บริษัท ภาสา อินเตอร์เมชั่น จำกัด ร่วมมือเน็ตเปียคิดค้น “นามไทย” นวัตกรรมไอทีใหม่ล่าสุด กุญแจสำคัญในการ “ทลายกำแพงภาษา” ช่วยให้ “คนไทย” ทุกคนเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว สะดวกง่ายดายมากขึ้นด้วย “ภาษาไทย” คาดสิ้นปี 2552 จะมีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ต่ำกว่า 25,000 ราย
นายไผทสันต์ โพธิทัต กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทภาสา อินเตอร์เมชั่น เปิดเผยว่า จากการที่ในปัจจุบันเทคโนโลยี “อินเทอร์เน็ต” ได้กลายเป็นคลังความรู้บรรจุข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคนไทย ที่ผ่านมาด้วยข้อจำกัดด้านภาษา ทำให้มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 13 ล้านคน จากจำนวนประชากรกว่า 63 ล้านคนทั่วประเทศ และมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสาเหตุจากการที่มีคนไทยจำนวนมากที่ไม่ถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นหากคนไทยสามารถใช้คำภาษาไทยในการค้นข้อมูลด้านต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ อัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยก็น่าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เหมือนกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีภาษาเป็นของตนเอง และไม่ถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก
บริการ “นามไทย” ชื่อไทยบน Internet Address Bar” เป็นนวัตกรรมไอทีใหม่ล่าสุด ที่จะทำหน้าที่เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ “คนไทยทุกคน” เข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยบริษัท ภาสา อินเตอร์เมชั่น และเน็ตเปีย ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีไอทีจากประเทศเกาหลีใต้ ที่ร่วมกันนำ ” Native Language Internet Address – NLIA” นวัตกรรมที่สามารถเข้าสู่เว็บไซต์ด้วยภาษาประจำชาติของตนเองที่ได้รับความนิยมแพร่หลายของนักท่องเน็ตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาปรับปรุงและพัฒนาจนกลายเป็น ระบบ “Thai Internet Address” (THIA) หรือระบบ “ที่อยู่เว็บไซต์อินเทอร์เน็ตภาคภาษาไทย” เปิดทางให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพิมพ์ภาษาไทยลงไปในช่อง “URL” ได้โดยตรง โดยแม้แต่ผู้ที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตมาก่อนอย่างเด็กๆ หรือผู้สูงอายุก็จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต ภายใต้ระบบ “นามไทย” ได้
สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศไทยที่เชื่อมต่อสัญญาณผ่าน “ไอเอสพี” ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บริษัททรู อินเทอร์เน็ต, อินเทอร์เน็ต เคเอสซี, ซีเอสล็อกซ์อินโฟ, ไอเน็ต และเจไอ เน็ต สามารถใช้งาน “นามไทย” เพื่อพบประสบการณ์ใหม่บนโลกอินเทอร์เน็ตได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“เพียงแค่พิมพ์ชื่อภาษาไทยของเว็บไซต์ที่ต้องการในช่อง Internet Address Bar ใน Microsoft internet explorer, Fire Fox หรือ Safari โดยไม่ต้องมี www หรือ .com และกดปุ่ม Enter หน้าเว็บบราวเซอร์จะเปิดเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการโดยอัตโนมัติ แบบหนึ่งชื่อต่อหนึ่งเว็บไซต์ เช่น พิมพ์ คำว่า ทำบัตรประชาชน ลงบน แอดเดรสบาร์ แทนคำว่า www.dopa.go.th/dopanew/pidcard.html จะทำให้เราสามารถเข้าสู่ หน้าข้อมูลการทำบัตรประชาชนของกรมการปกครองได้ทันที หรือ พิมพ์คำว่า เลือกตั้งผู้ว่ากทม. นักท่องเว็บไซต์ก็จะสามารถเข้าสู่หน้าhttp://203.155.220.230/gis_online/gov47/index.asp ของกทม. ทันที”
