล้ว ยังได้มีการกล่าวถึงมาตรการอื่น อีก 2 มาตรการ ได้แก่ การจัดสรรเงินทุนเพื่อให้การค้ำประกันแก่นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมตราสารทางการเงินระยะสั้น (Money Market Funds) เช่นเดียวกันกับการให้ความคุ้มครองแก่เงินฝาก และตลอดจนเร่งกระบวนการของการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-Backed Securities: MBS) ที่ออกโดย Fannie Mae และ Freddie Mac เพื่อช่วยหนุนตลาดตราสารเหล่านี้ ตลอดจนเพื่อช่วยให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินการ และเพื่อช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อต้นทุนของการกู้ยืมที่ลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลง ซึ่งจะส่งผลไปช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ในท้ายที่สุด

ประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิด

แม้การจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะบรรษัท RTC อาจจะสามารถดึงเอาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากระบบได้ แต่ก็คงต้องแลกมาด้วยภาระของประชาชนผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก โดยมีการคาดการณ์ว่า วงเงินที่จะต้องใช้ในการรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการค้ำประกันกองทุนตราสารทางการเงินระยะสั้น (Money Market Funds) ดังกล่าวอาจจะไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องติดตามก็คือ กรอบเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่จะได้รับความช่วยเหลือจากบรรษัท RTC ซึ่งจะมีความสำคัญมากต่อการประเมินสถานการณ์ข้างหน้าของตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบเงื่อนไขที่เกี่ยวกับ :-

1.) สถาบันการเงินที่สามารถเข้ารับความช่วยเหลือ (Qualified Institutions) โดยจากรายงานข่าวระบุถึงมาตรการช่วยเหลือในวงกว้าง (Comprehensive Solution) ซึ่งทำให้ตีความได้ว่า คงจะเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างครอบคลุม ไม่เลือกปฏิบัติกับสถาบันการเงินที่ได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณีแบบในช่วงที่ผ่านมา เช่น กรณีล่าสุดของบริษัท AIG ที่ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากเฟดเนื่องจากเป็นสถาบันการเงินที่มีความซับซ้อน ครอบคลุมในวงกว้าง และมีความเกี่ยวโยงกับรายย่อย และกรณีของการเข้ากอบกู้กิจการ Fannie Mae และ Freddie ซึ่งเป็นเสาหลักในการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์ (Mortgage-Backed Securities) ขณะที่ ทางออกของบริษัท Lehman Brothers และบริษัท Merrill Lynch & Co Inc. กลับออกมาในรูปของการยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย และขายกิจการให้กับธนาคาร Bank of America ตามลำดับ

2.) เงื่อนไขของราคา และข้อตกลงในการรับซื้อสินทรัพย์หรือตราสารที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เสื่อมมูลค่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาของบรรษัท RTC รูปแบบใหม่นี้ อาจจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับข้อตกลงของแผนการช่วยเหลือบริษัท AIG ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีเป็นหลัก โดยอาจส่งผลกระทบต่อสัดส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นเพื่อให้มีสิทธิมากขึ้นในการพิจารณาข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับการขายสินทรัพย์ และอาจต้องกำหนดเงื่อนไขให้สถาบันการเงินที่ประสบปัญหารับภาระความสูญเสีย และทำการปรับลดมูลค่าทางบัญชีไปเบื้องต้นก่อน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้เงินภาษีของประชาชนไปช่วยสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา

3.) กรอบเวลาในการรับซื้อ (มาตรการสิ้นสุดเมื่อใด) สืบเนื่องจากความรุนแรงของวิกฤตสถาบันการเงินในรอบนี้ ขณะที่ ยังไม่มีหลักฐานบ่งชัดว่า การปรับฐานของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ จะเข้าใกล้จุดสิ้นสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า มาตรการช่วยเหลือเพื่อกอบกู้ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนี้ น่าจะมีกรอบระยะเวลาที่นานพอสมควร จนกว่าปัญหาพื้นฐานของตลาดสินเชื่อจะถูกเยียวยาจนหมดไป และความเชื่อมั่นของตลาดการเงินฟื้นกลับคืนมาเต็มที่

ทั้งนี้ คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะ “ตามความสมัครใจ” (Voluntary Basis) เพื่อให้ภาระที่ประชาชนผู้เสียภาษีสหรัฐฯ ต้องแบกรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น เกิดขึ้นน้อยที่สุด และเพื่อเปิดทางให้สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา พิจารณาทางเลือกอื่นๆ ก่อน เช่น การหาพันธมิตรในการร่วมกิจการ หรือหาแหล่งทุนอื่นในการเพิ่มทุน เนื่องจากการเข้าขอรับความช่วยเหลือจากบรรษัท RTC รูปแบบใหม่อาจถูกมองเป็นภาพในเชิงลบของสถาบันการเงินเหล่านั้น นอกจากนี้ ประเด็นต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะถัดไปก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับการก่อหนี้ของรัฐบาลที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยความจำเป็นของรัฐบาลที่จะต้องกู้เงินมาเพื่อใช้ในการดำเนินงานของบรรษัท RTC ที่จัดตั้งขึ้น อาจส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ให้ต้องเผชิญกับอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลที่จะทยอยออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นนัยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับต้นทุนของการออกพันธบัตรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป ขณะที่ ปริมาณการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจจะส่งผลกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ คาดว่า ความมั่นใจของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจ ตลาดทุน ตลอดจนค่าเงินดอลลาร์ฯ ก็คงจะฟื้นกลับคืนมา

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งจากวิกฤตในรอบนี้ คือ โครงสร้างธุรกิจการเงินของสหรัฐฯ คงจะมีการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าขนาดใหญ่ อันเป็นผลจากการที่บริษัทวาณิชธนกิจหลายแห่งอาจจะต้องถูกรวมกิจการไปอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่ ทางการสหรัฐฯ ก็คงจะเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องของการออกตราสารทางการเงินที่มีความซับซ้อน และการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารเหล่านั้น