ในระยะที่ผ่านมาการส่งออกรถยนต์ของไทยมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดรถยนต์ในประเทศกลับหดตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549 – 2550) และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 นี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศก็ขยายตัวไม่มากนักเพียงร้อยละ 3.9 เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์พึ่งการส่งออกมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงย่อมส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงปีหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่จะมีผลถึงแนวโน้มการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
สถานการณ์การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของไทยในปัจจุบัน
จากตัวเลขทางสถิติพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 ไทยผลิตรถยนต์ได้ 944,893 คัน ขยายตัวร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้พบว่าเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกจำนวนถึง 529,530 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 56.0 ของยอดการผลิตทั้งหมด ในขณะที่ไทยผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 415,363 คัน คิดเป็นร้อยละ 44.0 ของยอดการผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 พบว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยมีจำนวน 526,518 คัน ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ประมาณร้อยละ 22.8 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น ประมาณ 6,104 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 19.3 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ทั้งนี้เฉพาะเดือนสิงหาคมไทยได้ส่งออกรถยนต์เป็นจำนวน 69,404 คัน ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 969.77 เหรียญสหรัฐฯขยายตัวถึงร้อยละ 48.3 จากปีก่อน
ส่วนประเภทของรถยนต์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ รถยนต์นั่ง ซึ่งแซงหน้ารถแวนและรถปิกอัพขึ้นมาในปี 2550 โดยมีมูลค่าการส่งออก 3,209.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 46.5 จากช่วงเดียวกันในปี 2550 รองลงมาคือ รถแวนและรถปิกอัพ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 2,344.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงถึงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 16.5 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นหลัก ส่วนการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกของไทยมีมูลค่าการส่งออก 549.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 19.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้มีมูลค่าน้อยกว่ากลุ่มอื่น แต่มีการเติบโตค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะผลิตรถยนต์เพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออกมาก แต่ปัจจุบันไทยก็ยังมีการนำเข้ารถยนต์บางส่วนมาจากต่างประเทศ โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ไทยนำเข้ารถยนต์รวมมูลค่า 627.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 56.8 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นการนำเข้ารถยนต์โดยสาร รถบรรทุก และรถยนต์นั่ง ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะสินค้ารถยนต์เกินดุลเป็นมูลค่าถึง 5,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แม้ตลาดในประเทศจะขยายตัวเล็กน้อย แต่ตลาดส่งออกไทยขยายตัวดี
แม้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ไทยโดยเฉพาะรถปิคอัพขนาด 1 ตัน จะเผชิญกับปัญหาหลายด้านทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาราคาน้ำมันแพง จนทำให้ยอดขายรถปิคอัพ 8 เดือนที่ผ่านมาชะลอตัวลงมากถึงร้อยละ 8.7 ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศมีการขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเดิมไปมาก แต่ในส่วนภาคการส่งออกของไทยจะเห็นว่ามีการขยายตัวดีในเกือบทุกประเภทรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจัยที่สนับสนุนยอดการส่งออกดังกล่าว นอกจากผลที่เกิดขึ้นจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงการขยายการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกของบริษัทรถยนต์หลายแห่งแล้ว ยังมาจากปัจจัยด้านอื่น เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้ส่งผลให้ผู้ซื้อหันมานิยมรถยนต์ขนาดเล็กลง และตรงกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกรถยนต์นั่งของไทยสำหรับ 20 ประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวในระดับตัวเลข 2 หลักเป็นอย่างต่ำเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิรัก เป็นต้น มีรายได้จากน้ำมันเพิ่มมากขึ้น จึงมีการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นการเพิ่มความนิยมในรถยนต์นั่งขนาดเล็ก แทนรถปิกอัพที่เคยขยายตัวมากในปีก่อนๆ ส่วนรถบัสและรถบรรทุกก็มีการขยายตัวดีในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเช่นกัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและระบบสาธารณูปโภคขึ้นในประเทศเหล่านี้มาก
การส่งออกไปตลาดใหม่ที่เพิ่มสูงมากก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันยอดการส่งออกรถยนต์ของไทย โดยการส่งออกรถยนต์นั่งมีการขยายตัวสูงในประเทศเปรู (ร้อยละ 3,645.6) โคลัมเบีย (ร้อยละ 2,155.2) และอิรัก (ร้อยละ 1,961.1) ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ก้าวขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 15 ประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์นั่งมากที่สุด ส่วนรถแวนและรถปิกอัพนั้นแม้โดยรวมแล้วตลาดส่งออกจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ก็มีบางประเทศที่มีการขยายตัวสูง เช่น คอสตาริกา (ร้อยละ 154.31) มาเลเซีย (ร้อยละ 100.15) และฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 80.81) ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศที่ไทยส่งออกรถแวนและรถปิกอัพมากที่สุด ส่วนตลาดรถบัสและรถบรรทุก มีการขยายตัวสูงในประเทศซีเรีย (ร้อยละ 395.4) กัมพูชา (ร้อยละ 299) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 238.1) ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ติดอันดับ 1 ใน 15 ประเทศที่ไทยส่งออกรถบัสและรถบรรทุกมากที่สุด
อย่างไรก็ตามจากราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในหลายภูมิภาค ขณะที่ปัญหาในภาคการเงินสหรัฐที่ส่งผลรุนแรงและลุกลามออกไปยังภูมิภาคอื่นในขณะนี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอตัวมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มชั้นนำของโลกจะยังไม่สามารถฟื้นตัวในระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยมากยิ่งขึ้นในระยะต่อๆไป โดยมีสัญญาณปรากฏให้เห็นจากอัตราการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ไทยเฉพาะเดือนสิงหาคม 2551 ที่ชะลอลงมากเหลือเพียงร้อยละ 5.7 ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีอัตราการขยายตัวดีอยู่ในระดับตัวเลข 2 หลักมาตลอดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตรถรายใหญ่ของโลกอย่างโตโยต้าได้ออกมาประกาศวางแผนจะลดการผลิตในจีนลงถึงร้อยละ 10 เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ โดยขณะนี้ได้ลดการผลิตรุ่นยาริสไปแล้ว ไม่เพียงแต่ประเทศจีนเท่านั้น ก่อนหน้านี้โตโยต้าได้ลดการผลิตลงไปแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และโปแลนด์ เป็นต้น และเฉพาะเดือนสิงหาคมโตโยต้าได้ลดการผลิตทั่วโลกลงไปถึงประมาณร้อยละ 15.5
อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถยนต์ที่เติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากรถยนต์นั่งน่าจะส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์โดยรวมตลอดทั้งปี 2551 นี้ ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดการส่งออกรถยนต์ของไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2550 หรือประมาณ 787,000 คัน ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้เข้าประเทศรวมเป็นมูลค่าประมาณ 9,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 17 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลง เนื่องมาจากผลของวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนมากในปีนี้
ทิศทางการส่งออกรถยนต์ปีหน้าอาจไม่สดใส…เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ผันผวนยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญ
ปัจจุบันปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกค่อยๆทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน และจะส่งผลกระทบตามมาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ ซึ่งจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยรวมถึงเป็นปัจจัยในการผลิตอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ตกลงในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯซึ่ง 3 บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯอย่างบิ๊กทรี ซึ่งประกอบไปด้วย เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ฟอร์ด มอเตอร์ และไครสเลอร์ กำลังประสบกับภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ตกลงมาก นอกจากนี้ค่ายรถญี่ปุ่นเองก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นกันโดยยอดผลิตทั่วโลกในเดือนสิงหาคมต่างตกลงเช่นเดียวกัน
ปัญหาวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯนั้นเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงทิศทางที่จะขยายความรุนแรงไปยังภูมิภาคอื่นๆไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น หรือ สหภาพยุโรป เป็นต้น และปัญหาดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ยังคงชะลอตัวลงไปจนถึงช่วงไตรมาส 2 ของปี 2552 โดยคาดว่ายังคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่เศรษฐกิจของหลายประเทศจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงนี้ได้ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2552 ซึ่งผลดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของโลกในปี 2552 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าปีนี้ โดยคาดว่าประเทศผู้นำเข้ารถยนต์หลักของไทยไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย กลุ่มประเทศอาเซียน และในตะวันออกกลางก็น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม สภาวะการเงินที่อาจตึงตัวจะส่งผลต่อเนื่องไปยังแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มผันผวนอยู่ในช่วงปีหน้า โดยค่าเงินดอลลาร์ฯสหรัฐที่มีความผันผวนสูงและมีโอกาสอ่อนค่าลงในระยะต่อไปนี้จะมีผลทำให้มีการหันไปเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน และทองคำ มากขึ้น ปัจจัยข้างต้นอาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคและการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ทำให้คาดว่าตลาดการส่งออกรถยนต์ของไทยในปีหน้าน่าจะไม่สดใสนักจากที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2552 อาจจะมีอัตราการขยายตัวชะลอลงกว่าปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8 หรือคิดเป็นจำนวนคันประมาณ850,000 คัน ซึ่งจะส่งผลทำให้มีรายได้เข้าประเทศรวมเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นการขยายตัวประมาณร้อยละ 9.9 อย่างไรก็ตามการส่งออกรถยนต์ของไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก ซึ่งหากมาตรการทางการเงินของสหรัฐฯที่ออกมาสามารถช่วยลดปัญหาวิกฤติทางการเงินของสหรัฐฯได้ ก็น่าจะเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาและช่วยลดความรุนแรงของปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยสรุป อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งออก กำลังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาคที่อาจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงจากผลของวิกฤติในภาคการเงินสหรัฐฯที่ลุกลามไปสู่ภูมิภาคอื่นๆในวงกว้าง และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มผันผวนต่อไปจนถึงปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2552 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 8 ชะลอลงกว่าปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 14 ขณะที่มูลค่าการส่งออกอาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.9 ชะลอลงกว่าปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 17 ซึ่งผลดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ระยะที่ 2 (ปี 2550 – 2554) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตรถยนต์เป็น 2 ล้านคันต่อปีให้ได้ภายในปี 2554
ในส่วนของผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯซึ่งมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนปัจจัยการผลิตบางตัว เช่น น้ำมัน และราคาเหล็ก ที่อาจจะมีทิศทางที่ผันผวน เป็นต้น ผู้ประกอบการจึงควรหาแนวทางในควบคุมต้นทุน เช่น การทำประกันอัตราแลกเปลี่ยน และติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและเหล็กในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆที่ไทยไปทำข้อตกลงร่วมด้วย โดยการพยายามผลักดันให้เกิดการค้ากับประเทศเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อกระจายการส่งออก
อย่างไรก็ตามแม้จะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้ แต่ก็ยังมีปัญหามาตรการกีดกันการนำเข้าที่ไม่ใช่ภาษีจากประเทศผู้นำเข้าที่ไทยทำข้อตกลงร่วมด้วย เช่น เกณฑ์มาตรฐานการนำเข้าของออสเตรเลีย โดยกองตรวจและกักกันโรคแห่งประเทศออสเตรเลีย (Australian Quarantine and Inspection Service (AQIS)) ซึ่งรถยนต์นำเข้าจากไทยเคยถูกกล่าวอ้างว่ามีปัญหาเรื่องเศษหญ้าและเกสรดอกไม้ติดไปกับรถยนต์ขณะเคลื่อนย้าย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการทำความสะอาดก่อนนำเข้าประเทศ และสร้างปัญหากับการส่งรถยนต์ไปออสเตรเลียในล็อตต่อๆมาด้วย ซึ่งทางประเทศมาเลเซียก็เช่นกัน แม้ปัจจุบันจะยอมลดภาษีให้รถนำเข้าจากไทยตามข้อตกลงในอาฟต้าแล้ว แต่ก็ยังมีมาตรการกีดกันอื่นตามออกมา เช่น มาตรการบังคับเพิ่มเติมให้ผู้นำเข้ารถยนต์ต้องยื่นขออนุมัติการนำเข้าให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งในขั้นตอนนี้ทำให้เกิดความล่าช้ามากในการนำเข้า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลไทยควรเข้าไปมีส่วนในการเจรจาผลักดันให้ประเทศเหล่านี้ยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก รวมถึงลดปัญหาในขั้นตอนต่างๆของการส่งออกรถยนต์ไทย
นอกจากนี้ จากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นได้มากนัก ในระยะยาวจึงควรหาวิธีการที่จะลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว โดยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีในการผลิต การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารวมถึงตรวจสอบคุณภาพในประเทศ การสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบในประเทศ โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯให้มีทักษะความชำนาญที่สูงขึ้นเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิผลในการผลิตสูงสุด
สำหรับบทบาทของรัฐบาลไทยนั้น การวางแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ร่วมกับการวางแผนการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาว โดยคำนึงถึงอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมทั้งระบบ เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์พลังงานร่วมที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีร่วมกับน้ำมัน รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 เป็นต้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเดินหน้าโครงการต่างๆต่อไปได้ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อมูลค่าการส่งออกทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต