วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ : ผู้ส่งออกรองเท้าไทยควรขยายตลาดใหม่ๆ

รองเท้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬาและรองเท้าหนังที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่นั้น มีทั้งเป็นการรับจ้างผลิตตามคำสั่งของแบรนด์ดังจากต่างประเทศและผู้ประกอบการผลิตเพื่อส่งออกโดยตรง จึงทำให้ปัจจัยจากภายนอกประเทศส่งผลกระทบต่อธุรกิจรองเท้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางการตลาด ปัจจัยเสี่ยงทางการเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ในขณะที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ซื้อทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกอย่างชัดเจน และที่สำคัญการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อนั้นส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้านำเข้าของประเทศต่างๆ มีอัตราที่ชะลอตัวลง และจากการที่เงินสกุลบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ส่งออกรองเท้าไทยเสียเปรียบด้านศักยภาพการส่งออก จึงทำให้ธุรกิจรองเท้าเกิดการชะลอตัวลง

สำหรับในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2551 สถานการณ์โลกก็ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกรองเท้าของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางการเงินโลกที่กำลังปะทุขึ้น ทั้งวิกฤตซับไพร์มและการล้มลงของสถาบันการเงินเก่าแก่ในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกรองเท้าหลักของไทย ทำให้ผู้ประกอบการรองเท้าไทยจะต้องหาทางปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจต่อไป

การล้มลงของสถาบันการเงินเก่าแก่ของสหรัฐฯ ล่าสุด ได้แก่ บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ อิงค์ และการที่เฟดได้ทุ่มเงิน 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าอุ้มสถาบันเอไอจี นั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง และที่สำคัญสหรัฐฯ นั้นถือเป็นตลาดส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์รองเท้าจากประเทศไทย และเหตุการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย และยังอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึงการลดลงของปริมาณการค้าโลกในที่สุด นอกจากนั้น วิกฤตการณ์ดังกล่าวยังอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทั้งการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรองเท้าของไทยในหลายด้าน อันได้แก่ การหดตัวของปริมาณความต้องการในตลาดส่งออกหลักของไทย ผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก และผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออก

แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอยรุนแรงขึ้นจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว จึงน่าจะมีส่วนส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์รองเท้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภคมีความเคร่งครัดขึ้น และปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกรองเท้าหลักของไทยอีกตลาดหนึ่ง

ในช่วงแปดเดือนแรกปี 2551 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรองเท้าและส่วนประกอบ มีมูลค่า 665.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 จากที่ในปีที่แล้วในช่วงเดียวกันนี้ยังขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 7.1 โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรปมีสัดส่วนร้อยละ 38 สหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 24 และประเทศอื่นๆ มีสัดส่วนร้อยละ 38 จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกรองเท้าของไทยนั้นกระจุกตัวอยู่ที่สหภาพยุโรปและตลาดสหรัฐฯในสัดส่วนสูง เนื่องจากมีความต้องการสูงในภูมิภาคนั้น ผู้ส่งออกรองเท้าไทยจึงมีความเสี่ยงทางการตลาด และโดยเหตุที่ตลาดส่งออกในสองกลุ่มประเทศนี้เกิดภาวะหดตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็จะทำให้ยอดส่งออกรองเท้าของไทยลดลงตาม ดังจะเห็นได้จากสถิติมูลค่าการส่งออกรองเท้าโดยรวมล่าสุดในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2551 การส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่า 160.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 1.4 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ลดลงถึงร้อยละ 16.5 ในขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 มีมูลค่า 255.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 5.4 รวมทั้งตลาดส่งออกญี่ปุ่นมีมูลค่า 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 29.6 จากที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนก็หดตัวลงถึงร้อยละ 15.8 และเมื่อพิจารณารายผลิตภัณฑ์รองเท้าพบว่ารองเท้ากีฬาและรองเท้าหนังนั้นได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกรวม และยังมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือกับสภาวะการหดตัวของตลาดส่งออกหลักโดยการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดในภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น นอกจากนั้น วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ นั้นจะนำไปสู่การอ่อนค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ และอาจส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทต่อเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการส่งออกรองเท้าของไทยในด้านราคาส่งออก และยังจะส่งผลกระทบต่อผู้รับจ้างผลิตและผู้ส่งออกรองเท้าของไทยในระยะต่อไปตราบเท่าที่วิกฤตการณ์ดังกล่าวยังไม่จบสิ้นลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลกและขยายวงกว้างไปยังประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรองเท้าของไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ผ่านมาการขยายตัวของการส่งออกรองเท้าไทยโดยรวมนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้สภาวะการส่งออกรองเท้าของไทยชะลอตัวลงมากกว่าเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการรองเท้าไทยจึงควรหาทางปรับตัวด้วยการหาตลาดส่งออกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตและมีจำนวนประชากรมาก อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเชีย เป็นต้น เพื่อรองรับกับการชะลอตัวของตลาดส่งออกสหรัฐฯ และตลาดส่งออกในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกหลักอีกตลาดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินสหรัฐฯ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการรองเท้าไทยยังต้องรับมือกับความผันผวนทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจรองเท้าจึงควรเน้นการบริหารการเงินเพื่อทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงและบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อมๆ กันด้วย