ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.ปี 51: เม็ดเงินสะพัด 1,000 ล้านบาท

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2551 ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(ผู้ว่าฯ กทม.) โดยมีการใช้สโลแกนสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า “มหานครชั้นนำ ต้องการผู้บริหารชั้นยอด”

แต่ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ดูไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2547 ทั้งนี้เนื่องจากกระแสความผันผวนการเมืองระดับชาติที่เกิดขึ้น จนทำให้ต้องมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ส่งผลทำให้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ดูกร่อยลงทันที เพราะประชาชนและสื่อมวลชนต่างหันไปให้สนใจกับการเมืองระดับประเทศกันหมด

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงความน่าสนใจของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ปรากฏว่าจำนวนผู้ลงแข่งขันก็มีน้อยลงกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมีผู้ลงสมัครเพียง 16 คน เปรียบเทียบกับในปี 2547 ที่มีผู้ลงสมัคร 22 คน

นอกจากนั้น ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะพบได้ว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมและอดีตนักการเมืองสนใจลงสมัครน้อยกว่าในครั้งที่ผ่านมามาก โดยในปี 2547 มีอดีตนักการเมืองและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมลงชิงตำแหน่งมากกว่า 10 คน เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมและอดีตนักการเมืองลงชิงตำแหน่งเพียง 4-5 คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 ครั้งนี้ยังถือว่าเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากถึง 4.2 ล้านคน ขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร(กกต.กทม.)ก็ได้เตรียมเงินงบประมาณสำหรับการจัดการเลือกตั้งไว้เป็นจำนวนถึง 154 ล้านบาท เปรียบเทียบกับในปี 2547 ที่ใช้เงินงบประมาณ 120 ล้านบาท

สำหรับเงินงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งจำนวน 154 ล้านบาทจะมีผลต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนไหนถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิ หรือ “ได้รับใบแดง” และมีคำสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครรายนั้นจะต้องชดใช้เงินในการจัดการเลือกตั้งจำนวน 154 ล้านบาทด้วย

รูปแบบการหาเสียง : ใช้มืออาชีพมากขึ้น
ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 ครั้งนี้จะพบได้ว่าผู้สมัครบางรายได้เตรียมวางแผนหาเสียงมาเป็นเวลานาน โดยการเริ่มหาเสียงตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศรับสมัครด้วยซ้ำไป

นอกจากนั้นรูปแบบของการหาเสียงยังแตกต่างไปจากในอดีต เนื่องจาก กกต.กทม.ได้กำหนดรูปแบบ ขนาดและจำนวนของแผ่นป้ายหาเสียง รวมทั้งสถานที่สำหรับการติดตั้งแผ่นป้ายไว้อย่างชัดเจน ส่งผลทำให้เม็ดเงินในธุรกิจสิ่งพิมพ์แผ่นป้ายหาเสียงไม่สะพัดเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันผู้สมัครบางรายยังใช้บริษัทเอเยนซี่มืออาชีพเข้ามาช่วยในการวางแผนหาเสียงและวางแผนในการใช้สื่อต่างๆ ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และบิลบอร์ดเพื่อการประชาสัมพันธ์สร้างความสนใจและการจดจำกับประชาชนเป็นเวลานาน ส่งผลให้เม็ดเงินในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้กระจายไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ แทนที่จะไปตกกับธุรกิจการพิมพ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการหาเสียงเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา ที่ผู้สมัครส่วนใหญ่จะใช้วิธีการหาเสียงในระยะเวลาสั้นๆ หลังการสมัคร โดยมักจะเน้นวิธีการ “เคาะประตูบ้าน” ด้วยการลงพื้นที่แจกแผ่นพับเพื่อขอคะแนนเสียงจากประชาชนถึงหน้าประตูบ้าน

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า การหาเสียงเลือกตั้งยุคใหม่มีการวางแผนประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดบทบาทของผู้สมัครโดยใช้วิธีการพล็อตเรื่องเหมือนบทละครทางโทรทัศน์ มีการกำหนดระยะเวลาในการใช้สื่อต่างๆตามหลักวิชาการสื่อสารมวลชน มีการทำสำรวจคะแนนนิยมและสำรวจความพึงพอใจของประชาชน มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆช่วยในการหาเสียงมากขึ้น เช่น การแนะนำตัวผู้สมัครผ่านทางอินเตอร์เน็ต การจัดทำเว็บไซด์ของผู้สมัคร การเปิดบล็อก(Blog) สนทนาระหว่างผู้สมัครกับประชาชน และการใช้อีเมล์ส่งข้อความหาเสียงไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น

จะพบได้ว่ารูปแบบของการหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นรูปแบบใหม่ของการหาเสียงที่เข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจนในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 นี้

สำหรับ สาเหตุที่มีการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มีมากขึ้น อาจจะเนื่องมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้มากกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล
เป็นที่น่าสังเกตว่าการหาเสียงโดยใช้รถยนต์ออกไปกระจายเสียงตามท้องถนนมีจำนวนลดน้อยลง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่การใช้แผ่นป้ายหาเสียงนั้นยังเป็นที่นิยมอยู่ เนื่องจากสามารถที่จะทำให้ผู้ที่พบเห็นสามารถจดจำหมายเลขของผู้สมัครได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่เพื่อพบประชาชนยังเป็นวิธีการหาเสียงที่ได้ผลมากที่สุด เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถจะพูดคุย ได้ทักทาย และได้สัมผัสความเป็นตัวตนผู้สมัครโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดความประทับใจมากกว่าการหาเสียงรูปแบบอื่นๆ

ในส่วนของงบประมาณในการหาเสียงสำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551นั้น ทาง กกต.กทม.ได้กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละคนสามารถใช้เงินในการหาเสียงได้คนละไม่เกิน 39 ล้านบาท เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2547 ที่กำหนดให้ใช้เงินหาเสียงได้ไม่เกินคนละ 37 ล้านบาท โดยรวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่ ค่าสมัครรับเลือกตั้ง ค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการหาเสียง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโฆษณาทุกรูปแบบ ค่าสาธารณูปโภค และค่าไปรษณีย์ เป็นต้น โดยเริ่มนับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ วันที่ 29 มิถุนายน 2551 ไปจนถึงวันเลือกตั้ง

โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนจะต้องแสดงบัญชีค่าใช้จ่ายต่อ กกต.กทม. ภายในระยะเวลา 90 วัน หลังการเลือกตั้ง

การแข่งขัน : เข้มข้นในพื้นที่เขตรอบนอก
เมื่อพิจารณาถึงความเข้มข้นในการแข่งขันในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2551 จะพบได้ว่า การแข่งขันหาเสียงในเขตพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครอาจจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากผู้สมัครสามารถที่จะใช้สื่อมวลชนต่างๆเป็นสื่อกลางในการหาเสียงได้ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสื่อมวลชนได้เป็นอย่างดี และปัจจัยในการลงคะแนนเลือกตั้งมักจะขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัครและนโยบายของผู้สมัครเป็นส่วนสำคัญ

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการแข่งขันเข้มข้นมากที่สุดในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่ พื้นที่เขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร (เช่น เขตหนองจอก,เขตลาดกระบัง,เขตบางขุนเทียน,เขตคลองสามวา เป็นต้น) ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตที่มีประชากรมาก แต่พื้นที่ของเขตมีขนาดใหญ่ ความหนาแน่นของประชากรมีน้อย การหาคะแนนเสียงของผู้สมัครแบบเคาะประตูบ้านทำได้ยากลำบากมาก

ดังนั้นการหาเสียงจึงจำเป็นต้องใช้ระบบหัวคะแนนเพื่อเจาะพื้นที่เป้าหมาย โดยอาจจะมีการใช้อิทธิพลของกรรมการหมู่บ้าน ผู้กว้างขวางในท้องถิ่น หัวหน้าวินมอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง เจ้าของโรงงาน และเจ้าของตลาดสด เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงคะแนนเสียง เช่นเดียวกับในพื้นที่ชุมชนแออัดในเมืองที่มักจะมีหัวคะแนนหรือหัวหน้าชุมชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหาเสียงให้กับผู้สมัคร

สำหรับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 ครั้งนี้มีทั้งสิ้น 4,259,197 คน จำนวนบ้านทั้งสิ้น 2.2 ล้านหลังคาเรือน และมีหน่วยเลือกตั้ง 6,337 หน่วยทั่วกรุงเทพมหานคร

เม็ดเงินสะพัด 1,000 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาถึงเม็ดเงินในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2551 ครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 1,000 ล้านบาท (รวมเงินการจัดการเลือกตั้ง 154 ล้านบาท) ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับศึกชิงผู้ว่า กทม.ในปี 2547

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเม็ดเงินที่สะพัดในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2551 จาก 3 ลักษณะ ดังนี้
1.เม็ดเงินหาเสียงแบบเจาะลึก คาดว่า
จะมีเม็ดเงินในการหาเสียงแบบเจาะลึกประมาณ 500-600 ล้านบาท โดยคาดว่าเม็ดเงินจะสะพัดในพื้นที่เขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ชุมชนแออัด โดยเม็ดเงินส่วนนี้จะกระจายผ่านทางหัวคะแนน หัวหน้าวินมอเตอร์ไซด์ หัวหน้าชุมชน กรรมการหมู่บ้าน และสายจัดตั้งในโรงงานต่างๆ เป็นต้น

2.เม็ดเงินหาเสียงทางตรง คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 200 ล้านบาท โดยจำแนกเป็นเงินค่าใช้จ่ายสำหรับ ค่าทำป้ายหาเสียง ค่าติดตั้งแผ่นป้าย ค่าแผ่นพับ ค่าเช่าบิลบอร์ด ค่าเช่ารถหาเสียง ค่าเครื่องเสียง ค่าแต่งเพลง ค่าห้องบันทึกเสียง ค่าออกแบบและค่าพิมพ์เอกสาร ค่าดอกไม้และพวงมาลัย ค่าจ้างทีมงานแจกเอกสาร ค่าโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ค่าโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ค่าโฆษณาทางสถานีวิทยุ และค่าจ้างวางแผนลงสื่อโฆษณา เป็นต้น

3.เม็ดเงินหาเสียงล่วงหน้า คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 100-200 ล้านบาท โดยประเมินจากค่าใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนการรับสมัคร ได้แก่ ค่าจัดทำแบบสำรวจต่างๆ เงินค่าจองโฆษณาในสื่อต่างๆ ค่าจองบิลบอร์ด ค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยง ค่าการกุศลต่างๆ ค่าการพาประชาชนไปทัศนะศึกษาต่างจังหวัด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2551 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอเชิญชวนชาวกรุงเทพฯทุกท่านไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกัน