เพียงแค่เดือนกันยายนเดือนเดียว ก็ได้ปรากฏหลากหลายเหตุการณ์ที่ตอกย้ำถึงความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่งต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ประกาศขายกิจการ และ/หรือจำเป็นต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากทางการสหรัฐฯ นอกจากนี้ แม้ว่า ล่าสุดในวันที่ 19 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ จะประกาศแผนให้ความช่วยเหลือภาคการเงินแบบเบ็ดเสร็จที่อาจมีมูลค่าถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ แต่เนื่องจากความสำเร็จของแผนดังกล่าวยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ จึงทำให้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ครั้งนี้อยู่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่เป็นไปได้ จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวต่อภาคการเงินไทย ดังนี้
• การระดมทุนในต่างประเทศอาจมีความยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ การลงทุนในต่างประเทศอาจได้รับแรงจูงใจลดลง สำหรับด้านการระดมทุนนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการเมืองไทย ผนวกกับปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินและนักลงทุนในตลาดการเงินโลก ได้ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของไทยในตลาดต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของ Risk Premium โดยใช้มาตรวัดจาก Credit Default Swap (CDS) ประเภทอายุ 5 ปี ของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 54.833 จุด ณ สิ้นปี 2550 มาที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 164.006 จุดในวันที่ 16 กันยายน 2551 หลังจากมีข่าวการล้มละลายของบริษัทวาณิชธนกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐฯ อย่าง Lehman Brothers ในวันที่ 15 กันยายน ขณะที่ ณ วันที่ 22 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา Risk Premium ดังกล่าว ได้ขยับลดลงมาอยู่ที่ 148.949 จุด
ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นแล้วดังกล่าว และโอกาสที่อาจยังคงขยับขึ้นอีกในอนาคต หากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ยาวนานและยืดเยื้อออกไป อาจทำให้ต้องมีการทบทวนแผนการก่อหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ รวมถึง การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศของภาคเอกชนไทยซึ่งมีค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2548-2550 จำนวนประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี (5.2 แสนล้านบาท) อันอาจส่งผลตามมาให้ทั้งทางการและภาคเอกชนไทยจำต้องหันมาเพิ่มน้ำหนักให้กับการระดมทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับด้านการลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกันจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่เพิ่มขึ้น อันอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการลงทุนให้มีความโน้มเอียงไปในลักษณะที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้น และมีนัยในเชิงลบต่อความต้องการลงทุนของนักลงทุนสถาบันในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือความต้องการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Funds: FIF) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 2550 ต่อเนื่องถึงช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับกองทุนรวม FIF ที่ได้ออกไปแล้วนั้น คาดว่าผลกระทบคงอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 72.5% ของกองทุนรวม FIF ทั้งหมดนั้น คาดว่าส่วนใหญ่มีกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอนที่ชัดเจนและไม่สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ แต่ประเด็นที่น่าติดตามและมีความท้าทาย คือ การนำเสนอกองทุนรวมใหม่ เพื่อมาทดแทนกองทุนรวม FIF เดิมที่น่าจะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวนมากในปีหน้า อันจะช่วยประคับประคองให้มูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของ บลจ.ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในต่างประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น การสรรหากองทุนใหม่เพื่อเสนอขายต่อนักลงทุนดังกล่าว ก็คงอยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการได้ไม่ยาก แต่หากสถานการณ์ในต่างประเทศยังคงมีความซับซ้อนและวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ยังยืดเยื้อออกไป บลจ.ต่างๆ คงจะเผชิญกับความท้าทายในการนำเสนอช่องทางการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ
• ตลาดตราสารหนี้อาจได้รับผลกระทบ ผ่านการปรับตัวของอัตราผลตอบแทน โดยแม้ว่าความต้องการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในสินทรัพย์สกุลเงินบาท ซึ่งรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ แต่ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จากปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากบทบาทของนักลงทุนต่างชาติในตลาดรองตราสารหนี้ไทยนั้น มีสัดส่วนเพียง 1.7% ของยอดคงค้างตราสารหนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มักถูกใช้เป็นหนึ่งในมาตรวัดสำคัญ (Benchmark) สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้น คงจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างกันสูงถึง 78% ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แม้มีโอกาสขยับขึ้น เพื่อรับข่าวปริมาณอุปทานพันธบัตรที่มีโอกาสสูงขึ้น หากแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยทางการสหรัฐฯ ผ่านการอนุมัติ และนำมาสู่การก่อหนี้เพิ่มเติมโดยรัฐบาลสหรัฐฯ แต่เมื่อข่าวดังกล่าวได้รับรู้ไปแล้ว ตลาดอาจกลับมาให้น้ำหนักกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีโอกาสทรงตัว หรือปรับตัวลดลง สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในปี 2552 และมุมมองของตลาด Interest Rate Futures ที่เริ่มโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นกับผลสัมฤทธิ์ของแผนกอบกู้ภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ตลอดจนทิศทางของเครื่องชี้เศรษฐกิจและข่าวการปรับตัวในภาคการเงินสหรัฐฯและในตลาดโลก ว่าจะออกมาน่าผิดหวังหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยนั้น มีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวผันผวนตามอัตราผลตอบแทนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนขยับลดลงได้แก่ มุมมองอัตราดอกเบี้ยขาลงในตลาดโลกและเงินเฟ้อในประเทศที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงชัดเจน ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจดีดตัวขึ้น คือ ข่าวปริมาณอุปทานพันธบัตรในประเทศ โดยเฉพาะอุปทานใหม่ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2552 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจาก 1.65 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2551 มาที่ 2.495 แสนล้านบาท และความสำเร็จของรัฐบาลในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจช่วยหนุนการคาดการณ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในประเทศ อันได้รับผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ดังกล่าว อาจเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนธุรกิจและการระดมทุนของภาคเอกชนไทยทั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
• ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ
ประการแรก การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศไทยที่อาจจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม นับตั้งแต่ข่าวเกี่ยวกับปัญหาซับไพร์มปรากฏขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/2550 ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยประสบกับแรงเทขายรุนแรงหลายครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินต่างชาติที่ประสบปัญหาทางการเงินที่ต้องการนำสภาพคล่องกลับไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะจากปริมาณการขาย/ซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขจัดผลด้านราคาแล้ว จะได้ว่า ณ วันที่ 25 กันยายน 2551 ปริมาณการซื้อสุทธิสะสมจะมีสัดส่วนประมาณ 53.1% ของระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2550 จึงทำให้ยังเหลืออีกประมาณ 46.9% (ประมาณ 261 ล้านหุ้น) ที่เผชิญความเสี่ยงจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ หากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังคงยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 7 แสนล้านบาทของทางการสหรัฐฯ ว่าจะสัมฤทธิ์ผลในการเยียวยาความเสียหายในตลาดการเงินสหรัฐฯ หรือไม่ โดยหากมาตรการดังกล่าวประสบผลสำเร็จในการรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันและบริษัทการเงินในสหรัฐฯ ในราคาที่ไม่ต่ำจนเกินไป ก็อาจทำให้สถาบัน/บริษัทการเงินดังกล่าวมีสภาพคล่อง อีกทั้งมีความจำเป็นลดลงในการเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ รวมถึงหุ้นไทย อันจะผ่อนคลายแรงกดดันในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกลงไปได้บ้าง แต่ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ผลต่อสภาพคล่องของระบบการเงินโลกอาจไม่ได้บรรเทาลงอย่างฉับพลัน เนื่องจากบทบาทการดึงดูดสภาพคล่องจากระบบการเงินโลก จะถูกเปลี่ยนมือจากภาคเอกชนสหรัฐฯ มาเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากผ่านตลาดพันธบัตร
ประการที่สอง ปริมาณเงินทุนไหลเข้ามีโอกาสชะลอลง อาทิ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนใหม่ ซึ่งอาจได้รับปัจจัยลบจากทั้งปัญหาในตลาดการเงินโลกและปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคงมีโอกาสยืดเยื้อ นอกจากนี้ ทั้งทางการและภาคเอกชนไทยยังอาจเลือกก่อหนี้ต่างประเทศลดลงด้วย หลังต้นทุนการกู้ยืมขยับตัวสูงขึ้นดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว น่าจะทำให้ปริมาณเงินทุนไหลเข้าในภาพรวม มีโอกาสปรับตัวลดลงได้ ส่งผลตามมาให้ทางการไทยอาจต้องหันมาพึ่งพิงแหล่งเงินทุนในประเทศสำหรับโครงการลงทุนต่างๆ มากขึ้น ขณะที่ ธุรกิจเอกชนอาจต้องใช้แหล่งเงินทุนจากการออกตราสารหนี้ หรือกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์แทน จนอาจมีผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย
ภายใต้สภาวะดังกล่าว สภาพคล่องของระบบการเงินไทยจึงยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ตราบใดที่วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังคงไม่ถึงจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบการเงินไทย คือ ธปท.ยังคงมีกลไกในการดูแลที่น่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจเคลื่อนไหวผันผวนได้ ผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น การ Unwind พันธบัตร ธปท. (ซึ่งในระหว่างเดือน กันยายน-ธันวาคม 2551 จะมีพันธบัตร ธปท.ประเภทอายุมากกว่า 14 วันครบกำหนดอีกประมาณ 2.9 แสนล้านบาท) รวมถึงการให้กู้ยืมเงินผ่าน Bilateral Repo เป็นต้น
• ผลกระทบต่อธุรกิจในภาคการเงินไทยอาจยังคงมีอยู่ แม้ผลกระทบจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินและบริษัทประกันชีวิตขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรณีของบริษัท Lehman Brothers และบริษัท American International Group Inc. (AIG) ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ว่าธุรกิจในภาคการเงินไทย ทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันชีวิต ก็ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของธุรกิจประกันชีวิต คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ชี้แจงว่า บริษัทประกันต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด อาทิ สัดส่วนเงินกองทุนตามกฎหมาย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุน การคำนวณผลกำไรเพื่อจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น หรือการส่งกำไรสะสมให้แก่สำนักงานใหญ่ ดังนั้น ความเสี่ยงของบริษัทประกันในประเทศไทยที่เป็นบริษัทลูกของบริษัท AIG จึงอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ส่วนในกรณีของธนาคารพาณิชย์นั้น ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เข้มงวดของ ธปท.เช่นกัน นอกจากนี้ จากการประเมินของ ธปท. พบว่า เงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยในบริษัท Lehman Brothers และการปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูกของ บริษัท Lehman Brothers มีจำนวนเพียงประมาณ 6 พันล้านบาท ขณะที่ ข้อมูลรายธนาคารชี้ว่ายังมีการลงทุนในตราสารประเภท Collateralized Debt Obligations (CDOs) อีกประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมกันแล้ว ถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก หรือเพียงประมาณ 0.19% ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น นอกจากนี้ การปล่อยกู้ให้กับบริษัท Lehman Brothers ของธนาคารพาณิชย์ไทยดังกล่าว มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มจำนวน และยังคงจัดชั้นเป็นหนี้ปกติ ส่วนการลงทุนในตราสาร CDOs นั้น มูลค่าส่วนใหญ่ได้ทำการประเมินมูลค่าตามราคาตลาด (Mark-to-Market) แล้ว ดังนั้น จึงทำให้ ณ ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์น่าจะเหลือภาระในการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่า หรือรับรู้ความเสียหายจากเงินลงทุนในบริษัท Lehman Brothers อีกเพียงบางส่วนเท่านั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าการพิจารณาข้อมูลเงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยชี้ว่า เงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมีจำนวนไม่มากนัก หรือประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมด อีกทั้งส่วนใหญ่ในจำนวนนี้น่าจะเป็นการลงทุนในตราสารที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลต่างประเทศ หรือตราสารที่มีความมั่นคงสูง แต่ประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม คือ สถาบันการเงินไทย บริษัทการเงินต่างๆ อย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ตลอดจน บริษัทเอกชนขนาดใหญ่อื่นๆ ยังเหลือการลงทุนในตราสาร หรือธุรกรรมทางการเงิน อาทิ การทำธุรกรรมสัญญาแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับสถาบัน/บริษัทการเงินต่างประเทศที่ถูกกระทบจากปัญหาซับไพร์ม รวมถึงการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินในไทย ให้กับบริษัทลูกที่ถือหุ้นโดยสถาบันการเงินเหล่านั้น ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ามีมูลค่ามากน้อยเพียงใด
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าทางการสหรัฐฯ ประกาศเจตนารมย์ที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ แต่เนื่องจากแผนการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ยังคงรอการอนุมัติจากสภาคองเกรสอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้ง ผลสัมฤทธิ์จากมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอาจต้องใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อยกว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาในภาคการเงินจะถึงจุดต่ำสุด ก่อนที่จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ในระหว่างช่วง 6 เดือนนี้ คาดว่าตลาดเงินและตลาดทุนโลก ไม่ว่าจะเป็นอัตราผลตอบแทน อัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนดัชนีตลาดหุ้น คงจะแกว่งตัวตามการเปิดเผยเครื่องชี้เศรษฐกิจและข่าวในภาคการเงินสหรัฐฯ ที่ออกมา โดยยังมีความเป็นไปได้ว่า อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ จะยังคงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาอสังหาริมทรัพย์และเครื่องชี้ในภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ที่อาจยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนอกจากจะออกมาในรูปของความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง อาจมีผลให้การส่งออกมีทิศทางที่ลดลงตามไปด้วยในปีหน้า เช่นเดียวกับ ความเสี่ยงต่อการระดมทุน การลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ธุรกิจในภาคการเงิน และสภาพคล่องในระบบการเงินที่อาจยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ช่วยคลายความกังวลสำหรับกรณีของประเทศไทยคือ ทางการไทยน่าจะมีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะความสามารถที่จะดูแลและประคับประคองเสถียรภาพในระบบการเงินไทย ผ่านกลไกการบริหารจัดการสภาพคล่องของ ธปท. และการตรวจสอบสถาบันการเงิน/บริษัทการเงินอย่างใกล้ชิดของทั้ง ธปท.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้โอกาสเกิดปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาจากความปั่นป่วนในตลาดการเงินสหรัฐฯ ในรอบนี้ น่าจะแตกต่างไปจากช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 เนื่องจากปัญหาในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเอง ขณะที่ ในรอบนี้ ประเทศไทยเป็นเพียงผู้ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและภาคการเงิน ผ่านมาตรการการเงินและการคลัง จึงยังคงมีความสำคัญ ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยนโยบายการคลังแบบขยายตัวยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ในขณะที่นโยบายการเงินคงต้องมุ่งเน้นในการดูแลปริมาณความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบ และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อสถานการณ์ในต่างประเทศคลี่คลายลง ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยก็คงจะสามารถกลับมาขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับศักยภาพของประเทศได้ตามเดิม