สำหรับผู้ที่เดินทางบ่อยๆ ซึ่งไม่สะดวกที่ต้องระบุเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่แน่นอน สามารถเลือกใช้บริการ “นามไทย” ได้เช่นกัน โดยสามารถติดตั้ง โปรแกรม ประตูสู่ภาษาไทย (namaThai Helper) ซึ่งเป็นโปรแกรมประเภท Browser Helper Object ที่ช่วยในการใช้ภาษาไทยในช่องใส่ชื่อเว็บไซต์ (URL) ในช่อง Address Bar บนบราวเซอร์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาในการติดตั้งโปรแกรม ประตูสู่ภาษาไทย ซึ่งมีขนาดเพียง 600 KB ดังกล่าวได้เพียงไม่ถึง 1 นาที โดยผู้ใช้สามารถหาดาวน์โหลดโปรแกรม ประตูสู่ภาษาไทย (namaThai Helper) ได้ ในเว็บไซต์ของ www.namathai.com ได้ฟรี
นอกจากนี้ บริการ“นามไทย” ยังได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับเสิร์ชเอนจิ้นยอดนิยมอย่าง “กูเกิ้ล” “ไลฟ์เสิร์ช” “ยาฮู!” และ “สนุก” เพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจว่าเมื่อพิมพ์คำไทยใดๆ ลงไป แม้อาจพิมพ์ตกหล่นไปบ้าง แต่ก็ยังจะได้ผลลัพธ์ตอบกลับมาตรงประเด็น-ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
นายไผทสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ THIA รวมถึงการพัฒนาของบริการเพิ่มเติมจาก THIA จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนและรักษาวัฒนธรรมไทย เนื่องจาก เป็นช่องทางที่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยใช้ภาษาไทยเพิ่มขึ้นทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในระดับเริ่มต้นและระดับที่มีความชำนาญ รวมไปถึงผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตมาก่อน จะสามารถเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีของบริการ THIA จะเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับบริษัทในการพัฒนา ส่งเสริมบริการแบบออนไลน์ และแพร่หลายไปสู่คนไทยทุกคนได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบัน “นามไทย” ได้เปิดให้บริการชื่อไทยกับเว็บไซต์ด้านบริการภาครัฐต่างๆ ตลอดจนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคต่างๆ องค์กรการกุศล และองค์กรสื่อสารมวลชนแล้วหลายแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ไทยรัฐ กรุงเทพธุรกิจ เป็นต้น
“ขณะนี้หาก หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคต่างๆ องค์กรการกุศล และองค์กรสื่อสารมวลชนต่างๆ มีความประสงค์ที่จะใช้บริการ ชื่อไทยเฉพาะสำหรับหน่วยงานของท่านให้ติดต่อและแจ้งความจำนงมายัง “นามไทย” เบอร์โทรศัพท์ 0-2214-4978 กด 2 “นามไทย” ยินดีที่จะให้บริการชื่อของหน่วยงานเหล่านั้น โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด และสำหรับเว็บไซต์ของธุรกิจต่างๆ “นามไทย” ก็ยังเปิดให้สามารถเข้ามาจองและจดชื่อไทยเฉพาะของท่านได้กับทางบริษัทฯ โดยจะได้รับส่วนลดพิเศษค่าบริการ และการใช้บริการฟรีจนถึงสิ้นปี 2551 นี้ โดยบริษัทคาดว่าภายในสิ้นปี 2552 จะมีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใช้บริการนามไทยไม่ต่ำกว่า 25,000 ราย ”
นายไผทสันต์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า ภาสาฯ อยากให้ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยบนอินเทอร์เน็ต แอดเดรสบาร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยที่เป็นภาษาประจำชาติ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่บ่งบอกถึงความเป็นคนไทยและประเทศไทยได้ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต เพราะมีปัญหาในเรื่องภาษาเป็นกำแพงกั้น ให้ได้เข้าไปใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจประเภทออนไลน์ให้เติบโตในประเทศไทย และสร้างสรรค์งานให้กับคนไทยเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน